posttoday

กสทช.ขอค่ายมือถือยืดเวลาจ่ายค่าบริการลูกค้าในพื้นที่น้ำท่วม

30 กรกฎาคม 2560

กสทช. ขอความร่วมมือโอเปอเรเตอร์ 5 ค่าย ยืดระยะเวลาการชำระค่าบริการแก่ลูกค้าในพื้นที่ประสบอุทกภัย

กสทช. ขอความร่วมมือโอเปอเรเตอร์ 5 ค่าย ยืดระยะเวลาการชำระค่าบริการแก่ลูกค้าในพื้นที่ประสบอุทกภัย

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า จากเหตุภัยพิบัติน้ำท่วมที่เกิดขึ้นที่ จ.กาฬสินธุ์ และจ.สกลนคร ประชาชนผู้ใช้บริการโทรศัพท์ที่อยู่พื้นที่อาจไม่สามารถเดินทางมาชำระค่าบริการได้ สำนักงาน กสทช. จึงได้ขอความร่วมมือผู้ให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทุกรายไม่ให้ตัดสัญญาณโทรศัพท์ รวมทั้งยืดระยะเวลาการชำระค่าบริการแก่ลูกค้า ในพื้นที่จังหวัดประสบอุทกภัย ทั้งระบบเติมเงินและรายเดือน จนกว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะดีขึ้น

ทั้งนี้ เนื่องจากในภาวะภัยพิบัติน้ำท่วมเช่นนี้ การติดต่อสื่อสารเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยในการประสานงานในการให้ความช่วยเหลือได้อย่างไม่ติดขัด

ด้าน เอไอเอส ได้ให้ลูกค้าในพื้นที่ อ.เมือง และอ.พรรณานิคม จ.สกลนคร โทรฟรีทุกเครือข่าย 50 นาที เป็นเวลา 30 วัน เริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยลูกค้ากลุ่มดังกล่าวจะได้รับ SMS แจ้งยืนยันก่อน นอกจากนี้ ยังขยายระยะเวลาการชำระค่าบริการสำหรับลูกค้ารายเดือน จนถึงวันที่ 4 ส.ค. 60

ทรูมูฟ เอช แจ้งว่า ได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าในจังหวัดสกลนคร และพื้นที่ประกาศภัยพิบัติที่จังหวัดกาฬสินธุ์โดย ขยายเวลาชำระค่าบริการแก่ลูกค้าแบบรายเดือนถึง 14 สิงหาคม 2560  และ เพิ่มวันใช้งานให้ลูกค้าเติมเงิน 30 วัน และ ให้ลูกค้าทั้งแบบรายเดือนและเติมเงินโทรฟรีในเครือข่ายทรูมูฟเอช นาน 30 วัน โดยลูกค้าจะได้รับ sms แจ้งยืนยันก่อน

ขณะที่ ดีแทค แจ้งว่า ได้จัดเตรียมทีมงานดูแลสัญญาณจังหวัดที่มีฝนตกหนักและน้ำท่วมฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งรายงานประสานงานกับทุกหน่วยงานของดีแทคเพื่อควบคุมคุณภาพของการให้บริการ เพื่อให้ลูกค้าในพื้นที่ประสบภัยใช้บริการการสื่อสารจากดีแทคได้อย่างปกติ

สำหรับรายงานล่าสุดพบว่ามีสถานีดีแทคไม่กี่แห่งอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมฉุกเฉินจังหวัดสกลนครและได้รับผลกระทบจากการตัดไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเนื่องจากต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม ทีมงานดีแทคได้เร่งจัดการตามแผนฉุกเฉินโดยนำเครื่องปั่นไฟฟ้าเข้าไปยังสถานีฐานเพื่อให้สถานีฐานกลับมาใช้งานได้อย่างเร็วที่สุด และทีมงานได้เร่งทำงานอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง