posttoday

เร่งแก้ก่อนสาย "เด็กเสมือนยุค4.0" WEFชี้ยุคนี้ต้องมีความฉลาดทางดิจิทัล

28 พฤศจิกายน 2559

พ่อแม่และครูต้องพาเด็กเรียนรู้โลกทั้งสองแบบควบคู่กัน มิฉะนั้นเด็กจะกลายเป็น "เด็กเสมือน" ไม่ใช่ "เด็กในโลกแห่งความจริง"

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

“เรารู้สึกไม่โอเคอยู่แล้วที่ลูกเราติดไอแพดหนักมากขนาดตื่นมาก็ดู กินข้าวก็ยังดู แต่นี่มันเลยเถิดถึงขั้นที่น้องเดินถือไอแพดดูจนตกบันได โชคดีที่ครั้งนี้ไม่เป็นอะไร แต่เรารู้แล้วว่าเราจะปล่อยวางเรื่องนี้อีกไม่ได้ ต้องทำอะไรสักอย่างแล้วจริงๆ”

ไปรยา จันทร์สมบูรณ์ หรือ “คุณเก๋” แม่ของน้องมิกิ วัย 7 ขวบ คือหนึ่งในหลายๆ ครอบครัวที่ประสบกับปัญหา “ไอแพดเป็นใหญ่” เพราะไม่ว่าจะทำอะไรน้องมิกิจะมีไอแพดอยู่ในสายตาเสมอ และจากเดิมที่เคยเป็นเด็กว่านอนสอนง่าย เดี๋ยวนี้ก็กลายเป็นเด็กขี้หงุดหงิด ไม่มีความอดทน ไม่ชอบการรอคอย และร้องไห้โวยวายเมื่อไม่ได้ดั่งใจ

เพราะในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวัน ทุกคนต่างใจจดจ่ออยู่กับอุปกรณ์สื่อสารในมือมากกว่าจะพูดคุยปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ก็คงจะไม่แปลกเท่าไหร่นักหากเราจะเห็นเด็กยุคนี้มีของติดไม้ติดมือเป็นไอแพด หรือโทรศัพท์มือถือ แทนที่จะเป็นหนังสือเล่มโปรด หุ่นยนต์ หรือตุ๊กตา

กระนั้นแม้ว่าการใช้สื่อดิจิทัลยังมีความเสี่ยง และเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ การเรียนรู้ที่จะใช้อย่างเกิดประโยชน์จึงเป็นเรื่องสำคัญ ผู้ปกครองหลายๆ คนก็เห็นพ้องกันว่าข้อดีของเทคโนโลยีใช่ว่าจะไม่มีเลย เพราะเทคโนโลยีถ้ารู้จักใช้ให้เป็น ใช้ให้ดี และมีผู้ปกครองคอยชี้แนะ ก็มีประโยชน์มหาศาลต่อการเรียนรู้ของเด็กเช่นกัน

ในวาระ “วันประถมศึกษาแห่งชาติ” ซึ่งตรงกับวันที่ 25 พ.ย.ของทุกปี สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) จึงได้ประมวลข้อมูลจากเวิลด์อิโคโนมิคฟอรั่มที่ระบุถึงคุณลักษณะและทักษะชีวิตในโลกยุคดิจิทัลหรือ “ความฉลาดทางดิจิทัล” (Digital Intelligence : DQ) ที่จำเป็นสำหรับเด็กในศตวรรษที่ 21 ซึ่งแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับ คือ

ระดับที่ 1 การเป็นพลเมืองในยุคดิจิทัล (Digital Citizenship) : ความสามารถในการใช้เทคโนโลยีและสื่อใน โลกยุคดิจิทัลได้อย่างเกิดประโยชน์ มีความรับผิดชอบและปลอดภัย

ระดับที่ 2 ความคิดสร้างสรรค์ในยุคดิจิทัล (Digital Creativity) : ความสามารถในการผนวกทักษะในการสร้างสรรค์ข้อมูลและเปลี่ยนความคิดใหม่ๆ ให้เป็นความจริงด้วยการใช้เครื่องมือดิจิทัล

ระดับที่ 3 ผู้ประกอบการยุคดิจิทัล (Digital Entrepreneurship) ความสามารถในการใช้สื่อดิจิทัลและเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาที่ท้าทายใหม่ๆ ในโลก หรือเพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆ

ข้อมูลยังระบุด้วยว่า เด็กเยาวชนล้วนแล้วแต่มีความเสี่ยงต่อภัยในโลกไซเบอร์ เช่น ภาวะการเสพติดเทคโนโลยี การถูกกลั่นแกล้งในโลกไซเบอร์ เป็นต้น โดยพวกเขาสามารถซึมซับพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์จากโลกไซเบอร์ซึ่งส่งผล กระทบต่อการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ฉะนั้นในขณะที่เด็กคนอื่นๆ อาจจะสามารถต่อสู้กับความท้าทายในการแก้ปัญหาต่างๆ ได้ แต่เด็กกลุ่มเสี่ยง อาทิ กลุ่มที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เด็กชน กลุ่มน้อย หรือเด็กที่ประสบปัญหาความยากจนเหล่านี้ พวกเขาจะมีความเสี่ยงที่มากกว่า และยังเผชิญกับผลลัพธ์ที่รุนแรงยิ่งกว่าด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่านักการศึกษาจะมีแนวโน้มที่คิดว่าเยาวชนเหล่านี้สามารถเลือกเรียนรู้ทักษะเหล่านี้ด้วยตนเอง หรือครอบครัว แต่เมื่อพิจารณาถึงช่องว่างระหว่างวัย จะพบว่าเด็กเยาวชนในปัจจุบันที่เรียกว่า “ยุค Z” นั้นเป็นรุ่นแรกที่เติบโตขึ้นท่ามกลางยุคของมือถือและโซเชียลมีเดียอย่างแท้จริง แล้วจะคาดหวังใหผู้ปกครองหรือครูเรียนรู้ที่จะสอนให้เด็กในยุคปัจจุบันมีทักษะเท่าทันการใช้สื่อในยุคดิจิทัล

สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สาขาวิชาประถมศึกษา กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวว่า ทักษะยุคดิจิทัลเป็นทักษะร่วมของทุกคนในสังคม และในฐานะครูก็ต้องปรับเปลี่ยนทิศทางการเรียนรู้ร่วมกับเด็กในยุคนี้ให้ได้ โดย 1.หลักสูตรต้องลดเนื้อหา และต้องผสมผสานทักษะในยุคดิจิทัลเข้ากับทักษะอื่นๆ เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้เท่าทันยุคสมัย 2.พ่อแม่และครูต้องปรับตัวเองจาก “ผู้สอน” เป็น “กระบวนการ” เชื่อมโยงโลกความเป็นจริงกับโลกเสมือน และพาเด็กเรียนรู้โลกทั้งสองแบบควบคู่กันไป มิฉะนั้นเด็กจะกลายเป็น “เด็กเสมือน” ไม่ใช่ “เด็กในโลกแห่งความจริง” และ 3.ปรับมายาคติเรื่องการสอน เปลี่ยนเด็กให้เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ โดยเฉพาะครูผู้สอนในระดับประถมศึกษาที่มักถูกมองว่าต้องอัดข้อมูลให้ผู้เรียนมากที่สุด เพราะฉะนั้นครูประถมต้องก้าวให้พ้นมายาคติเก่า รู้เท่าทันสื่อให้มาก

ทักษะพลเมืองยุคออนไลน์

สำหรับทักษะที่เด็กเยาวชนยุคใหม่ควรเรียนรู้ในการเป็นพลเมืองในยุคดิจิทัลตามที่เวิลด์อิโคโนมิคฟอรั่ม (WEF) ระบุไว้ คือ

1.ทักษะในการรักษาอัตลักษณ์ที่ดีของตนเองไว้ได้อย่างดีทั้งในโลกออนไลน์และโลกความจริง

2.ทักษะในการจัดสรรเวลาหน้าจอ : ความสามารถในการบริหารเวลาที่ใช้อุปกรณ์ยุคดิจิทัล และสามารถการทำงานที่หลากหลายในเวลาเดียวกันได้

3.ทักษะในการรับมือกับการคุกคามทางโลกออนไลน์ : ความสามารถในการรับรู้ และรับมือการคุกคามข่มขู่บนโลกออนไลน์ได้อย่างชาญฉลาด

4.ทักษะในการรักษาความปลอดภัยของตนเองในโลกออนไลน์ : ความสามารถในการป้องกันข้อมูลด้วยการสร้างระบบความปลอดภัยที่เข้มแข็ง และป้องกันการโจรกรรมข้อมูลหรือการโจมตีออนไลน์ได้

5.ทักษะในการรักษาข้อมูลส่วนตัว : มีดุลพินิจในการบริหารจัดการข้อมูลส่วนตัว โดยเฉพาะการแชร์ข้อมูลออนไลน์เพื่อป้องกันความเป็นส่วนตัวทั้งของตนเองและผู้อื่น

6.ทักษะการคิดวิเคราะห์มีวิจารณญาณที่ดี : ความสามารถในการวิเคราะห์แยกแยะระหว่างข้อมูลที่ถูกต้องและข้อมูลที่ผิด ข้อมูลที่มีเนื้อหาดีและข้อมูลที่เข้าข่ายอันตราย

7.ทักษะในการบริหารจัดการข้อมูลที่ผู้ใช้งานมีการทิ้งไว้บนโลกออนไลน์ : ความสามารถในการเข้าใจธรรมชาติของการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัลว่าจะหลงเหลือร่องรอยข้อมูลทิ้งไว้เสมอ

8.ทักษะการใช้เทคโนโลยีอย่างมีจริยธรรม : ความเห็นอกเห็นใจ และเข้าใจความรู้สึกผู้อื่นบนโลกออนไลน์