posttoday

ถูกโกงซื้อของผ่านเน็ต โอนเงินไม่ได้รับสินค้า

01 สิงหาคม 2560

จากข้อมูลศูนย์รับแจ้งเหตุการณ์โกง พบว่ามีผู้เสียหายมากถึงวันละ 10-20 คน หรือเฉลี่ยเดือนละ 300-600 คน

โดย....นิติพันธุ์ สุขอรุณ

ยุคสมัยที่รูปแบบการค้าขายไร้พรมแดนบนโลกอินเทอร์เน็ตได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะไม่ว่าใครก็สามารถนำสิ่งของมือ 1 มือ 2 มาโพสต์ประกาศขายได้ตามต้องการ จากนั้นทำการเจรจาตกลงราคาเสร็จสรรพ พร้อมโอนเงินเพื่อส่งสินค้ามายังที่อยู่ปลายทาง

ทว่าเหล่ามิจฉาชีพได้เล็งเห็นช่องทางฉ้อโกงผู้คนด้วยการสร้างเพจเฟซบุ๊กประกาศขายสินค้าขึ้นมาหลอกล่อ หากมีเหยื่อหลงเชื่อโอนเงินให้ คนร้ายก็จะเชิดเงินหนีหาย ปิดเบอร์โทรศัพท์ตามตัวไม่ได้ คดีเช่นนี้กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

จากสถิติข้อมูลจาก PayPal ผู้นำด้านการชำระเงินเพื่อซื้อสินค้าและบริการผ่านระบบออนไลน์ระดับโลก คาดการณ์ว่า ปี 2560 คนไทยจะช็อปปิ้งผ่านออนไลน์ทั้งในประเทศและทั่วโลกคิดเป็นมูลค่าถึง 3 แสนล้านบาท

แต่จำนวนดังกล่าวยังมีผู้ร้องเรียนแจ้งความหลังถูกหลอกซื้อสินค้าผ่านโลกออนไลน์ โดยข้อมูลจากเว็บไซต์อย่าง www.antcrime.com ซึ่งเป็นศูนย์รับแจ้งเหตุการณ์โกง พบว่ามีผู้เสียหายมากถึงวันละ 10-20 คน หรือเฉลี่ยเดือนละ 300-600 คน ซึ่งจำนวนดังกล่าวยังไม่รวมถึงผู้เสียหายที่เพิกเฉยไม่ได้ดำเนินการเอาผิด ซึ่งยังมีจำนวนที่มากเช่นกัน

สงกรานต์ เขื่อนศรี ผู้ค้าขายออนไลน์ เปิดเผยว่า ทุกวันนี้โลกของการซื้อขายสินค้าบนสังคมออนไลน์ มีสิ่งของแทบทุกอย่างให้เลือกซื้อตามต้องการ ไม่ว่าจะประกาศขายเองผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว หรือโพสต์ขายบนหน้าเว็บไซต์องค์กรใหญ่ซึ่งเป็นตัวกลางช่องทางจำหน่าย หากผู้ค้ามีคุณธรรมซื้อขายอย่างตรงไปตรงมาก็ไม่เกิดปัญหา แต่มิจฉาชีพขณะนี้กำลังหลอกลวงคนให้หลงเชื่อโอนเงินหลัก 1,000-2,000 บาท/ผู้เสียหาย 1 คน เข้ากระเป๋า เนื่องจากเงินจำนวนนี้ง่ายที่เหยื่อจะตัดสินใจโอนมาให้มากกว่าเงินหลัก 1 หมื่นขึ้นไป

ผู้ค้ารายนี้เล่าว่า เขามีประสบการณ์ถูกโกงเงินเมื่อไม่นานมานี้ เนื่องจากต้องการซื้ออะไหล่รถจักรยานยนต์ เป็นเงินจำนวน 1,600 บาท หลังจากตกลงราคาเพื่อให้ส่งของมาตามที่อยู่ ระยะเวลาผ่านไปหลายวันก็ยังไม่มีของส่งมาถึง จึงเริ่มทวงถามกลับไปยังผู้ขายแต่ก็ถูกบ่ายเบี่ยงไม่ยอมคืนเงิน เกิดการทะเลาะกันจนถึงขั้นคนร้ายโพสต์รูปปืนและภาพถ่ายหน้าบ้านของผู้เสียหาย สร้างความหวาดกลัวไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

สงกรานต์ เล่าว่า เขาพยายามสืบค้นหาข้อมูลของคนร้ายทำให้พบว่า พฤติกรรมของพวกมิจฉาชีพมักเปิดเฟซบุ๊กไว้หลายชื่อ หากเพจไหนหลอกลวงได้สำเร็จก็จะปิดแล้วเปิดใหม่ เปลี่ยนชื่อใหม่ต่อไปอีก เมื่อนำข้อมูลที่ได้ไปค้นหาในกูเกิลทำให้พบผู้เสียหายรายอื่นอีกจำนวนนับ 10 ราย มีลักษณะหลอกลวงให้โอนเงินแล้วเชิดหนีเช่นเดียวกัน จึงได้นำเรื่องไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ

“ทันทีที่ถึง สน.เจ้าหน้าที่ตำรวจถามผมว่าเฟซบุ๊กคืออะไร ผมว่าเรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงตำรวจไม่ทันต่อสถานการณ์ ไม่ปรับตัวให้ทันโลก ผมจึงเปลี่ยนไปแจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี แต่เขาคงมองว่าเป็นคดีเงินจำนวนเล็กน้อย จึงไม่มีความคืบหน้าอะไร สุดท้ายผู้เสียหายต้องพยายามสืบหากันเอง” สงกรานต์ กล่าว

สงกรานต์ กล่าวอีกว่า บทเรียนที่ได้ทำให้เขาเรียบเรียงเรื่องราวผ่านเพจ “SONGKRAN KUENSRI” และเขียนข้อควรระวังเพื่อเตือนภัยสังคมไม่ให้ตกเป็นเหยื่อถูกโกงขายของออนไลน์ อาทิ 1.นำชื่อของผู้ประกอบการที่ปรากฏในบัญชีธนาคารไปค้นหาในกูเกิล เพื่อตรวจสอบว่าเคยมีคนร้องเรียนหรือไม่ 2.ขอสำเนาบัตรประชาชน ที่อยู่ให้ชัดเจน ดูให้ดีว่าภาพถูกเปลี่ยนแปลงด้วย Photo shop หรือไม่ 3.ถ้ามีหน้าร้านควรไปดูสินค้าให้เห็นกับตา 4.เมื่อโอนเงินแล้วควรเก็บสลิปไว้เป็นหลักฐานจนกว่าของที่สั่งมาส่งมาถึง และ 5.ทวงถามหมายเลขการส่งพัสดุผ่านไปรษณี เพื่อยืนยันว่าส่งของแล้ว

สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า สังคมกำลังให้ความนิยมซื้อขายออนไลน์มากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาที่พบมากคือ โอนเงินแล้วไม่ได้รับของ หรือ ของที่สั่งไม่เป็นอย่างที่โฆษณาไว้ หรือแม้กระทั่งได้ของไม่ครบ ซึ่งขั้นตอนในการติดตามหาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษนั้น แม้ไม่ได้เป็นเรื่องยากของเจ้าหน้าที่ แต่ขึ้นอยู่กับเร่งรีบตามเรื่องให้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ปัญหาเหล่านี้เป็นโจทย์สำคัญที่หลายหน่วยงาน อาทิ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ สพธอ. กำลังระดมสมองหาทางแก้ไขคือ ทำอย่างไรให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจกล้าซื้อสินค้า ควรจัดประเภทของผู้บริโภคกับผู้บริโภคซื้อขายกันเองหรือไม่ หรือผู้บริโภคที่นำของมาขายอีกทอดหนึ่งจะถูกจัดเป็นผู้ประกอบการด้วยหรือไม่ คำถามเหล่านี้ยังต้องถูกตีกรอบให้ชัดเจน

ขณะเดียวกันการซื้อขายยังต้องมีระบบป้องกันคุ้มครองผู้บริโภครองรับอีกชั้นหนึ่งด้วย เบื้องต้นผู้เสียหายสามารถโทรสายด่วน 1212 รับแจ้งเว็บไซต์ไม่เหมาะสม ขัดต่อความมั่นคง วัฒนธรรม ศีลธรรมได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นผู้รับเรื่องประสานงานต่อไป

ด้าน พ.ต.อ.สยาม บุญสม รอง ผบก.กองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ปอท. กล่าวว่า ทุกวันนี้เกิดกรณีซื้อของออนไลน์แล้วไม่ได้รับขสินค้าเป็นจำนวนมาก โดยผู้เสียหายสามารถเดินทางเข้ามาแจ้งความร้องทุกข์ได้ที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อาคาร บี ชั้น 4 ถ.แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ กทม. 10210 TH หมายเลขติดต่อ : 02-142 2555-60

นอกจากนี้ ขอฝากเตือนมิจฉาชีพที่เปิดเฟซบุ๊กประกาศขายของเพื่อหวังหลอกลวงให้คนหลวงเชื่อโอนเงินแล้วไม่ได้สินค้าตามที่สั่ง จะมีความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ในข้อหาฉ้อโกงประชาชนและนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน อันเป็นเท็จก่อใก้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น มีโทษจำคุก 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท