posttoday

ญี่ปุ่นนำร่อง ลุยใช้หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงวัย

24 สิงหาคม 2560

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ในญี่ปุ่นนับเป็นก้าวแรกๆ ในการปูทางสู่การนำหุ่นยนต์ไปใช้งานอย่างจริงจังในวงกว้าง

โดย...นรินรัตน์ พรหมพิทักษ์

ข่าวการใช้หุ่นยนต์ “เป๊ปเปอร์” ของบริษัทซอฟต์แบงก์ ทำหน้าที่สวดศพแทนพระในญี่ปุ่น เพื่อเป็นทางเลือกในการประกอบพิธีศพให้แก่บรรดาผู้วายชนม์ นับเป็นสัญญาณสะท้อนให้เห็นว่า หุ่นยนต์กำลังขยับเข้ามามีบทบาทใกล้ชิดกับชีวิตมนุษย์มากขึ้นทุกที ท่ามกลางสังคมผู้สูงอายุที่ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้หลายประเทศเริ่มเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

วิกฤตขาดแรงงานในญี่ปุ่นสร้างผลกระทบไปทั่วทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ โดยธุรกิจให้บริการดูแลผู้สูงอายุในญี่ปุ่นคาดว่าจะขาดแคลนคนถึงประมาณ 3.8 แสนคน ภายในปี 2025

สถานการณ์เช่นนี้ทำให้บ้านพักและศูนย์ดูแลคนชราหลายแห่งเริ่มนำหุ่นยนต์มาใช้ดูแลผู้สูงอายุ เช่น ชินโทมิ เรสต์ โฮม บ้านพักคนชราใจกลางกรุงโตเกียว ที่ใช้เป๊ปเปอร์จัดกิจกรรมสันทนาการ พูดคุย และสร้างความเพลิดเพลินให้แก่บรรดาผู้สูงวัย

เป๊ปเปอร์ ถือเป็น Emotional Robot หรือหุ่นยนต์ที่มีรูปลักษณ์คล้ายมนุษย์และแสดงอารมณ์ความรู้สึกได้ โดยเป๊ปเปอร์สามารถใช้เซ็นเซอร์กว่าหลายร้อยตัว อ่านอารมณ์ ระบุเพศและอายุ เพื่อชวนเหล่าคนสูงวัยพูดคุยเรื่องต่างๆ ทั่วไป รวมถึงยังทำหน้าที่ผู้ช่วยแพทย์ในการเก็บรวบรวมข้อมูลสุขภาพ และอธิบายข้อมูลดังกล่าวให้คนชราในบ้านพัก

 

ญี่ปุ่นนำร่อง ลุยใช้หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงวัย

นอกจากเป๊ปเปอร์แล้ว ยังมีการนำหุ่นยนต์ พัลโร ที่ผลิตโดยบริษัท ฟูจิซอฟต์มาใช้งานในการช่วยทำกายภาพบำบัด และคอยดูแลสภาพแวดล้อมในบ้านด้วยเช่นกัน

การใช้เทคโนโลยีมาทดแทนแรงงานคน ไม่ได้มีแค่เพียงการนำหุ่นยนต์มาใช้ดูแลผู้สูงอายุโดยตรงเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการเอาระบบหุ่นยนต์มาประยุกต์ใช้เพื่อให้ผู้สูงอายุใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้น เช่น การผลิตเครื่องช่วยเดินที่ทำให้ผู้สูงอายุสามารถเดินผ่านพื้นที่ขรุขระได้ แขนกลพิเศษที่ช่วยในการทรงตัวหรือเพิ่มความแข็งแรงให้ผู้สวมใส่และช่วยในการยกของ รวมถึงการปรับรูปแบบเตียงให้กลายเป็นวีลแชร์ไฟฟ้าเพื่อเพิ่มความสะดวกในการเคลื่อนที่

สำหรับในญี่ปุ่นนั้น ความเคลื่อนไหวดังกล่าวนับเป็นก้าวแรกๆ ในการปูทางสู่การนำหุ่นยนต์ไปใช้งานอย่างจริงจังในวงกว้างขึ้น หลังรัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มให้เงินอุดหนุนบรรดาบ้านพักและศูนย์ดูแลคนชราที่นำหุ่นยนต์มาใช้งานนับตั้งแต่ปี 2013 รวมถึงมีนโยบายผลักดันการพัฒนาหุ่นยนต์สำหรับดูแลคนสูงวัยโดยเฉพาะ โดยกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น คาดการณ์ว่า ตลาดหุ่นยนต์สำหรับดูแลคนสูงวัย จะขยายตัวขึ้น 25 เท่า ไปมีมูลค่าถึง 3,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.22 แสนล้านบาท) ภายในปี 2035 และจะมีการนำไปใช้งานในบ้านพักคนชรากว่า 600 แห่งทั่วญี่ปุ่น