posttoday

กสทช.เปิดชิงคลื่น2600ปีนี้

23 กุมภาพันธ์ 2560

กสทช.เร่งประมูลคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ หวังกวาดรายได้เข้ารัฐกว่า 5.39 แสนล้าน

กสทช.เร่งประมูลคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ หวังกวาดรายได้เข้ารัฐกว่า 5.39 แสนล้าน

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า จะเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมหลายด้าน โดยเฉพาะโครงข่ายพื้นฐานแบบไร้สาย ซึ่งปัจจุบันมีคลื่นความถี่ใช้งานอยู่ 420 เมกะเฮิรตซ์เท่านั้น ทำให้การใช้งานข้อมูลบนมือถือเริ่มมีปัญหา

"บริษัท อสมท ยินดีจะคืนคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ ให้มาประมูลใหม่ กสทช.รอให้มีการประกาศกฎหมายฉบับใหม่ที่จะทำให้สามารถเยียวยาเจ้าของคลื่นได้ เมื่อกฎหมายใหม่ประกาศใช้ในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.นี้ ไม่ช้ากว่าเดือน ธ.ค.ปีนี้ จะสามารถเปิดประมูลได้แน่นอน" นายฐากร กล่าว

ทั้งนี้ สำหรับคลื่น 2600 เมกะ เฮิรตซ์ คาดว่าจะเปิดประมูลได้ 3-4 ใบอนุญาต ขณะที่คลื่น 1800 เมกะ เฮิรตซ์ จะเปิดประมูล 3 ใบอนุญาต ในปี 2561 ส่วนคลื่น 850 เมกะเฮิรตซ์ อยู่ภายใต้สัมปทานดีแทคจนถึงวันที่ 30 ก.ย. 2561 แต่คาดว่าจะเปิดประมูล ภายในปี 2561 เช่นเดียวกัน เพราะต้อง เตรียมการล่วงหน้าอย่างน้อย 6 เดือน และคลื่น 700 เมกะเฮิรตซ์ ที่เดิม ใช้งานด้านบรอดแคสต์ จะย้ายไปใช้ ความถี่อื่น เพื่อให้นำกลับมาใช้งาน ด้านโทรคมนาคมตามที่ไอทียูกำหนด ในส่วนนี้คาดว่าจะมีการประมูลได้ 3 ใบอนุญาตในปี 2563

"ตามแผนการประมูลของ กสทช. จะเปิดประมูลและใช้งานได้อีก 380 เมกะเฮิรตซ์ รวมเป็น 800 เมกะเฮิรตซ์ สูงกว่าข้อกำหนดของไอทียู ซึ่งทำให้เราก้าวขึ้นเป็นที่หนึ่งในอาเซียนและวงเงินที่คาดว่าจะได้รับจากการประมูลนั้นจะอยู่ที่ 5.39 แสนล้านบาท ซึ่งราคานี้ที่เป็นราคาเริ่มต้นของใบอนุญาต 7-8 ใบอนุญาตที่ กสทช.จะเดินหน้าเปิดประมูลต่อจากนี้ไป" นายฐากร กล่าว

สำหรับโครงข่ายพื้นฐานแบบมี สายหรือไฟเบอร์ออปติกจะเร่งขยาย การลงทุนวางโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้าน ทั่วประเทศ ซึ่งโครงการนี้ 30,613 หมู่บ้านอยู่ภายใต้การบริการของเอกชน กระทรวงดิจิทัลดำเนินการ 24,700 หมู่บ้าน ส่วน กสทช.จะดำเนินการ 19,652 หมู่บ้าน ซึ่งจะทยอยเปิดใช้บริการในปีนี้และแล้วเสร็จในปี 2561

นายฐากร กล่าวว่า หลังจากประเทศ ไทยเข้าสู่ไทยแลนด์ 4.0 จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งประชาชนจะต้องปรับตัวรับผ่านการศึกษาและสร้างภูมิคุ้มกันที่รู้เท่าทันโลกยุคใหม่ ต้องปรับตัวรับกับสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจที่เปลี่ยนไปสู่โลกดิจิทัล เต็มรูปแบบ รวมถึงรับกับประสิทธิภาพการทำธุรกิจที่สูงขึ้นเมื่อเทคโนโลยีไอซีทีเข้ามาสนับสนุนแรงงาน