posttoday

ยูทูบชี้ กสทช.ห้ามโฆษณาผลกระทบตกอยู่ที่เอเจนซี่

05 กรกฎาคม 2560

ยูทูบยังไม่ชี้ชัดขึ้นทะเบียน OTTหรือไม่ ระบุกสทช.ยังไม่ประกาศออกมาให้ชัดเจนว่าข้อตกลกคืออะไร ระบุหากห้ามลงโฆษณาผลเสียตกอยู่ที่เอเจนซี่

ยูทูบยังไม่ชี้ชัดขึ้นทะเบียน OTTหรือไม่ ระบุกสทช.ยังไม่ประกาศออกมาให้ชัดเจนว่าข้อตกลกคืออะไร ระบุหากห้ามลงโฆษณาผลเสียตกอยู่ที่เอเจนซี่

จากกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดให้ผู้ประกอบการบริการ Over The Top (OTT)  มาแจ้งขึ้นทะเบียนเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ที่ผ่านมา แต่สองผู้ประกอบการรายใหญ่อย่าง เฟซบุ๊ก (Facebook) และยูทูบ (Youtube) ยังไม่มาขึ้นทะเบียน ขณะที่กสทช.ขีดเส้นตายให้ขึ้นทะเบียนภายในวันที่ 22 ก.ค. นี้ ไม่เช่นนั้นจะถือว่าเป็นกิจการที่ผิดกฎหมายไทยนั้น

ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 ก.ค. โฆษกฝ่ายประชาสัมพันธ์กูเกิล ประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของยูทูบ กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ทีมกฎหมายของกูเกิลที่สิงคโปร์กำลังศึกษากฎนี้อยู่ อย่างไรก็ตามตั้งแต่มีการประกาศออกมาเรายังไม่เห็นกฎหรือข้อระเบียบของกสทช.ที่ชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะฉะนั้นยังไม่มีการยืนยันว่าเราจะมีแนวทางแบบไหน แต่เมื่อมีกำหนดเส้นตายให้ขึ้นทะเบียนภายในวันที่ 22 ก.ค.นี้ เราคงมีการตอบกลับไปภายในวันดังกล่าว

"เรายังไม่ทราบว่ากสทช.ต้องการอะไร เรายังไม่ทราบเลยว่าคำว่าไปลงทะเบียนแปลว่าจะเกิดอะไรขึ้น เพราะว่ากสทช.ยังไม่ได้ประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรออกมาว่าข้อตกลงนี้คืออะไร" โฆษกฝ่ายประชาสัมพันธ์กูเกิล ประเทศไทย กล่าว

ส่วนผลกระทบหากยูทูบขึ้นทะเบียนไม่ทันวันที่ 22 ก.ค.นั้น แน่นอนว่าถ้ากฎออกมาแล้วผิดกฎหมายเราก็ต้องได้รับผลกระทบ แต่ตอนนี้สิ่งที่ยูทูบร่วมกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตระดับโลกทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ไลน์  ก็คือเราทั้งหมดอยู่ภายใต้สมาพันธ์อินเทอร์เน็ตแห่งเอเชีย (AIC) ซึ่งเราต้องการคือความชัดเจนว่าข้อกฎหมายนี้คืออะไรต้องการควบคุมจัดการด้านไหน ทันทีที่ทุกอย่างชัดเจนทาง AIC ก็จะมีข้อตกลงที่ชัดเจนขึ้น อย่าไปมองว่า AIC เป็นลHอบบี้ยิสต์ AIC เป็นองค์กรที่บริษัทอินเทอร์เน็ตใหญ่ๆในโลกรวมตัวกันอยู่ภายใต้นั้นเพราะเราไม่สามารถเข้าไปต่างคนต่างพูดได้ สิ่งที่ดีที่สุดเข้าไปในฐานะตัวแทน นั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราจึงขอให้ติดต่อพูดคุยกับ AIC เพราะจะได้เป็นเสียงเดียวกัน

ส่วนกรณีที่มีข่าวว่า กูเกิลสำนักงานใหญ่ที่สหรัฐฯติดต่อจะเข้าพบกับกสทช.นั้น ปกติกูเกิลสำนักงานใหญ่ติดต่อกับทางกสทช.และกระทรวงดีอีอยู่ตลอดเวลา เราอยู่ในประเทศไหนเราก็คุยกับรัฐบาลประเทศนั้น กูเกิลสำนักงานใหญ่มีการพูดคุยกับฝ่ายรัฐบาลไทยบ่อยและคุยกันหลายเรื่องไม่ใช่เฉพาะเรื่อง OTT

"AIC เป็นตัวแทนพวกเราอยู่แล้ว ถ้ามีการติดต่อ AIC จะเป็นคนตอบคำถาม และจัดการ เพื่อความเป็นเอกภาพ กูเกิล ยูทูบ เฟซบุ๊ก ไลน์ จะได้เป็นเสียงเดียวกัน" โฆษกฝ่ายประชาสัมพันธ์กูเกิล ประเทศไทย กล่าว

ส่วนกรณีที่ กสทช. ขอความร่วมมือบริษัทที่ลงโฆษณาแพลตฟอร์มดิจิทัลมากที่สุด 47 บริษัท ให้หยุดลงโฆษณาบน เฟซบุ๊ก–ยูทูบ หากไม่มาลงทะเบียน OTT นั้น โฆษกฝ่ายประชาสัมพันธ์กูเกิล ประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบกับเรา ยังไม่มีการหยุดโฆษณาใด ๆ ส่วนกรณีหากพ้นวันที่ 22 ก.ค.ยูทูบยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน OTTนั้น บริษัทก็จะได้รับผลกระทบเพราะถือว่าผิดกฎหมาย แต่เบื้องต้นผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือยูทูบครีเอเตอร์ที่หลายคนมีชื่อเสียงและรายได้จากการทำคอนเทนต์บนยูทูบ ขณะที่บริษัทโฆษณา สมมติบอกว่าห้ามซื้อโฆษณากับยูทูบประเทศไทย แต่ทุกบริษัทต้องพึ่งดิจิทัลแพลตฟอร์ม ดังนั้นบริษัทก็อาจจะไปซื้อเข้ามาจากต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ หรือ สหรัฐอเมริกา ดังนั้นผู้ที่ได้รับผลกระทบน่าจะเป็นเอเจนซี่โฆษณามากกว่า