posttoday

ตั้งกก.คุมไซเบอร์ส.ค. นายกฯนั่งประธาน

05 สิงหาคม 2560

เตรียมจัดตั้งคณะกรรมการ ไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ ส.ค.นี้ นายกฯ เป็นประธาน ผลักดันยุทธศาสตร์ความปลอดภัยออนไลน์ ชี้ไทยเสี่ยงสูง

เตรียมจัดตั้งคณะกรรมการ ไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ ส.ค.นี้ นายกฯ เป็นประธาน ผลักดันยุทธศาสตร์ความปลอดภัยออนไลน์ ชี้ไทยเสี่ยงสูง

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในงานวันสื่อสารแห่งชาติ ประจำปี 2560 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่า ภาครัฐบาลมีแผนจะจัดตั้งคณะกรรมการ เนชั่นแนล ไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีรองนายกรัฐมนตรีจำนวน 2 คนร่วมอยู่ในคณะกรรมการชุดนี้ พร้อมมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง โดยจะจัดตั้งขึ้นในเดือน ส.ค. 2560

สำหรับคณะกรรมการ เนชั่นแนล ไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ ถือเป็นหน่วยงานกลางของประเทศ ทำหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ และกำหนดแผนที่จะผลักดัน รวมถึงจัดตั้งคณะกรรมการชุดย่อย หรือจัดตั้งองค์กรขึ้นมากำกับดูแล รวมถึงการผลักดันกฎหมายในด้านต่างๆ ซึ่งจะส่งผลดีในการสร้างความเชื่อมั่นทั้งด้านภาคเศรษฐกิจ การลงทุนในประเทศ และเป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นของกลุ่มนักท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น

ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ พ.ศ. ... ในปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งพร้อมเปิดรับฟังความคิดเห็นของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ขณะเดียวกันในกฎหมายของประเทศไทยที่มีอยู่ ก็ต้องมีการพิจารณาและปรับแก้ให้ทันกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

พล.อ.อ.ประจิน กล่าวต่อว่า ในขณะนี้ไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ ถือว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะถูกละเมิด ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องบริหารจัดการความเสี่ยงและการเตรียมแผนรองรับไว้ในทุกด้านให้ครอบคลุม ทั้งแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว พร้อมกับการร่วมมือกับประเทศในภูมิภาคอาเซียน ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ ไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ ของภูมิภาคนี้ คาดว่าชัดเจนในปี 2560 เช่นกัน

พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช. กล่าวว่า จากการประเมินของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศไทย (ไอทียู) พบว่า ประเทศไทยมีการพัฒนาด้านไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ ที่ดีขึ้นต่อเนื่อง และประเทศไทยมีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับมาผลักดัน ขณะเดียวกัน การโจมตีทางไซเบอร์ที่เกิดขึ้นในโลก จะเกี่ยวข้องกับด้านการเงิน ระบบไฟฟ้า ขนส่งมวลชน เป็นหลัก

นายริชาร์ด เอ.คลาร์ค อดีตที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐ และผู้พัฒนายุทธศาสตร์การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ กล่าวว่า จากผลการสำรวจพบว่า บริษัทที่ถูกโจมตีด้านไซเบอร์ ซีเคียวริตี้ ในสัดส่วน 70% จะไม่ทราบว่าถูกเจาะข้อมูลจนกว่าภาครัฐจะให้ข้อมูลในด้านนี้ และบริษัทส่วนใหญ่จะทราบว่าถูกเจาะข้อมูลในระยะเวลาเกิน 205 วัน ดังนั้น การดำเนินงานป้องกันของภาครัฐและภาคเอกชนจึงมีความสำคัญมาก รวมถึงต้องผลักดันให้เกิดความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน