posttoday

แลกหมัดต่อหมัด ยักษ์อี-คอมเมิร์ซจีน แห่ชิงปักธงในไทย

17 สิงหาคม 2560

ประเทศไทยกลายเป็นที่ต้องการของ 2 ยักษ์ใหญ่อี-คอมเมิร์ซจากจีนอย่างอาลีบาบา และเจดีดอทคอม

โดย...ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ

มูลค่าการเติบโตด้านอี-คอมเมิร์ซของไทยที่เพิ่มขึ้น 10% ต่อเนื่องมาทุกปี ใครจะคาดคิดว่าประเทศไทยจะกลายเป็นที่ต้องการของ 2 ยักษ์ใหญ่อี-คอมเมิร์ซจากจีนอย่างอาลีบาบา (Alibaba) และเจดีดอทคอม (jd.com) ซึ่งการเข้ามาวางรากฐานของทั้งสองยักษ์ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจอย่างเดียว แต่เพื่อวางไทยเป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าและบริการออกสู่ประเทศอื่นๆ ในเอเชียด้วย

แม้ว่าอาลีบาบาจะเข้ามาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการไทยก่อนหลายปี ผ่านทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อดึงดูดธุรกิจเข้าไปขายสินค้าในช่องทางของตน แต่เจดีดอทคอมก็เดินหน้ากลยุทธ์ไม่ต่างกันที่เข้ามาเพื่อจับมือกับกระทรวงพาณิชย์และศูนย์สร้างโอกาสธุรกิจไทยสู่จีน หรือ TSTC เพื่อเชื่อมโยงระหว่างโลกออนไลน์และออฟไลน์

ยงค์กิจ ธรรมพัฒนาภรณ์ กรรมการบริหาร ศูนย์สร้างโอกาสธุรกิจไทยสู่จีน หรือ TSTC กล่าวว่า ได้ร่วมมือกับทางเจดีดอทคอมในรูปแบบของการนำสินค้าไทยที่ขายแบบหน้าร้านไปไว้ในระบบออนไลน์ เพื่อให้ลูกค้าชาวจีนสามารถหาซื้อได้สะดวกรวดเร็ว

ทั้งนี้ ทางบริษัทได้จัดทำศูนย์สร้างโอกาสธุรกิจไทยสู่จีนเพื่อให้ผู้ประกอบการธุรกิจของไทย นำตัวอย่างสินค้าไปเป็นตัวอย่างในจีน เมื่อลูกค้าสนใจก็สแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อสั่งซื้อ และล่าสุดได้เพิ่มโอกาสในการขายด้วยการเปิดให้ผู้ที่เข้ามาชมสามารถสั่งซื้อสินค้าได้ทันที เพื่อขยายโอกาสทางการขายทั้งสองช่องทาง

ด้านตัวแทนจากเจดีดอทคอม จั่วยู่เจี๋ย ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายสินค้านำเข้า บริษัท จิงตงที่เข้ามาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการของไทยกล่าวว่า การดึงผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ช่องทางอี-คอมเมิร์ซนั้น จะช่วยให้ลูกค้ารู้สึกถึงความปลอดภัย เพราะสินค้าจะได้รับมาตรฐานทางการรับรองจากภาครัฐแล้ว ต้นทุนในการขนส่งสินค้าก็สะดวกกว่า และภาษีสำหรับการนำเข้าก็ไม่แพง

อี-คอมเมิร์ซของไทยที่เจดีมองว่าเป็นโอกาสนั้น เพราะการใช้งานอินเทอร์เน็ตและผู้ใช้งานอี-คอมเมิร์ซของไทยมีทิศทางการเติบโตที่ดี มีการใช้จ่ายออนไลน์จากปี 2559 อยู่ที่ 7,420 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2560 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 21.7% และภายในปี 2564 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก 24.5%

สำหรับสินค้าที่คนจีนต้องการส่วนใหญ่3 อันดับแรก คือ เครื่องสำอาง อาหารและเครื่องดื่ม และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ เพราะหลายสินค้ามีคุณภาพที่ดีตรงกับความต้องการ และการพัฒนาผลิตภัณฑ์หลายอย่างก็ตรงกับตลาดเอเชียที่มีคุณลักษณะทางกายภาพและวัฒนธรรมที่คล้ายคลึงกัน

