posttoday

แจ้งสิทธิลูกค้าในช็อปมือถือ

15 สิงหาคม 2559

กสทช.จัดทำคำประกาศสิทธิผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ แจ้งสิทธิพื้นฐานของลูกค้าในทุกช็อปของค่ายมือถือ

กสทช.จัดทำคำประกาศสิทธิผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ แจ้งสิทธิพื้นฐานของลูกค้าในทุกช็อปของค่ายมือถือ

นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า แนวทางการทำงานในช่วงครึ่งปีหลังของ กสทช.จะเน้นการกำกับดูแลเชิงรุก โดยวันที่ 15 ส.ค.นี้ จะรณรงค์คำประกาศสิทธิผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ คือ สิทธิพื้นฐานของผู้ใช้บริการว่ามีอะไรบ้าง เช่น มีสิทธิย้ายค่ายเบอร์เดิม รายเดือนถ้าเลิกสัญญาจะทำอย่างไร ค้างค่าบริการ 2 เดือนถึงจะถูกตัดสาย หรือถูก SMS กวนใจจะทำอย่างไร เป็นต้น เนื่องจากสิทธิพื้นฐานเหล่านี้ผู้ใช้บริการบางรายยังไม่รู้

“คำประกาศสิทธิผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะถูกติดไว้ในช็อปของผู้ให้บริการมือถือทุกราย ซึ่งในส่วนของทรูมูฟและเอไอเอสจะมีผลทางกฎหมายด้วย เพราะเป็นหนึ่งในเงื่อนไขการใช้งานคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz หากไม่ปฏิบัติตามจะผิดเงื่อนไข ขณะที่ดีแทค ทีโอที และ กสท โทรคมนาคม ก็ต้องการรณรงค์ให้ข้อมูลสิทธิผู้บริโภคเช่นกัน” นายก่อกิจ กล่าว

นายก่อกิจ ระบุว่า หลังจัดทำคำประกาศสิทธิผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่เสร็จแล้ว ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีก 3 เดือน กสทช.จะจัดทำคำประกาศสิทธิผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตต่อไป

นายก่อกิจ ยังกล่าวว่า กสทช.เตรียมจัดทำโครงการ “เน็ตบล็อก ล็อกเน็ต” ซึ่งจะเป็นการพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับให้ผู้ปกครองกำกับดูแลการใช้งานอินเทอร์เน็ตของบุตรหลาน โดยติดตั้งแอพพลิเคชั่นที่เข้าไปตั้งค่าบางอย่างใน Internet Router ภายในบ้าน ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเด็กสามารถตั้งตารางเวลาปิดอินเทอร์เน็ตในบ้านได้ เช่น 4 ทุ่มนอน ห้ามใช้เน็ต รวมทั้งปิดการใช้งาน Data เครื่องโทรศัพท์มือถือของลูกได้ด้วย โดยขณะนี้ผ่านการพิจารณาของคณะอนุกรรมการงบประมาณแล้ว และจะเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ด กสทช.ในเร็วๆ นี้

“โครงการนี้ไม่ได้บังคับ แต่เป็นสิทธิของพ่อแม่ที่จะเลือกใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ และการปิด Data ของโทรศัพท์มือถือลูก จะไม่ปิดทั้งหมด ยังส่ง Location ได้ ส่ง SMS ได้ เพียงแต่จะไม่ให้เล่นเฟซบุ๊ก ไม่ให้ไลน์ ไม่ให้แชต” นายก่อกิจ กล่าว

สำหรับการดำเนินการโครงการอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการจัดซื้อจัดจ้างผู้พัฒนาแอพพลิเคชั่น เช่น โครงการ “3 ชั้น ตรวจ แจ้ง ล็อก” ซึ่งเป็นการให้เจ้าของโทรศัพท์นำบัตรประชาชนไปตรวจสอบที่ช็อปของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ เพื่อตรวจสอบว่ามีกี่เบอร์ที่ลงทะเบียนในชื่อของตัวเอง จากนั้นก็ให้กำหนดว่าจะให้ใช้เลขหมายใดในการยืนยันเพื่อทำธุรกรรมผ่านมือถือ