posttoday

ทั่วโลกผวาภัยไซเบอร์

14 พฤษภาคม 2560

เกิดเหตุโจมตีไซเบอร์ครั้งใหญ่ใน 99 ประเทศทั่วโลก กระทบเอกชนและหน่วยงานรัฐนับหมื่นแห่ง

เกิดเหตุโจมตีไซเบอร์ครั้งใหญ่ใน 99 ประเทศทั่วโลก กระทบเอกชนและหน่วยงานรัฐนับหมื่นแห่ง

รอยเตอร์ส เปิดเผยว่า “ชาโดว์ โบรกเกอร์ส” กลุ่มแฮ็กเกอร์นิรนามส่ง “วอนนาคราย” แรนซัมแวร์ที่เป็นมัลแวร์เรียกค่าไถ่ โจมตีระบบคอมพิวเตอร์ 99 ประเทศทั่วโลก เมื่อวันที่ 12 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งบีบบังคับให้หน่วยงานที่โดนโจมตีต้องจ่ายเงิน 300-600 เหรียญสหรัฐ (ราว 1-2 หมื่นบาท) ผ่านสกุลเงินดิจิทัลบิตคอยน์ เพื่อแลกกับการปลดล็อกระบบคอมพิวเตอร์ โดยประเทศที่ตกเป็นเป้าโจมตีหลักประกอบด้วย รัสเซีย อังกฤษ และจีน

รายงานระบุว่า กลุ่มแฮ็กเกอร์กระจายแรนซัมแวร์ดังกล่าวผ่านโค้ดคอมพิวเตอร์ชื่อ อีเทอร์นัลบลู ที่ลักลอบขโมยมาจากสำนักงานความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐ (เอ็นเอสเอ) ซึ่งโค้ดดังกล่าวพัฒนาขึ้นโดยเอ็นเอสเอเพื่อใช้จัดการ กับมัลแวร์ของอาชญากร

เอวาสต์ บริษัทพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ป้องกันภัยไซเบอร์ เปิดเผยว่า ตรวจพบการโจมตีทั้งหมด 7.5 หมื่นครั้งในช่วงเวลาดังกล่าว ด้าน มัลแวร์เทค บริษัทวิจัยความปลอดภัยไซเบอร์อิสระ ระบุว่า องค์กรต่างๆ ในรัสเซียถูกแรนซัมแวร์ดังกล่าวโจมตีมากที่สุดถึง 1.1 หมื่นแห่ง ตามด้วยหน่วยงานในจีนที่ 6,500 แห่ง และหน่วยงานสหรัฐที่อย่างน้อย 1,600 แห่ง นอกจากนี้การโจมตีดังกล่าวยังส่งผลต่อระบบคอมพิวเตอร์ของโรงพยาบาล 16 แห่ง และหน่วยงานสาธารณสุข 45 แห่งในอังกฤษ รวมถึงเฟดเอ็กซ์ บริษัทขนส่งชื่อดังของสหรัฐ และเทเลโฟนิกา บริษัทโทรคมนาคมสเปน

ขณะที่กระทรวงมหาดไทยของรัสเซีย เปิดเผยว่า คอมพิวเตอร์กระทรวง 1,000 เครื่องโดนโจมตี แต่ยืนยันว่าไม่มีข้อมูลถูกขโมย ซึ่งหลังเกิดการโจมตีดังกล่าวไม่กี่ชั่วโมง สำนักข่าวอาร์ไอเอของรัสเซีย รายงานอ้างธนาคารกลางรัสเซียว่า พบการโจมตีระบบธนาคารภายในประเทศด้วยเช่นกัน

ด้าน ไมโครซอฟท์ ระบุหลังเกิดเหตุว่า บริษัทได้ออกอัพเดทเพิ่มการตรวจจับและป้องกันแรนซัมแวร์ดังกล่าวแล้ว

รอยเตอร์ส ระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าวปลุกความวิตกเกี่ยวกับความเปราะบางของหน่วยงานความมั่นคง โดยเฉพาะสหรัฐที่ 90% ของซอฟต์แวร์ด้านความมั่นคงพัฒนาเพื่อใช้จู่โจมอาชญากรมากกว่าเน้นการป้องกันจุดอ่อน ซึ่งเป็นโอกาสให้แฮ็กเกอร์หาช่องโหว่เพื่อใช้ประโยชน์จากซอฟต์แวร์ดังกล่าว