posttoday

กสทช.ถอยเน็ตชายขอบ

10 สิงหาคม 2560

กสทช.นัดถกบอร์ดนัดพิเศษหาทางออกพร้อมชี้แจง หลัง สตง.เบรกโครงการเน็ตชายขอบ

กสทช.นัดถกบอร์ดนัดพิเศษหาทางออกพร้อมชี้แจง หลัง สตง.เบรกโครงการเน็ตชายขอบ

นายฐากร  ตัณฑสิทธิ์  เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ กสทช. ว่า ได้รับทราบกรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตั้งข้อสังเกตการประมูลโครงการจัดให้มีสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ชายขอบ (ยูโซ่) ไม่สอดคล้องกับมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมทั้งบทบัญญัติเกี่ยวกับนโยบายแห่งรัฐที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ เป็นหน้าที่ของบริษัท ทีโอที เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งที่ กสทช.เอามาทำในส่วนของเน็ตชายขอบ 3,920 หมู่บ้านนั้นไม่ถูกต้อง

ทั้งนี้ จะนัดประชุมบอร์ด กสทช.นัดพิเศษ เพื่อเตรียมชี้แจงกับ สตง.ภายใน 1-2 วัน ซึ่งจะกำหนดทางออกไว้ 3 แนวทาง คือ 1.ดำเนินการจัดทำโครงการต่อไป 2.โอนงบประมาณให้กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) ดำเนินการ และ 3.เริ่มประกวดราคาใหม่อีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม จะเร่งทำหนังสือชี้แจงกลับไปยัง สตง. เพราะ พ.ร.บ.กสทช.ฉบับเดิม งานที่อยู่ในกิจการยูโซ่ หรือกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เป็นการดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ ดังนั้น กสทช.จะต้องดำเนินการเองเท่านั้น แต่ใน พ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ ระบุให้งานที่เป็นโครงการยูโซ่ ถ้า กสทช.ดำเนินเองไม่ได้ จะต้องโอนเงินเข้ากองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

"กสทช.น้อมรับข้อคิดเห็นของ สตง.และพร้อมยกเลิกการดำเนินการ หากข้อสังเกตมีน้ำหนักมากกว่า และถ้าชี้แจงไปแล้ว แต่ สตง.ยังยืนยันว่าเป็นการก่อให้เกิดความเสียหายพร้อมที่จะยกเลิก  ที่ผ่านมามีการดำเนินงานที่ โปร่งใส อยากให้เน็ตประชารัฐขับเคลื่อนโครงการโดยเร็ว เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติ" นายฐากร กล่าว

นอกจากนี้ บอร์ด กสทช.ยังมีมติพักใบอนุญาตพีซทีวี (PEACE TV) เนื่องจากรายการ "เข้าใจตรงกันนะ" ออกอากาศวันที่ 4 ก.ค. 2560 และรายการ "ห้องข่าวเล่าเรื่องสุดสัปดาห์" ออกอากาศวันที่ 9 ก.ค. 2560 มีเนื้อหาสาระสำคัญที่มุ่งให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐและศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ 2551 จึงมีมติให้พักใบอนุญาต เป็นเวลา 30 วันนับจากได้รับหนังสือจาก กสทช.

สำหรับประเด็นความคืบหน้าการกำกับดูแลกิจการโอเวอร์เดอะท็อป (โอทีที) ที่ประชุมได้เสนอแนวทางดังนี้ 1.ปรับปรุงองค์ประกอบคณะอนุกรรมการโอทีทีใหม่ 2.เพิ่มนิยามโอทีทีใหม่นอกเหนือจากกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และ 3.เพิ่มอนุกรรมการกลั่นกรองด้านคมนาคม ในคณะอนุกรรมการโอทีที ทั้งนี้ในส่วนของอนุกรรมการกลั่นกรองทางด้านกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ ให้เพิ่ม นายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ ด้านโทรคมนาคมเพิ่ม พล.อ. สุกิจ ขมะสุนทร นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ และนายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร เป็นรองเลขาธิการด้านคมนาคม เพื่อให้เห็นว่าการยกร่างหลักเกณฑ์ไม่ได้ควบคุมแค่กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เท่านั้น

นายฐากร  กล่าวว่า ที่ประชุมได้รายงานสภาพตลาดกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยในส่วนของสภาพตลาดกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล ณ เดือน มิ.ย. 2560 พบว่าผู้ชม 86.8% รับชมโทรทัศน์ผ่านระบบภาคพื้นดิน 13.2% รับชมผ่านระบบเคเบิลและดาวเทียม

ด้านสัดส่วนผู้ชมช่องรายการดิจิทัลที่เป็นช่องรายการใหม่เมื่อเทียบกับช่องรายการเดิม พบสัดส่วนอยู่ที่ 57.1% และ 42.9% โดยช่องรายการที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ ช่อง 7 ช่อง 3 ช่อง เวิร์คพอยท์  ช่องโมโน 29 ตามลำดับ ขณะที่มูลค่าการโฆษณาในกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดิน เดือน มิ.ย. 2560 มียอดรวมประมาณ 5,087 ล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อนหน้าประมาณ 517 ล้านบาท และลดลงจากเดือนเดียวกันของปี 2559 ประมาณ 1,202 ล้านบาท