posttoday

อุ๊คบีมอลล์โบกมือลาไทย สะท้อนจุดเดือดอี-คอมเมิร์ซ

18 กุมภาพันธ์ 2560

ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ มูลค่า 2.4 แสนล้านบาท เป็นตลาดที่แข่งขันรุนแรง จากผู้เล่นรายใหญ่ที่ต่างเข้ามาทำตลาด

โดย...ทีมข่าวไอทีโพสต์ทูเดย์

มูลค่าตลาดอี-คอมเมิร์ซที่สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ ETDA(เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม คาดการณ์ของปี 2559 ไว้ว่าจะมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดถึง 12.42% หรือมูลค่ารวมกว่า 2.52 ล้านล้านบาท

แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซที่กวาดส่วนแบ่งตลาดไปได้มากที่สุด คงหนีไม่พ้นรายใหญ่จากต่างประเทศและการขายผ่านโซเชียลมีเดียที่ไม่สามารถเก็บตัวเลขชัดเจนได้ การแข่งขันอย่างดุเดือดนี้ทำให้เว็บไซต์ขายสินค้าจากประเทศญี่ปุ่น อย่างอุ๊คบี มอลล์ (Ookbee Mall) ตัดสินใจปิดตัวลง เพื่อลดภาระต้นทุนและการแข่งขันที่ต้องเผาเงินแข่งกันอย่างมหาศาล

ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อุ๊คบี เปิดเผยถึงการประกาศปิดให้บริการเว็บไซต์อุ๊คบี มอลล์ ว่า บริษัทปิดแค่หน้าเว็บไซต์ที่ให้บริการสั่งซื้อสินค้าทั่วไป แต่ยังมีช่องทางการซื้อขายสินค้าแบบอี-คอมเมิร์ซอยู่

ตัวอย่างเช่น ถ้าจะสั่งซื้อหนังสือ ก็ยังสามารถสั่งผ่านอุ๊คบีได้ หรือถ้าต้องการซื้อเครื่องสำอางก็สั่งจาก C Channel ได้ เพียงแต่ไม่ได้มีแคมเปญหรือโปรโมชั่นแจ้งไปยังอีเมลของลูกค้า หรือโฆษณาผ่านช่องทางต่างๆ ในชื่อของอุ๊คบี มอลล์ แล้วเท่านั้น

ทั้งนี้ ณัฐวุฒิ ยังกล่าวอีกว่า การเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพจะปิดยูนิตการขายใดในระบบแบบเงียบๆ ก็ได้ แต่ด้วยความที่เราต้องการความชัดเจนในการทำธุรกิจแบบเอสเอ็มอีที่มีการเติบโตจึงอยากจะซื่อสัตย์กับลูกค้าไม่ใช่หายไปเฉยๆ เพื่อให้ลูกค้ามั่นใจในธุรกิจอื่นๆ ของบริษัทเราด้วยว่าจะไม่หนีหายไป

สำหรับการประกาศครั้งนี้เป็นการแจ้งลูกค้าล่วงหน้า 3 เดือน และแจ้งทีมพนักงานกว่า 90 คน ก่อนล่วงหน้า โดยคนที่สมัครใจทำงานในตำแหน่งอื่นๆ ของบริษัทก็ยังคงร่วมงานกันต่อ แต่ถ้าสมัครใจลาออก ทางเราก็จ่ายเงินชดเชยอย่างเหมาะสม

“การประกาศปิดเว็บไซต์อุ๊คบี มอลล์นั้น ไม่ใช่เพราะเราขาดทุนหรือไม่มีเงินทำธุรกิจต่อ แต่มองว่า ถ้าใช้เงินทุนในจำนวนที่เท่ากันสานต่อธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในยุคที่การแข่งขันสูงและมีรายใหญ่เข้ามาในตลาด อาจจะไม่คุ้มเท่ากับการใช้เงินทุนที่เท่ากันเดินหน้าธุรกิจดิจิทัลที่มีการเติบโตที่ดีกว่า” ณัฐวุฒิ กล่าว

นอกจากนี้ ไม่อยากให้มองว่าการปิดเว็บไซต์อุ๊คบี มอลล์ เป็นสัญญาณบอกว่าอี-คอมเมิร์ซกำลังถึงทางตันเพราะอุ๊คบี มอลล์ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของธุรกิจในเครืออุ๊คบี ที่ต้องการจับตลาดเฉพาะกลุ่ม อีกทั้งไม่ต้องการที่จะไปแข่งขันกับรายใหญ่ในตลาดที่เป็นแพลต ฟอร์มขายสินค้าแบบเดียวกัน

ตลาดอี-คอมเมิร์ซของไทยมีการเติบโตมาก อีกทั้งการแข่งขันก็ยังถือว่ารุนแรงจากการเข้ามาของรายใหญ่ทั้งอาลีบาบา อเมซอน หรือราคูเท็น ซึ่งทุกประเทศมีทั้งสำเร็จและล้มเหลวเป็นเรื่องธรรมดา เพราะต่างก็ต้องใช้เม็ดเงินมหาศาลในการทำตลาดของแต่ละประเทศเช่นกัน

ดังนั้น จะใช้กรณีอุ๊คบี มอลล์ มาตัดสินว่าภาพรวมอี-คอมเมิร์ซกำลังไปไม่รอดก็คงไม่ได้ เพราะภาพใหญ่ของตลาดอี-คอมเมิร์ซยังมีตัวเลขการเติบโตทุกปี

ขณะที่การทำธุรกิจแบบนี้ต้องมีเงินทุนในการอุดหนุน (Subsidise) สินค้าที่จะนำมาขายในเว็บ เพราะคนที่เข้ามาซื้อสินค้าออนไลน์ย่อมคาดหวังว่าต้องได้สินค้าราคาถูกกว่าหน้าร้าน ถ้าแพงกว่าหรือเท่ากันลูกค้าจะเลือกไปซื้อที่ห้างสรรพสินค้าดีกว่า เพราะได้ของทันที ทั้งยังได้เห็นและจับสินค้าจริงก่อนใช้งาน หากการขายออนไลน์ไม่มีโปรโมชั่นหรือส่วนลดที่ดึงดูดใจก็ยากที่จะขายสินค้าได้

ดังนั้น แม้ว่าตลาดอี-คอมเมิร์ซยังมีโอกาสมากก็จริง แต่ถ้าทำเป็นแพลตฟอร์มกลางแบบรายใหญ่ ก็ใช่ว่าจะมีโอกาสเติบโตเหมือนกันทั้งหมด หากมีรายใดเติบโตก็เท่ากับว่ารายอื่นต้องมีส่วนแบ่งตลาดลดลง ดังนั้นถ้ารายใดมีเงินทุนน้อยกว่าไปต่อไม่ได้ก็อาจต้องปิดตัวลง

ในขณะที่รายย่อยที่เป็นเจ้าของสินค้าเองและขายในโซเชียลมีเดียอย่างอินสตาแกรมหรือเฟซบุ๊กนั้น ยังคงอยู่ได้อย่างแน่นอน ยิ่งถ้าเป็นเจ้าของกิจการระดับเอสเอ็มอีมาทำเองเพราะต้นทุนไม่สูง ไม่ต้องแบ่งรายได้ให้แก่ใคร รวมทั้งไม่ต้องลงทุนเรื่องเทคโนโลยีมหาศาลเท่ากับเจ้าของแพลตฟอร์ม

ทั้งนี้ ถ้าอยากอยู่รอดสำหรับรายใหม่ที่จะเข้ามาในตลาด หรือรายที่มีอยู่เดิม อาจต้องปรับตัวหาจุดแข็งให้ชัดเจนต่างจากรายใหญ่ ต้องจับตลาดเฉพาะกลุ่มให้ตรงจุดเพื่อให้ลูกค้าที่ต้องการซื้อของนึกถึงร้านค้าเราก่อนแพลตฟอร์มอื่นๆ

อุ๊คบีมอลล์โบกมือลาไทย สะท้อนจุดเดือดอี-คอมเมิร์ซ อุ๊คบี มอลล์

ด้าน ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า กล่าวว่า การปิดกิจการอุ๊คบี มอลล์ เพราะเป็นธุรกิจที่ไม่มีความแข็งแกร่ง ต้องยอมรับว่าอุ๊คบีมีความแข็งแกร่งที่คอนเทนต์ หรือว่าตัวเองเป็นร้านหนังสือออนไลน์ บริการผ่านทางแอพพลิเคชั่นให้ลูกค้าดาวน์โหลดเพื่ออ่านคอนเทนต์ที่ต้องการ

ขณะที่สินค้าที่อุ๊คบี มอลล์ จำหน่ายจากกลุ่มทุนญี่ปุ่น เชื่อว่าไม่ตรงกับความต้องการของตลาดในไทย การตอบรับหรือรายได้จึงน้อย

ประเด็นที่ต้องจับตามองนับจากนี้ไป คือ ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซมูลค่า 2.4 แสนล้านบาท เป็นตลาดที่แข่งขันรุนแรง จากผู้เล่นรายใหญ่ที่ต่างปักธงเข้ามาทำตลาด ไม่ว่าจะเป็นอาลีบาบาเข้ามาซื้อกิจการลาซาด้า กลุ่มเซ็นทรัลซื้อกิจการเว็บไซต์สินค้าแฟชั่นซาโลร่า

นอกจากนี้ ยังมีค่ายเกาหลีภายใต้ชื่อ อีเลฟเว่นสตรีท แพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซที่ได้รับความนิยมสูงสุดในเกาหลี เข้ามาร่วมวงแข่งขัน ทำให้รายเล็กหรือกลุ่มสตาร์ทอัพที่ไม่มีความแข็งแกร่งต้องปิดกิจการ และปีนี้คาดว่าจะมีหลายรายเริ่มได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน 

ท้ายที่สุดแล้ว จากแนวโน้มการพัฒนาของเทคโนโลยี การใช้มือถือที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคครอบคลุมในชีวิตประจำวัน ย่อมส่งอานิสงส์ให้ภาพรวมตลาดอี-คอมเมิร์ซยังเติบโตต่อเนื่องต่อไป ในขณะที่การแข่งขันก็จะรุนแรงดุเดือดตามไปด้วย ดังนั้นสิ่งสำคัญคือกลยุทธ์และโมเดลธุรกิจที่จะทำให้อยู่รอดและแข่งขันได้นั่นเอง