posttoday

"สั่งการด้วยเสียง-ข้อความ" อนาคตสมาร์ทโฮมที่ต้องจับตา

16 มีนาคม 2560

คาดการณ์ว่ายอดขายอุปกรณ์สมาร์ทโฮมที่สั่งการด้วยเสียง และนำเอไอเข้ามาผสมผสานในการทำงานจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่24.5 ล้านเครื่อง

โดย...นรินรัตน์ พรหมพิทักษ์

การสั่งปรับความสว่างหลอดไฟ ซื้อยาสีฟันเพิ่ม หรือแม้กระทั่งสั่งให้เด็กๆ เข้านอนผ่านอุปกรณ์สมาร์ทโฮม ไม่ใช่เรื่องเกินจริงอีกต่อไป ท่ามกลางความก้าวหน้าของการพัฒนาอุปกรณ์ผู้ช่วยอัจฉริยะภายในบ้านจากหลายบริษัทไอทีรายใหญ่ทั่วโลก

ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2014 อุปกรณ์สมาร์ทโฮมแทบไม่เป็นที่รู้จักและมีการใช้งานเลย อย่างไรก็ดี แนวโน้มดังกล่าวกำลังเปลี่ยนไป โดย วอยซ์แล็บ บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีในสหรัฐ คาดการณ์ว่ายอดขายอุปกรณ์สมาร์ทโฮมที่สั่งการด้วยเสียง และนำปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เข้ามาผสมผสานในการทำงานด้วยนั้น จะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่24.5 ล้านเครื่อง ภายในปี 2017

นอกเหนือจาก เอคโค่ อุปกรณ์ผู้ช่วยอัจฉริยะประจำบ้านของอเมซอน และกูเกิลโฮม ของกูเกิลแล้ว บริษัทไอทีรายอื่นๆ เช่น แอปเปิ้ล อิงค์ กำลังเตรียมขยายการใช้งาน Siri ซอฟต์แวร์ผู้ช่วยในสมาร์ทโฟนไอโฟนและไอแพดไปสู่อุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน เช่นเดียวกับซัมซุง อิเล็กทรอนิกส์ ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนเกาหลีใต้ และไป่ตู้ ยักษ์ไอทีแดนมังกร ซึ่งซื้อสตาร์ทอัพพัฒนาเอไอไปเมื่อไม่นานนี้ และวางแผนริเริ่มผสานระบบการสั่งงานด้วยเสียงเข้าไปในอุปกรณ์สมาร์ทโฮม

อย่างไรก็ดี ระบบสมาร์ทโฮมอาจไม่จำเป็นต้องสั่งการด้วยเสียงเสมอไปโดยเมื่อไม่นานนี้ มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียชื่อดัง ทดลองพัฒนา Jarvis ระบบสมาร์ทโฮมขับเคลื่อนด้วยเอไอที่สั่งการผ่านข้อความ โดยซัคเกอร์เบิร์กให้เหตุผลว่า ระบบสั่งงานผ่านข้อความรบกวนคนรอบข้างน้อยกว่าการสั่งการผ่านเสียง

นอกจากนี้ ซัคเกอร์เบิร์ก เสริมว่า ปริมาณการส่งข้อความผ่านแชตเพิ่มขึ้นมากกว่าการส่งข้อความเสียง ซึ่งถือเป็นการบ่งบอกว่าในอนาคตอุปกรณ์อัจฉริยะคงไม่สามารถเน้นที่การใช้งานเสียงได้เพียงอย่างเดียว เพราะการสั่งการผ่านข้อความก็จำเป็นเช่นกัน

แม้แนวคิดการสร้างอุปกรณ์สมาร์ทโฮมสั่งการด้วยข้อความ ดูจะสวนกระแสตลาดอุปกรณ์ดังกล่าวซึ่งส่วนใหญ่มีระบบสั่งงานด้วยเสียง แต่ ยูนิฟายด์อินบ็อกซ์ บริษัทไอทีขนาดเล็กในสิงคโปร์ ได้ให้บริการเชื่อมต่ออุปกรณ์ในบ้านผ่านข้อความแล้ว โดยผู้ใช้สามารถเพิ่มอุปกรณ์ที่ต้องการเชื่อมต่อด้วยการป้อนเลขซีเรียลนัมเบอร์ผ่านบัญชีผู้ใช้หรือผ่านหมายเลขโทรศัพ

โทบี รัคเกิร์ท ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของยูนิฟายด์ อินบ็อกซ์เปิดเผยว่า บริการนี้ของบริษัทเปรียบเสมือนตัวแปลภาษาระหว่างมนุษย์และอุปกรณ์ต่างๆ โดยขณะนี้บริษัทดังกล่าวรองรับการสั่งงานด้วยข้อความผ่านแอพพลิเคชั่นแชตราว 20 แอพ รวมถึงผ่านทวิตเตอร์และเอสเอ็มเอสด้วยเช่นกัน

ด้าน เจสัน เจมสัน ผู้อำนวยการฝ่าย วัตสัน อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ จากไอบีเอ็ม มองว่า ในปัจจุบันอุปกรณ์สมาร์ทโฮมส่วนใหญ่เชื่อมต่อกันโดยอาศัยสมาร์ทโฟนเป็นตัวกลาง และการส่งข้อความผ่านแอพพลิเคชั่นแชตบนสมาร์ทโฟนก็เป็นวิธีการที่ผู้ใช้คุ้นเคยอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี บริษัทบางแห่งมองไปไกลกว่าการสั่งการอุปกรณ์ผ่านเสียงหรือข้อความ ด้วยการเพิ่มความอัจฉริยะให้อุปกรณ์ ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้และคาดการณ์พฤติกรรมการใช้งานของมนุษย์ เช่น แอลจี ที่เริ่มใส่เทคโนโลยี Deep Learning เข้าไปเพื่อให้อุปกรณ์สามารถหลีกเลี่ยงสิ่งกีดขวาง หรือเติมถาดทำน้ำแข็งตามการใช้งานของผู้ใช้

ภาพ...เอเอฟพี