posttoday

นักวิชาการชำแหละพรบ.คอมฯใหม่พาร่วงมากกว่ารุ่ง

23 พฤศจิกายน 2559

วงเสวนาชี้ ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯใหม่ ไม่ตอบโจทย์นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล แถมสร้างความหวาดกลัว ถูกกำหนดให้เป็นเครื่องมือเซ็นเซอร์

วงเสวนาชี้ ร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯใหม่ ไม่ตอบโจทย์นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล แถมสร้างความหวาดกลัว ถูกกำหนดให้เป็นเครื่องมือเซ็นเซอร์

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อประชาชน (iLaw) เครือข่ายพลเมืองเน็ต (Thai netizen Network) และสมาคมผู้สื่อข่าวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) จัดงานเสวนา “เกาะขอบสนาม สนช.วิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ” โดยมี น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล นักแปล นายอาทิตย์ สุริยะวงศ์กุล เครือข่ายพลเมืองเน็ต น.ส.ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายคณาธิป ทองรวีวงศ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซ็นต์จอห์น และนายจอมพล พิทักษ์สันตโยธิน คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยามหิดล ร่วมเสวนา

น.ส.สฤณี กล่าวว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวเปิดช่องให้มีการตีความอย่างกว้างขวาง จุดประสงค์ของกฎหมายลักษณะนี้ ต่างประเทศมีไว้เพื่อจัดการเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ ผู้ร้องคือเจ้าของลิขสิทธิ์ แต่ของไทยผู้ร้องคือเจ้าหน้าที่รัฐ แล้วก็ตีความฐานความผิดกันเอาเอง พร้อมกับมีของใหม่คือ มีการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูล ให้มีอำนาจร้องศาล หากพบความผิดฐานขัดต่อศีลธรรมอันดี

"โดยการพิจารณาไม่มีหลัก มอบให้ศาลตีความเอา ขณะเดียวกันก็มอบให้ ผู้ให้บริการเป็นผู้รับผิดชอบ ตามมาตรา 18 (3) แต่ไม่มีกระบวนการตรวจสอบถ่วงดุล เปิดช่องให้ร้องเรียนเยียวยาคำสั่งจากรัฐได้ ทางออกเดียวคือต้องไปร้องศาลปกครอง ล่าสุดที่อังกฤษออกกฎหมายสอดแนม ถูกตำหนิว่า ขัดหลักสิทธิมนุษยชน แย่ที่สุดเท่าที่มีมา แต่ยังมีขั้นตอนเยียวยา"น.ส.สฤนี กล่าว

ด้านนายคณาธิป กล่าวว่า เข้าใจว่ากฎหมายฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ต้องการส่งเสริมกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม แต่เนื้อหามาตรา 5-9 ที่ควรมุ่งเน้นไปที่การปราบปรามอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ กลับไม่เป็นเช่นนั้น แต่ในทางกลับกันพยายามมุ่งเน้นการควบคุมเนื้อหาด้วยการเซ็นเซอร์ มาตรา 14 ก็เปิดองค์ประกอบไว้กว้างขวาง พยายามป้องกันการหลอกลวงของการค้าออนไลน์ ที่สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ ทว่า ก็เปิดช่องให้ถูกนำไปใช้กับกับกฎหมายหมิ่นประมาทที่อยู่ในกฎหมายอาญาได้เหมือนเดิม สอดคล้องกับมาตรา 15 สั่งให้ผู้ให้บริการเป็นผู้รับผิดชอบ

ทั้งนี้ โดยละเอียดให้เป็นไปตามที่ประกาศไว้ในกฎกระทรวง จึงเกิดการตั้งข้อสังเกตว่าทำไมจึงให้เนื้อหารายละเอียดไปอยู่ในประกาศกระทรวงที่มีศักดิ์เป็นรองจากกฎหมาย ผลของมาตรานี้ ยกตัวอย่างเช่น เว็บมาสเตอร์ถูกสั่งให้นำเอาข้อมูลที่มีกฎหมายออกจากหน้าเว็บ เว็บมาสเตอร์ก็ต้องดำเนินการเพราะต้องระวังตัวเอง ส่งผลให้อาจเกิดการเซ็นเซอร์ตนเองตั้งแต่ก่อนเผยแพร่เนื้อหาเพื่อระวังตัวเอง

ส่วนผู้แจ้งความผิดก็เปิดช่องให้ใครก็ได้สามารถแจ้งได้ ไม่จำกัดเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐ ทำได้ทันทีโดยศาลไม่ต้องสั่ง ส่วนมาตรา 20 ไปไกลกว่านั้น เจ้าหน้าที่รัฐสามารถร้องศาลให้สั่งปิดเว็บได้ทันที นอกจากนี้ มาตรา 18-19 เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคล ก็เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบได้ทันที ทั้งยังพยายามขยายฐานให้ครอบคลุมความผิดอาญาตามกฎหมายอื่นด้วย จากนี้เจ้าหน้าที่ก็สามารถตรวจคอมพิวเตอร์ของผู้ถูกกล่าวหาตามความผิดอะไรก็ได้ ที่มีคอมพิวเตอร์มาเกี่ยวข้อง  

จากนั้น เวทีเสวนาเปิดรับชมการถ่ายทอดงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นร่างพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จากรัฐสภา พร้อมทั้งวิเคราะห์เนื้อหาจากคำชี้แจงของสมาชิกสนช.ต่อคำถามของหน่วยงานเอ็นจีโอ เช่น แอมเนสตี้ ฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำประเทศไทย ต่อร่างดังกล่าว โดยเฉพาะมาตรา 14 (1) มีการชี้แจงว่า จะไม่ถูกนำไปใช้ร่วมกับกฎหมายหมิ่นประมาทของกฎหมายอาญาอีกต่อไป และมาตรา 16 ว่าด้วย การนำเข้าข้อมูลที่เป็นเท็จและการตัดต่อภาพบุคคลที่ตายไปแล้วว่า หากศาลมีคำสั่งว่า มีการกระทำเข้าข่ายตามมาตราดังกล่าว ข้อมูลเหล่านั้นต้องถูกทำลาย

โดยนายจอมพล กล่าวว่า มาตรา 14 (1) ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันอาชญากรรมไซเบอร์ แต่สุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็ยังสามารถฟ้องร่วมกับคดีหมิ่นประมาทได้อยู่ดี เพราะหากไม่ต้องการให้ฟ้องหมิ่นได้ ก็ต้องเอาออกจากพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่บอกว่าจะไม่ทำคือการแถ ขนาดหลักการและเหตุผลกับเนื้อหากฎหมายยังมีการเขียนขัดแย้งกันเรื่องการบังคับใช้ ร่วมกับกฎหมายอื่นที่มีกำหนดไว้ในมาตรา 20(3) ส่วนคำห้อยท้ายว่าต้องไม่ละเมิดศีลธรรมอันดี ก็ตีความยาก เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัว

สำหรับการคุ้มครองผู้ตายในกฎหมายอาญา 327 ระบุชัดว่า คุ้มครองการดูหมิ่นผู้ตายที่กระทบต่อบุคคลที่เกี่ยวข้องที่ยังมีชีวิตอยู่ ส่วนคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ จะทำหน้าที่เซ็นเซอร์เหมือนที่ให้ กบว. ตรวจสอบเนื้อหารายทีวีเหมือนที่ผ่านมา มันคือการนำเครื่องมือสมัยโบราณมาใช้กับยุคดิจิทัล

ด้าน น.ส.สฤณี กล่าวเสริมว่า มาตรา 16 ร้ายแรง เพราะไม่ใช่ลบ แต่ต้องทำลาย หากไม่ทำก็มีโทษ คำถาม คือ จะลงโทษรุนแรงกับการตัดต่อล้อเลียนที่กระจายอยู่ทั่วไปเพื่ออะไร อะไรคือสิ่งชี้วัดศีลธรรม สุจริตหรือไม่สุจริต ถ้ารู้ว่า อะไรคือปัญหาจากการใช้อำนาจรัฐก็ต้องปิดช่องไว้ สิ่งที่เวทีสนช.ไม่กล่าวถึงคือมาตรา 20 ที่หมายถึง single control ไม่ต่างจาก single gateway ที่กลัวกัน สิ่งที่ยังต้องติดตามต่อไปอีกคือ กฎหมายในชัดที่อ้างว่าต้องการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ ที่จะมีตามมาอีก เช่น ร่างกฎหมายความมั่นคงไซเบอร์

