posttoday

"อี-วอลเล็ต" ช็อปได้ ไม่ต้องถือเงินสด

25 กันยายน 2559

ปีหน้าเทรนด์นี้มาแน่ "อี-วอลเล็ต" ที่ตลาดเงินเมืองไทยมีแนวโน้มก้าวเข้าสู่การจับจ่ายรูปบบนี้อย่างเต็มตัว

โดย...ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์

กระเป๋าเงินยุคดิจิทัล หรือ อี-วอลเล็ต คือกระเป๋าเงินออนไลน์ที่จะช่วยให้การใช้จ่ายทำได้ง่ายขึ้น เพราะแค่มีสมาร์ทโฟนเครื่องเดียว คนเดินดินอย่างเราก็สามารถอยู่บ้าน หรือเดินตัวปลิวไปกิน เที่ยว ช็อปปิ้งซื้อสินค้าได้แล้ว โดยไม่ต้องพกเงินสดให้เป็นกังวลว่าจะถูกปล้น ขอแค่อย่าให้โทรมือถือหายเป็นใช้ได้ หรือถ้าหายก็สามารถแจ้งคอลเซ็นเตอร์ระบบมือถือค่ายนั้นๆ หรือคอลเซ็นเตอร์ของผู้ให้บริการกระเป๋าเงินออนไลน์ได้ ชีวิตช่างสะดวกสบาย

จากจำนวนเลขหมายโทรศัพท์มือถือทั้งประเทศไทยเกือบ 100 ล้านเลขหมาย ประมาณครึ่งหนึ่งถูกใช้งานบนสมาร์ทโฟน และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นอุปกรณ์เชื่อมต่อที่ตอบโจทย์และเข้ามาเปลี่ยนชีวิตและพฤติกรรมของคนไทยในการช็อปปิ้งออนไลน์มากขึ้น ทำให้ตลาดช็อปปิ้งออนไลน์ขยายตัว เช่นเดียวกับการชำระเงินผ่านโทรมือถือในไทย ที่เติบโตมากกว่าปีละ 20% ตั้งแต่ปี 2552-2557 ที่ผ่านมา

ส่งผลให้มีผู้ประกอบการธุรกิจอี-คอมเมิร์ซมากถึง 5 แสนราย และคนไทยซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ถึง 14.87 ล้านคน ทั้งนี้คาดการณ์ว่าในปี 2558 มูลค่าตลาดอี-คอมเมิร์ซในส่วนของการซื้อขายตรงไปยังผู้บริโภคจะสูงถึง 2.2 แสนล้านบาท

วิธีการใช้กระเป๋าเงินออนไลน์เหล่านี้ ไม่ยาก แค่ดาวน์โหลดแอพวอลเล็ตในโทรมือถือ หรือเข้าหน้าเว็บไซต์ของผู้ให้บริการ กระเป๋าเงินออนไลน์ที่รายหลักให้บริการอยู่ขณะนี้คือ แรบบิท ไลน์ เพย์ ที่มีสมาชิกใช้บริการประจำอยู่ 1.5 ล้านคน (ฝังอยู่ในไลน์โดยสมาชิกของไลน์จำนวน 33 ล้านคน สามารถเข้าไปสมัครใช้บริการได้) วอลเล็ต บาย ทรู มันนี่ เอไอเอส เอ็มเพย์ แจ๋ว วอลเล็ต บาย ดีแทค และแอร์เพย์ ของบริษัท การีนา บริษัทสัญชาติจีน แค่นี้คุณก็สามารถท่องโลกออนไลน์เพื่อจ่ายค่าสินค้าหรือซื้อของได้

กระเป๋าเงินอัจฉริยะนี้สามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ผ่านสมาร์ทโฟน โดยระบบจะกำหนดการทำธุรกรรมไว้ที่ 3 หมื่นบาท/ครั้ง เพื่อป้องกันการใช้จ่ายหรือขโมยเงินผ่านระบบออนไลน์จะมีบริการเสริม ไม่ว่าจะเป็น จ่ายบิล เติมเงินมือถือ โอนเงินและซื้อบัตรเงินสด ด้วยการผูกกับบัญชีธนาคารใดก็ได้ เพื่อความสะดวกในการโอนเงินเข้าระบบได้ง่ายขึ้น สูงสุดถึง 8 บัญชีธนาคาร

สำหรับอี-แบงก์กิ้ง หรือการทำธุรกรรมผ่านบริการของธนาคารทางมือถือ จะสมัครผ่านตู้เอทีเอ็มเพื่อใช้ในการโอน จ่ายหรือเติมเงินผ่านบัญชีธนาคารหลักเพียงแห่งเดียว

บริการทั้งสองรูปแบบดังกล่าว แล้วแต่ความจำเป็นของแต่ละบุคคล เพราะรูปแบบการให้บริการทั้งสองแอพพลิเคชั่นจะมีความสะดวกที่คล้ายคลึงกัน คือ อี-แบงก์กิ้ง การทำงานจะจำกัดเพียงธนาคารเดียวในการทำธุรกรรมต่างๆ ที่บริการกำหนด ในขณะที่อี-วอลเล็ตจะให้ผู้ใช้งานเลือกว่าจะรับบริการต่างๆ จากช่องทางใดหรือจ่ายเงินอย่างไรก็ได้ ถือว่าเป็นความสะดวกสบายที่ควรมีไว้ใช้งานในโทรมือถือ เพียงแต่การเข้าใช้งานนั้น ควรระวังไม่บอกพาสเวิร์ดหรือจดรหัสไว้ภายในเครื่อง เพราะหากมีการขโมยเครื่อง อาจเข้าใช้งานระบบได้ทันที และไม่ควรล็อกอินรหัสส่วนตัวค้างไว้ในเครื่องเพราะอาจถูกขโมยไปใช้งานได้ง่าย

"อี-วอลเล็ต" ช็อปได้ ไม่ต้องถือเงินสด

อรสุรางค์ กีรติชีวนันท์ ผู้อำนวยการด้านบริหารจัดการสินค้าออนไลน์ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ห้างค้าปลีกในกลุ่มบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (บีเจซี) กล่าวว่า แนวโน้มการใช้เงินสดจะลดลง อี-วอลเล็ต เป็นทางเลือกของผู้บริโภคในการชำระเงินเมื่อซื้อสินค้า ซึ่งในปีหน้าเทรนด์นี้มาแน่นอน ทางด้านการช็อปปิ้งออนไลน์ ซึ่งบริษัทกำลังเตรียมรับมือกับการมาของการจ่ายเงินในรูปแบบนี้เช่นกัน

บริการจ่ายเงินแบบอี-วอลเล็ตนั้น เริ่มเป็นที่นิยมมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ทั้งจากผู้ประกอบการโทรมือถือทั้งสาม ค่ายหลัก เพราะเป็นกระเป๋าเงินออนไลน์ที่มาช่วยให้การใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องง่ายขึ้น และยังมีบริการผ่านแอพพลิเคชั่นของเหล่าสตาร์ทอัพ ทั้ง แรบบิท ไลน์ เพย์, แอร์ เพย์, ดีพ พ็อกเกต ไปจนถึงการจ่ายเงินผ่านบัตรวีการ์ด สตาร์บัคส์การ์ดและแรบบิทการ์ด เป็นต้น

ผลสำรวจการใช้จ่ายซื้อสินค้าด้วยบัตรแรบบิทแทนการใช้เงินสดของผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าเป็นประจำ มองว่านอกจากจะเป็นความสะดวกในการจับจ่ายซื้อสินค้าทั้งร้านค้าในสถานีและอีกหลายร้านค้าในศูนย์การค้าขนาดใหญ่แล้ว ยังได้รับส่วนลดประมาณ 10% ด้วย ซึ่งถือว่าเยอะพอสมควร เพราะถ้าซื้อด้วยเงินสดยังไม่สามารถลดได้ถึง 10% และเหมือนถือบัตรใบเดียวใช้ได้ทั้งการเดินทางและซื้อสินค้า ซึ่งข้อดีของบัตรแรบบิทแตกต่างจากไอ-แบงก์กิ้ง คือสามารถใช้ซื้อสินค้ากับร้านค้าทั่วไปได้ทันที ไม่ใช่เฉพาะการซื้อสินค้าในออนไลน์

นอกจากนี้ ในช่วงก่อนสิ้นเดือนมนุษย์เงินเดือนนักรูดบัตรเครดิตหลายคนยังใช้บัตรเครดิตรูดเติมเงินให้กับแรบบิท แล้ว ใช้แรบบิทซื้อสินค้า ซื้ออาหารเครื่องดื่มตามร้านค้าต่างๆ ที่รับ ซึ่งมีร้านค้าชั้นนำจำนวนมากที่เปิดรับบัตรใบนี้ด้วย โดยข้อแตกต่างของบัตรเครดิต กับการใช้อี-วอลเล็ต คือ บัตรเครดิตส่วนใหญ่จะใช้กับยอดเงินมากและบางร้านค้าก็มีขั้นต่ำ แต่ถ้าอี-วอลเล็ตอย่างแรบบิท ยอดเท่าไรก็ได้ จึงมีคนโยกเงินในบัตรเครดิตมาใส่แรบบิท ส่วน
อี-วอลเล็ตของสตาร์บัคส์ในมุมมองของผู้ใช้ก็มีความสะดวกมากเช่นกัน เพราะสามารถบริหารจัดการเงินในอี-วอลเล็ตได้ผ่านสมาร์ทโฟน จะโยกเงินให้ใครก็ได้ หรือจะโยกเงินใส่บัตรสตาร์บัคส์ที่เป็นบัตรจริงๆ ไว้ใช้ก็ได้ ถ้าบัตรหายก็ยังจัดการโยกเงินไปบัตรอื่นได้ทันที

“ลูกค้าของเราอยู่ในวัย 18-40 ปี ที่นิยมใช้จ่ายผ่านแรบบิท ไลน์ เพย์ ท่องในโลกออนไลน์ เราจึงจะอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าโดยขยายไปใช้ในร้านค้านอกออนไลน์มากขึ้น โดยเดือนหน้าจะเริ่มใช้แรบบิท ไลน์ เพย์ จ่ายค่าอาหารในร้านแมคโดนัลด์ได้ และมีแผนว่าจะให้จ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส ต้นปีหน้า โดยเฟสแรกจะจ่ายร้านอาหาร 90 ร้านค้าในเครือข่ายแรบบิท การ์ด ที่มีอยู่ 4,000 จุดทั่วกรุงเทพฯ” วิทยา โตโพธิ์ยศสกุล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากลยุทธ์ บริษัท บางกอก สมาร์ทการ์ดซิสเทม กล่าว

แรบบิท ไลน์ เพย์ สะดวกกว่าการดาวน์โหลดแอพหรืออี-แบงก์กิ้ง เพราะแอพดาวน์โหลดจะคล้ายเว็บไซต์ที่ทำให้ยุ่งยากในการระบุตัวตน ต้องกรอกข้อมูลมากมาย ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการโอนเงิน แต่ถ้าใช้ แรบบิท ไลน์ เพย์ ก็แค่คลิกเข้าไปในแรบบิท ไลน์ เพย์ ที่ใช้งานง่ายและสะดวกกว่า เพราะคนส่วนใหญ่เป็นสมาชิกไลน์ อยู่แล้ว ในขณะที่ระบบความปลอดภัยเท่ากัน

เป้าหมายของแรบบิท ไลน์ เพย์ เริ่มให้บริการเมื่อเดือน เม.ย. 2559 หลังจากร่วมทุนกับไลน์เพย์และได้ฐานลูกค้าไลน์เพย์มา 1.5 ล้านคน ได้ตั้งเป้าภายใน 3-4 ปีแรก จะมีลูกค้าเพิ่มเป็น 8 ล้านคน จากฐานลูกค้าของไลน์ทั้งหมด 33 ล้านคน จากการใช้เงินลงทุน 450 ล้านบาท เพื่อขยายจุดบริการและจัดโปรโมชั่นดึงดูดลูกค้า

อภินันท์ ดาบเพ็ชร ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ผลิตภัณฑ์ทรูมันนี่วอลเล็ต และวีการ์ด บริษัท ทรู มันนี่ กล่าวว่า บริษัทเปิดให้บริการทรูมันนี่มาตั้งแต่ปี 2552 แล้ว แต่เพิ่งได้รับความนิยมในช่วงหลัง ซึ่งผู้ใช้งานเริ่มต้นคุ้นเคยจากการใช้งานบัตรแรบบิทหรือบัตรสมาร์ทเพิร์ส ซึ่งเป็นวิธีแบบออฟไลน์ก่อน และเมื่อมีการเติบโตของตลาดสมาร์ทโฟนคนไทยก็เริ่มรู้จักใช้จ่ายผ่านออนไลน์มากขึ้น

ทรูมันนี่ มียอดผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น 30% หรือ 8 แสนราย จากจำนวนลูกค้าที่ดาวน์โหลดทั้งหมด 6 ล้านรายจากปีที่ผ่านมา ถือว่ามีการใช้งานเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากเดือนก่อน พฤติกรรมการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นนั้น เดิมมาจากการวางกลยุทธ์ทำตลาดให้คนเข้ามาใช้งาน แต่ในกรณีของเซเว่น อีเลฟเว่นนั้น มียอดการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 2 เท่าและรักษาการเติบโตแบบสองเท่านี้มาได้ต่อเนื่อง

ในเอเชียกระเป๋าเงินออนไลน์เป็นที่นิยมมาก ที่ฮ่องกงสามารถใช้กระเป๋าเงินออนไลน์เติมเงิน จ่ายค่าโดยสารรถใต้ดิน และรถไฟฟ้า จ่ายค่าอาหารที่ร้านอาหารได้

ที่จีนนิยมใช้วีแชต แอพแชตสัญชาติจีน บริษัทลูกของบริษัทเทนเซ็นต์ เจ้าของเดียวกับสนุกดอทคอมในไทย ที่เป็นแอพอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เรียกว่าใหญ่กว่า อาลีบาบา โดยมีสมาชิกที่เป็นชาวจีนถึง 400 ล้านคน หรือ 40% ของประชากรจีนที่มีทั้งหมด 1,000 ล้านคน แม้แต่เกาหลี ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ยังใช้แอพนี้

ถ้าอี-วอลเล็ต มาแรงอย่างที่ว่าในปีหน้า เรียกได้ว่าประเทศไทยก็ข้ามขั้น แทนที่จะเริ่มต้นใช้ระบบชำระเงินผ่านโมบายแบงก์กิ้งที่กำลังเป็นที่นิยมในยุโรป กลับก้าวกระโดดมาสตาร์ทที่อี-วอลเล็ต แทน