ขณะที่ตลาดอี-คอมเมิร์ซของจีนเอง ยังคงมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมีกว่า 688 ล้านราย เป็นนักช็อปออนไลน์ 448 ล้านคน และการใช้จ่ายกว่า 70% ยังเป็นการโอนเงินผ่านมือถือแสดงให้เห็นว่าการเติบโตในอี-คอมเมิร์ซไทยสามารถโตได้อีกมาก

วรวุฒิ อุ่นใจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ออฟฟิศเมท กล่าวว่า โลกของเรากำลังหมุนเวียนไปอย่างรวดเร็ว การแข่งขันทางธุรกิจบนโลกไซเบอร์ถือว่าเป็นสงครามทางการค้าประเภทหนึ่ง ในฝั่งยุโรปเองมีแพลตฟอร์มทางการค้าอย่างอเมซอน ฝั่งเอเชียเองก็มีทั้งอาลีบาบา และเจดี ซึ่งไทยเป็นประเทศเล็กๆ แม้จะมีโอกาสเติบโตด้านอี-คอมเมิร์ซ แต่ก็ต้องอยู่ท่ามกลางการแข่งขัน

“สิ่งที่ธุรกิจไทยต้องทำคือปรับตัวตามยุคสมัยให้ได้ ไม่ว่าจะเลือกช่องทางการขายฝั่งใดก็ต้องอยู่รอดให้ได้ ธุรกิจรายเล็กย่อมน่าเป็นห่วงกว่ารายใหญ่ ซึ่งรัฐก็ต้องหาวิธีการเจรจากับรายใหญ่เหล่านี้ ไม่ให้ธุรกิจภายในประเทศเสียเปรียบในการแข่งขันระดับโลก”วรวุฒิ กล่าว

ปัจจุบันรูปแบบของอี-คอมเมิร์ซ ประกอบไปด้วย อี-เพย์เมนต์, อี-บิซิเนส, อี-โลจิสติกส์, อี-ดาต้า ซึ่งการนำทั้ง 4 อย่างนี้มาเชื่อมโยงกันให้เกิดประโยชน์ ธุรกิจเองต้องพร้อมวางแผนให้ดี จะขาดด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้ เพราะการทำงานร่วมกันของ 4 อี จะช่วยให้ธุรกิจแบบเดิมมีโอกาสโตในอนาคตได้

เช่นเดียวกับ ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ TARAD.com กล่าวว่า ในแง่ของธุรกิจ ตลาดดอทคอมกำลังจะมีการประกาศกลยุทธ์ใหม่ เพราะธุรกิจต้องมีการปรับตัวไม่ว่ายักษ์ใหญ่อี-คอมเมิร์ซรายใดจะเข้ามาธุรกิจออนไลน์ของไทยเองก็ต้องอยู่ให้ได้

การเข้ามาทำตลาดในไทยของเจดีดอทคอมนั้น ก็น่ากังวลไม่แพ้กัน ก่อนหน้านี้ที่อาลีบาบาเข้ามาไทยก็จะเห็นความร่วมมือใหญ่ๆ จำนวนมากร่วมกับภาครัฐและเอกชน ซึ่งหลังจากมีข่าวลือว่าเจดีดอทคอมวางกลยุทธ์ว่าจะใช้ไทยเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมตลาดอี-คอมเมิร์ซ แสดงว่าต้องมีการลงทุนใหญ่ๆ แน่นอน

“ผมเพิ่งทราบว่าจะมีการเข้ามาเปิดออฟฟิศที่ไทยภายในปีนี้ ต้องรอดูว่าจะออกมาเป็นรูปแบบใด” ภาวุธ กล่าว

ภาวุธ ทิ้งท้ายไว้ให้คิดคือ ไม่ว่ายักษ์ใหญ่รายใดจะเข้ามา สิ่งที่จะเสียเปรียบคือผู้ประกอบในไทยนั่นเอง ดังนั้นสิ่งที่ต้องธุรกิจไทยต้องเลือกคือจะปรับตัวให้ทันต่อเทคโนโลยีหรือเลิกกิจการไปเลย เพราะรายใหญ่ที่เข้ามาแย่งกัน ย่อมไม่มีใครยอมใครแน่นอน