posttoday

บริการคอนเทนต์ ดันตลาดสื่อสารพุ่ง6แสนล้าน

19 กรกฎาคม 2560

ผลการสำรวจตลาดสื่อสารของไทย ปี 2560 คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 6.32 แสนล้านบาท ขยายตัว 9.5% จากปี 2559 ถือเป็นอัตราการเติบโตสูงสุดรอบ 5 ปี

ผลการสำรวจตลาดสื่อสารของไทย ปี 2560 คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 6.32 แสนล้านบาท ขยายตัว 9.5% จากปี 2559 ถือเป็นอัตราการเติบโตสูงสุดรอบ 5 ปี

ศุภชัย สัจไพบูลย์กิจ ที่ปรึกษาโครงการสำรวจมูลค่าตลาดสื่อสารของประเทศไทย ประจำปี 2559 และประมาณการปี 2560 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า ผลการสำรวจตลาดสื่อสารของประเทศไทย ในปี 2560 คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าประมาณ 6.32 แสนล้านบาท ขยายตัว 9.5% จากปี 2559 ที่มีมูลค่ารวม 5.77 แสนล้านบาท ถือเป็นอัตราการเติบโตสูงสุดรอบ 5 ปี

ทั้งนี้ ตลาดที่เติบโตสูงมาจากการใช้บริการสื่อสารผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะตลาดการให้บริการสื่อสารที่ขยายตัวสูง ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใช้บริการด้านอินเทอร์เน็ตในด้านต่างๆ รวมถึงการมีบริการ 4จี โดยคาดว่าตลาดรวมสื่อสารของประเทศไทยจะขยายตัวถึงระดับ 1 ล้านล้านบาทในระยะเวลา 6 ปีข้างหน้า และจะเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตต่อเนื่องไปอีกกว่าศตวรรษ

สำหรับในปี 2559 ตลาดรวมมูลค่าสื่อสารของประเทศไทยที่มีมูลค่ารวม 5.77 แสนล้านบาท ขยายตัว 7.7% แบ่งเป็น ตลาดรวมอุปกรณ์สื่อสารสัดส่วน 42.7% มูลค่า 246,513 ล้านบาท และตลาดบริการสื่อสาร สัดส่วน 57.3% มูลค่า 330,815 ล้านบาท โดยตลาดรวมบริการสื่อสารในปี 2560 คาดว่าจะขยายตัวสูงถึง 12.2% หรือมีมูลค่า 371,011 ล้านบาท ถือว่าเป็นแนวโน้มที่ดี เพราะมีผู้ให้บริการทางสื่อสารใหม่ และผู้ใช้บริการมากขึ้น คาดว่าตลาดรวมบริการสื่อสารจะขยายตัวสองหลัก ต่อเนื่องไปอีก 5 ปี หรือมีมูลค่ารวมถึงระดับ 4 แสนบาท อีกทั้งทิศทางดังกล่าวจะสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่กำลังมุ่งผลักดันประเทศไทย 4.0

ทั้งนี้ แรงหนุนสำคัญของตลาดบริการสื่อสาร มาจากบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ไม่ใช่เสียง ในปี 2559 มีมูลค่า 145,667 ล้านบาท เติบโต 35.5% และคาดว่าจะเติบโตอีก 35.2% ในปี 2560 หรือมีมูลค่า 196,942 ล้านบาท จากพฤติกรรมผู้ใช้งานที่นิยมการสื่อสารผ่านบริการโอทีที และโซเชียลมีเดีย รวมไปถึงพฤติกรรมรับชมคอนเทนต์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่สูงขึ้น กระตุ้นการใช้งานที่ไม่ใช่เสียงให้เติบโต ขณะที่บริการอินเทอร์เน็ตและบริการสื่อสารข้อมูล แม้จะมีการเติบโต แต่อยู่ในระดับต่ำกว่าบริการผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่

ขณะเดียวกัน การแข่งขันของตลาดสื่อสารในประเทศ จากผู้ให้บริการรายใหญ่ที่เน้นแข่งขันด้านราคาจำนวนมาก แต่คาดว่านับจากนี้ไปผู้ให้บริการจะเน้นการแข่งขันการให้บริการเสริมใหม่มากขึ้น เพื่อเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ แก่ลูกค้า เนื่องจากที่ผ่านมาได้แข่งขันด้านราคาไปจนถึงจุดที่ไม่สามารถจะแข่งลดราคาได้อีกแล้ว

ศุภชัย กล่าวว่า ผู้บริโภคในประเทศไทยที่มีหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมกว่า 100 ล้านเลขหมาย โดยการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ จะใช้บริการด้านเสียงลดลง และใช้บริการที่ไม่ใช่เสียง (นันวอยซ์) เพิ่มมากขึ้น ซึ่งเติบโตตามการใช้งานสื่อสารข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดีย และการบริโภค สตรีมมิ่ง คอนเทนต์ (Streaming Content) รวมถึงการทำธุรกรรมทางออนไลน์ที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ให้บริการต้องแข่งขันด้วยคอนเทนต์ และมีความหลากหลายของบริการดิจิทัลมากขึ้น

ขณะที่ความต้องการใช้งานทางเสียงผ่านเครือข่ายโทรศัพท์ใช้สายมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ส่วนตลาดรวมเครื่องโทรศัพท์ สมาร์ทโฟน มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง มาจากกลุ่มลูกค้าตลาดบน ที่มีรอบการเปลี่ยนเครื่องของผู้ใช้ในระดับถี่ หรือน้อยกว่า 18 เดือน และคงราคาสูงไว้ได้ รวมถึงกลุ่มลูกค้าระดับกลางที่เปลี่ยนมาใช้สมาร์ทโฟนในราคาระดับบนมากขึ้น ส่วนตลาดสมาร์ทโฟนระดับกลางและล่าง มีการเปลี่ยนเครื่องที่ช้ากว่า และมีระดับราคาเฉลี่ยลดลง

ขณะที่ตลาดอุปกรณ์สื่อสารในปี 2559 มีมูลค่า 246,513 ล้านบาท เติบโต 8.8% คาดว่าปีนี้จะเติบโต 5.9% หรือมีมูลค่า 261,109 ล้านบาท เนื่องจากเม็ดเงินในการลงทุนขยายโครงข่าย 4จี คลายตัวลง ทำให้ตลาดเติบโตชะลอตัว