อย่างไรก็ตาม กฎหมายลักษณะนี้ไม่ตอบโจทย์นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล ซ้ำยังสร้างความหวาดกลัว นิยามความผิด ถูกกำหนดให้เป็นเครื่องมือเซ็นเซอร์โดยศูนย์กลางอำนาจ ไม่ต้องผ่านศาล รัฐพยายามส่งสัญญาณให้เชื่อใจ แต่กลไกไม่ได้สร้างความเชื่อใจ ล่าสุดฟรีดอมเฮ้าส์ก็จัดอันดับการมีเสรีภาพของไทยต่ำลงอย่างต่อเนื่อง เพราะเกิดการละเมิดสิทธิ กลั่นแกล้งคุกคาม

นายคณาธิป กล่าวว่า กฎหมายนี้ต้องเน้นปราบอาชาญากรรมไซเบอร์ ไม่ใช่ขยายขอบเขตไปเอาผิดคู่กับกฎหมายอื่น ผู้ใช้ที่ ไลค์ หรือแชร์ ต้องไม่เจอคุก หากพิจารณาตามหลักกฎหมายอาญาที่คลุมกฎหมายคอมพิวเตอร์และกฎหมายอื่นๆอยู่จะพบว่า มันไม่ผิดเลย ในเมื่ออัลกอริทึ่มมันประมวลผลมาให้เห็นแล้วเราไปกด จึงต้องมีการปรับทัศนคติเจ้าหน้าที่รัฐให้เข้ามจเจตนาของหลักการในกฎหมายอาญา 

ด้าน นายอาทิตย์ กล่าวว่า กำลังจะสามารถสั่งให้ลบประวัติศาสตร์กันได้ใช่หรือไม่ กรณีนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯเคยระบุว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาฯ 19 มีคนตายเพียงคนเดียว แน่นอนมันไม่จริง แต่มีความหมาย หากศาลบอกผิดตามมาตรา 14 แล้วต้องทำลาย แสดงว่า คนรุ่นใหม่อีก 10 ปีข้างหน้า จะไม่มีทางรู้เลยใช่ไหมว่านายสมัคร เคยพูดแบบนั้น

นอกจากนี้ การให้อำนาจเจ้าหน้าที่ในการสอบสวนสืบสวนตามมาตรา 18 สำหรับการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลโดยไม่ต้องมีหมายศาล ยิ่งการปิดกั้นเว็บไซต์มาตรา 19 มีความจำเป็นต้องขอหมายศาลอย่างเคร่งครัด แต่ก็ไม่ต้องทำ และมาตรา 26 การอุทธรณ์คำสั่ง ก็ถูกตัดทิ้งไป จากที่เคยมีในร่างแรก ระยะเวลาที่ผ่านมา สนช.ยิ่งร่างยิ่งถอยหลัง

น.ส.ฐิติรัตน์ กล่าวด้วยว่า มาตรา 14 เป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐในการใช้ดุลพินิจมากเกินไป ควรมีการเขียนให้ชัดเป็นกรณีว่า การกระทำไหนอาจเป็นการเข้าข่าย ผู้ที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ ประชาชนที่ต้องระมัดระวังการโพสต์ กระทบต่อบรรยากาศการแลกเปลี่ยนความเห็น ส่วนที่หวังจะพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลก็จะมีปัญหา คนไม่กล้าเข้ามาลงทุนเกี่ยวกับเซิรฟ์เวอร์ในประเทศไทย เนื่องจากติดขัดที่ปัญหาภาระของผู้ให้บริการ