posttoday

หนี้ครัวเรือนพุ่ง สะท้อนประชานิยม

06 เมษายน 2556

ดอกผลประชานิยมเพื่อไทย รวยสุดโต่งจนดักดาน

ดอกผลประชานิยมเพื่อไทย รวยสุดโต่งจนดักดาน

การลดความยากจนของคนไทยเป็นนโยบายของทุกพรรคการเมือง ที่ต้องใช้ห้ำหั่นกันในการหาเสียงและเป็นที่มาของนโยบายประชานิยมต่างๆ ที่ล้วนมุ่งไปให้กับกลุ่มรากหญ้า ซึ่งเป็นกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศ

รัฐบาลเพื่อไทย ถือเป็นรัฐบาลที่ชนะการเลือกตั้งมาจากนโยบายประชานิยมที่โดนใจชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท เงินเดือนเริ่มต้นของผู้จบปริญญาตรี 1.5 หมื่นบาท การรับจำนำข้าวทุกเมล็ดตันละ 1.5 หมื่นบาท บัตรเครดิตเกษตรกร เป็นต้น

หนี้ครัวเรือนพุ่ง สะท้อนประชานิยม

แต่ผลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ปี 2555 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุว่า ความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยและคนจนมีเพิ่มขึ้น คำนวณออกมาจากค่าใช้จ่ายในการอุปโภคบริโภคต่อคนต่อเดือนของคนรวย 20% แรกของประเทศ สูงกว่าค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภคของคนจน 20% แรกของประเทศ 7 เท่า เทียบกับปี 2554 ที่ห่างกัน 6.3 เท่า

วิบูลย์ทัต สุทันธนกิตติ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสถิติแห่งชาติ กล่าวว่า กลุ่มคนรวย 20% บนสุดของประเทศ มีรายจ่ายอุปโภคบริโภคต่อคนต่อเดือนเพิ่มจาก 12,109 บาท ในปี 2554 เป็น 13,867 บาท เพิ่มขึ้น 0.7% ส่วนคนจน 20% ล่างสุดของประเทศมีรายจ่ายเพิ่มจาก 1,930 บาท ในปี 2554 เป็น 1,985 บาท หรือเพิ่มขึ้น 0.5%

ขณะที่กลุ่มคนชั้นกลาง 3 กลุ่ม พบว่ารายจ่ายอุปโภคบริโภคต่อคนต่อเดือนที่อยู่ที่ 2,9835,829 บาท ในปี 2554 เพิ่มเป็น 3,1446,569 บาท ในปี 2555 หรือน้อยกว่ากลุ่มคนรวย 26 เท่า สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของกลุ่มคนรวย กลุ่มคนชั้นกลาง และคนจนอย่างชัดเจน
ครัวเรือนไทยทั่วประเทศมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 18,766 บาทต่อเดือน ค่าใช้จ่าย 34.1% เป็นค่าใช้จ่ายอาหารและเครื่องดื่ม รองลงมาเป็นค่าที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ในบ้าน 20% ค่าใช้จ่ายเดินทางและยานพาหนะ 19.3% ของใช้ส่วนบุคคล 5.4% ค่าสื่อสาร 3.1%

ส่วนค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับบริโภค เช่น ค่าภาษี ของขวัญ เบี้ยประกันภัย ซื้อหวยและสลากกินแบ่งรัฐบาล และดอกเบี้ยคิดเป็นสัดส่วน 11.7%

หนี้ครัวเรือนพุ่ง สะท้อนประชานิยม

นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า เศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น คนที่ได้ประโยชน์สูงสุด คือ กลุ่มคนรวย เช่น ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น คนรวยเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์ ส่วนคนจนแม้จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจที่เติบโตแต่น้อยกว่าคนรวย ส่งผลให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มมากขึ้น

แม้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะมีนโยบายเพิ่มรายได้ให้คนมีรายได้น้อยและเกษตรกร เช่น การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ โครงการรับจำนำข้าวเปลือกที่ราคา 1.5 หมื่นบาทต่อตัน ซึ่งเป็นนโยบายที่ทำให้คนจนมีรายได้และมีการจับจ่ายใช้สอบเพิ่มขึ้นก็จริง แต่นโยบายรัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญกับการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ เมื่อพิจารณานโยบายต่างๆ ของรัฐบาลพบว่าเป็นนโยบายที่คนรวยได้ประโยชน์ เช่น การลดภาษีบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล การให้สิทธิคนรวยในการหักลดหย่อนภาษีต่างๆ ส่วนกลไกด้านภาษีที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำรายได้ จะเห็นได้ว่ารัฐบาลแทบไม่แตะเลย

หนี้ครัวเรือนพุ่ง สะท้อนประชานิยม

“โครงการรับจำนำข้าวมีผลวิจัยระบุชัดว่าคนที่ได้ประโยชน์มากที่สุด เป็นชาวนาที่ร่ำรวยและชาวนาชั้นกลางที่มีที่ดินมาก โดยเฉพาะชาวนาภาคกลางที่เข้าถึงระบบชลประทานและปลูกข้าวได้หลายรอบ ส่วนชาวนายากจนที่มีที่นา 1015 ไร่ แน่นอนว่ามีรายได้เพิ่มขึ้น แต่น้อยกว่าชาวนาที่ร่ำรวย

ส่วนคำกล่าวของนายกฯ ที่ระบุว่า “การลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูง เป็นเครื่องมือที่ทำให้คนไทยมีโอกาสอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำอย่างแท้จริง” นวลน้อย ให้ความเห็นว่า กลุ่มคนรวยยังคงเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์สูงสุดเช่นเดิม เพราะเป็นกลุ่มที่มีโอกาสในการคตักตวงและเข้าถึงประโยชน์ที่จะได้จากการลงทุนมากที่สุด เช่น การเพิ่มของที่ดินที่รถไฟความเร็วสูงหรือรถไฟทางคู่ และถนนตัดผ่าน

“การพัฒนาระบบราง แน่นอนว่าช่วยลดต้นทุนการขนส่งประเทศ แต่ถามว่าคนที่ตักตวงผลประโยชน์เหล่านี้เป็นใคร ซึ่งไม่ใช่คนจนแน่นอน แต่เป็นกลุ่มคนรวย นักการเมือง คนรวยในหัวเมืองที่จะได้รับอานิสงส์แบบ “ส้มหล่น” เพราะรู้ข้อมูลวงในและเข้าไปซื้อที่ดินที่โครงการลงทุนพาดผ่าน” นวลน้อย กล่าว

สำหรับตัวเลขช่องว่างคนรวยคนจนจะยังห่างอยู่ต่อไป ตราบใดที่ยังไม่มีรัฐบาลไหนสนใจแก้ไขอย่างจริงจัง