posttoday

ไทยยังรับมือภัยคุกคามไซเบอร์ต่ำกว่ามาตรฐาน เผยเหล่าทัพเร่งสร้างนักรบออนไลน์

03 สิงหาคม 2560

สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศชี้ไทยยังมีมาตรการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ต่ำกว่ามาตรฐาน ประธานกสทช.เผยเหล่าทัพเริ่มสร้างนักรบไซเบอร์แล้ว

สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศชี้ไทยยังมีมาตรการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ต่ำกว่ามาตรฐาน ประธานกสทช.เผยเหล่าทัพเริ่มสร้างนักรบไซเบอร์แล้ว

เมื่อวันที่ 3 ส.ค. พล.อ.ประวิตร  วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เปิดการสัมมนาวิชาการเนื่องในโอกาสวันสื่อสารแห่งชาติ ประจำปี 2560 หัวข้อ "สงครามไซเบอร์ในยุคเศรษฐกิจดิจิตอล การพิจารณาเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศไทย จัดขึ้นโดยสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมร่วมกับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.)จัดขึ้น โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยงานสังกัดกระทรวงกลาโหม หน่วยงานภาครัฐ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง และ หน่วยงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเข้าร่วม

ในการสัมมนาครั้งนี้ได้มีการเชิญ นายริชาร์ด เอ. คลาร์ก ผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยไซเบอร์ของสหรัฐ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐ มาร่วมบรรยายพิเศษด้วย

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ระบุว่า ปัจจุบันความก้าวหน้าในทางเทคโนโลยี สารสนเทศและการเสื่อสารทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของภัยคุกคามที่เรียกว่า สงครามไซเบอร์ ที่นับเป็นภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ที่หน่วยงานด้านความมั่นคงทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ให้ความสำคัญและตระหนักถึงภัยคุกคามต่างๆ เป็นอย่างมาก เนื่องจากสามารถส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทั้งด้านการทหาร เศรษฐกิจ และความมั่นคง ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ และ ของโลก เชื่อว่าข้อมูลจากวิทยากรที่มาให้ความรู้ระหว่างการสัมมนา ไปใช้ประโยชน์ในการเตรียมความพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์ สงครามไซเบอร์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาโลกให้ความสนใจเกี่ยวกับการระบาดของ มัลแวร์ Petyaที่โจมตีโครงสร้างพื้นฐานของประเทศยูเครน ในขณะที่ ประเทศมหาอำนาจ ทั้งสหรัฐฯ รัสเซีย จีน เกาหลีเหนือ ก็ใช้มัลแวร์ในการโจมตีโครงสร้างประเทศฝ่ายตรงข้ามเช่นกัน

"การดำเนินการในลักษณะนี้นับวันจะขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ในรูปแบบสงครามที่ไม่มีการประกาศ ดังนั้นหลายประเทศจึงได้เตรียมหน่วยงานเตรียมรับมือภัยคุกคามด้านไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นนี้ด้วยโดยเฉพาะด้านความมั่นคง เช่นสหรัฐฯ ได้มอบหมายให้ national security agency กระทรวงกลาโหม กระทรวงป้องกันมาตุภูมิ ร่วมกันรับผิดชอบ"พล.อ.อ.ธเรศกล่าว

พล.อ.อ.ธเรศกล่าวอีกว่า ในเกาหลีใต้  สิงคโปร์ มาเลเซีย ก็มีหน่วยงานระดับชาติที่ตั้งขึ้นมา ทำหน้าที่บริหารและจัดการความเสี่ยงด้านไซเบอร์ และจัดทำแผนยุทธศาสตร์ โดยมีผู้นำสูงสุดของประเทศเป็นผู้บังคับบัญชา

ขณะที่ในประเทศไทยแนวโน้มการใช้อินเทอร์เน็ตของภาคประชาชนได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยจากสถิติของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจโทรคมนาคมของ กสทช. ในปีที่แล้วพบว่ามีผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือกว่า 113 ล้านหมายเลข การเติบโตที่รวดเร็วขนาดนี้ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภัยคุกคามด้านไซเบอร์เพิ่มขึ้นมาเป็นเงาตามตัว

"จากการที่เราดูจากการประเมินความเสี่ยงจากหน่วยงานต่างประเทศ เช่น เวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรั่ม ได้ประเมินความพร้อมในการรับมือกับไซเบอร์ จะเห็นว่า มาเลเซีย มีความพร้อมในการรับมือที่สูงมาก นอกจากนี้สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) พบว่าประเทศไทยมีความเสี่ยงต่อการถูกโจมตีทางไซเบอร์ค่อนข้างสูง คืออยู่ในลำดับที่ 15 ของโลกจาก 165 ประเทศ ตามหลัง อินโดนีเซีย สิงคโปร์และมาเลเซีย"พล.อ.อ.ธเรศกล่าว

ประธาน กสทช. กล่าวว่า การจัดลำดับความเสี่ยง จะดูที่มาตรการใน 5 ด้าน เช่น ในด้านกฎหมาย คณะกรรมการขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. ได้เสนอ พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความปลอดภัยด้านไซเบอร์ พ.ศ. อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ใน พ.ร.บ.ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (กภช.)  เสนอให้ นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เป็นหน่วยงานที่กำหนดนโยบาย ถ้ากฎหมายนี้ออกมา จะมีหน่วยงานที่สั่งการหน่วยงานราชการ และเอกชนให้กระทำ หรือ ยุติการกระทำต่างๆ เมื่อเกิดเหตุภัยคุกคามด้านไซเบอร์

ส่วนการจัดโครงสร้างองค์กรก็ต้องรอดูกฎหมายที่จะออกมาก่อน ตนคิดว่าระดับปฏิบัติเราเองอาจจะต้องมีเช่นเดียวกับที่สหรัฐฯ ในลักษณะของ Cyber command ในแง่ความมั่นคงอาจรวมกันระหว่าง 3 เหล่าทัพ

สำหรับด้านเทคนิคกับการพัฒนาบุคคลากรนั้น เหล่าทัพก็เริ่มมีการสร้างนักรบไซเบอร์ กันบ้างแล้ว แต่หลักการแล้วการปฏิบัติการเชิงรุกง่ายมาก แต่ที่สำคัญคือด้านการป้องกัน  ส่วนความร่วมมือก็ได้ดำเนินการมากับหลายประเทศ ญี่ปุ่น นอร์เวย์ รัสเซีย อย่างไรก็ตาม จากการประเมินทั้ง5 ด้าน ITU ประเมินว่าเรายังอยู่ในประเทศที่ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ต้องปรับปรุง