posttoday

อี-คอมเมิร์ซอาเซียนพุ่ง คาดปี2020โตเกือบ2เท่า

29 กันยายน 2559

ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซอาเซียนพุ่ง 2 เท่า ภายในปี 2020 เวียดนามโตสูงสุดปีละ 20%

ธุรกิจอี-คอมเมิร์ซอาเซียนพุ่ง 2 เท่า ภายในปี 2020 เวียดนามโตสูงสุดปีละ 20%

นายคริส ต่วย เจิ่น นักวิเคราะห์ด้านอี-คอมเมิร์ซและเศรษฐกิจดิจิทัลของ Frost & Sullivan เปิดเผยว่า มูลค่าตลาดอี-คอมเมิร์ซใน 6 ชาติอาเซียน รวมถึงเวียดนาม จะขยายตัว 3.92 แสนล้านบาท ในปี 2015 พุ่งสูงถึง 8.82 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ภายในปี 2020 โดยเฉพาะเมื่อรวมมูลค่าตลาดธุรกิจบริการโรงแรมและจองตั๋วเครื่องบินเข้าไปด้วย

ทั้งนี้ เวียดนามเป็นประเทศที่อัตราการเติบโตของอี-คอมเมิร์ซขยายตัวเฉลี่ยปีละ 20% ประกอบกับจำนวนผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่สูงถึง 127 ล้านเครื่อง สำหรับประเภทอี-คอมเมิร์ซที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในอาเซียน ได้แก่ บริการอี-คอมเมิร์ซแบบ Peer-to-peer อย่าง Carousel ของสิงคโปร์ หรือ Tokopedia ของอินโดนีเซีย ขณะที่ตลาดนิชอี-คอมเมิร์ซ (Niche Market) ยังเติบโตได้ดีในสาขาการท่องเที่ยว การจัดส่งอาหาร ตลอดจนร้านค้าปลีก

นอกจากนี้ ตลาดอาเซียนจะได้รับอานิสงส์ของศักยภาพการเติบโตอี-คอมเมิร์ซในประเทศจีนที่จะก้าวขึ้นมาสร้างมูลค่าอันดับหนึ่งของโลกในอนาคต อีกทั้งระบบการซื้อขายออนไลน์ของร้านสะดวกซื้อในจีนยังมีเพียงแค่ 2.5% จากร้านค้าทั้งหมด ยังคงเป็นช่องว่างที่ดีของผู้ประกอบการจะเข้าไปช่วงชิงตลาดที่แข่งขันรุนแรง

"ผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซต่างเร่งยกระดับการให้บริการที่ไม่ใช่แค่ความได้เปรียบด้านราคาและการขนส่ง แต่ได้เริ่มขยายธุรกิจไปเป็นแบบ Online-to-Offline (O2O) เพื่อสร้างความซื่อสัตย์ต่อแบรนด์สินค้า อย่างไรก็ตาม ตลาดอี-คอมเมิร์ซในอาเซียนยังประสบปัญหาการชาระเงินผ่านระบบออนไลน์ เนื่องจากประชากรกว่าร้อยละ 90 ของทั้งหมดยังไม่มีบัตรเครดิต โดยเฉพาะบางประเทศอาเซียนที่ประชากรกว่าครึ่งไม่มีบัญชีธนาคาร" นายคริส กล่าว

นายยอง ลิม ผู้อำนวยการธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ SingPost กล่าวว่า แม้ว่าปัญหาการชาระเงินผ่านระบบออนไลน์จะเป็นเรื่องใหญ่ของตลาดอี-คอมเมิร์ซ แต่เทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบันนั้นสามารถสร้างช่องทางการชาระที่หลากหลายเพื่อตอบสนองปัญหาของผู้บริโภค อาทิ Stripe, Alipay or Apple Pay ซึ่งล้วนแต่เป็นการแก้ปัญหาดังกล่าวจากผู้ประกอบการรายใหญ่

ทั้งนี้ รัฐบาลแต่ละประเทศจำเป็นต้องสนับสนุนการลงทุนด้านเศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อดึงดูดกลุ่มทุนอย่าง Venture Capital (VC) เข้ามายกระดับสตาร์ทอัพให้พร้อมสำหรับการแข่งขันในภูมิภาค โดยเฉพาะด้านนวัตกรรมและช่องทางการชาระเงินที่หลากหลาย

สำหรับมูลค่าตลาดอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทย คาดว่าจะมีมูลค่า 2.5 ล้านล้านบาท ในปี 2559 โดยอี-คอมเมิร์ซแบบ B2C ของไทยมีอัตราการขยายตัวสูงในช่วงปี 2557-2558 โดยมีมูลค่า 7.29 แสนล้านบาท มากที่สุดในอาเซียน เมื่อวิเคราะห์เป็นค่าเฉลี่ยต่อหัวของประชากร การใช้จ่ายผ่านระบบอี-คอมเมิร์ซของไทยเมื่อเทียบกับชาติอาเซียนจะเป็นรองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย