posttoday

พฤติกรรมเสี่ยงโลกออนไลน์ ตกเป็นเหยื่อจากการใช้งาน

09 มิถุนายน 2559

จากการสำรวจในโลกเวอร์ชวล สัญชาตญาณในการป้องกันตนเองของผู้คนดูจะหล่นหายไปและเสี่ยงถูกหลอกได้โดยง่าย

โดย...วันเพ็ญ พุทธานนท์

แคสเปอร์สกี้ แล็บ ได้ทดสอบความเก๋าทางไซเบอร์ (Cyber Savvy) ของยูสเซอร์ทั่วโลกจำนวน 1.8 หมื่นคน เพื่อวัดความเสี่ยงของพฤติกรรมบนอินเทอร์เน็ตและออนไลน์ โดยผู้ตอบแบบสอบถามจะต้องเลือกสถานการณ์ออนไลน์ที่มักพบได้ทั่วไปจากคำตอบหลากหลายที่มีให้เลือก

จากคำตอบที่ถูกเลือกขึ้นมาทั้งหมด พบว่าในสถานการณ์ที่ยูสเซอร์ต้องระบุภัยคุกคามทางไซเบอร์นั้น มีอัตรา “อันตราย” สูงที่สุด (เช่น สิ่งที่นำไปสู่การสูญหายของทรัพย์สินดิจิทัล ข้อมูลระบุตัวตน เงิน) จาก 76% ของผู้ที่เข้าร่วมการสำรวจที่ไม่สามารถที่จะแยกแยะได้ระหว่างเว็บเพจของจริงและของปลอมที่ทำเลียนแบบ

เมื่อเผชิญหน้ากับภัยคุกคามเช่นเดียวกันนี้บนเว็บ ยูสเซอร์ก็จะกรอกข้อมูลส่วนตัวเข้าไปยังหน้าเว็บเพจฟิชชิ่งที่ออกแบบมาเพื่อขโมยข้อมูลส่วนตัวแบบนี้ได้ดื้อๆ อาชญากรไซเบอร์ใช้ข้อมูลที่รวบรวมได้เหล่านี้เพื่อเป็นทางเข้าไปบัญชีต่างๆ หลังจากนั้นจะถูกใช้เพื่อแพร่กระจายโฆษณาน่ารำคาญ ไฟล์หรือลิงค์ที่แฝงมัลแวร์ รวมทั้งเพื่อขโมยเงินและข้อมูลสำคัญด้วย

นอกจากนี้ยังพบว่าอีก 75% ละเลยสะเพร่าเรื่องการตรวจสอบฟอร์แมตของไฟล์ที่จะดาวน์โหลด เช่น แทนที่จะได้ไฟล์เพลงกลับได้เป็นไฟล์ที่อาจมีเชื้อไวรัส เลือก “scr” (สกรีนเซฟเวอร์-เป็นฟอร์แมตทั่วไปที่มักจะพบไวรัสฝังตัวอยู่) เป็นไฟล์ “exe” หรือ “zip” เก็บข้อมูลที่ไม่รู้ที่มาที่ไปในไฟล์นั้นแทนที่จะเป็นไฟล์ “wma” ส่วนมากคนในสหราชอาณาจักร หรือ 85% มักตกเป็นเหยื่อลูกเล่นประเภทนี้

จากข้อมูลสรุปผลการสำรวจพบว่า เยอรมนี สเปน และออสเตรเลีย มีคะแนนเฉลี่ยสูงสุดด้านความเก๋าทางไซเบอร์ แต่ยังต้องเรียนรู้อีกมาก เช่น คนเยอรมันมีแนวโน้มที่จะเก็บรหัสผ่านในฟอร์แมตที่ไม่ค่อยปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งชอบเขียนลงกระดาษที่อยู่ใกล้ๆ เครื่องคอมพิวเตอร์ ขณะที่ชาวสเปนมักแบ็กอัพข้อมูลในที่ที่ไม่น่าวางใจ แถมยังไม่เข้ารหัสหรือใช้พาสเวิร์ด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ตัวแปรที่ดูจะอันตรายที่สุดจากคำตอบมาจากยูสเซอร์ประเทศอินเดีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย โดยพบว่าชาวอินเดียเป็นกลุ่มที่โดนหลอกง่ายที่สุด เพราะเป็นกลุ่มมีความเป็นไปได้สูงสุดที่จะเปิดไฟล์แนบในอีเมลที่แม้จะน่าสงสัยก็ตาม หรือแอดเพิ่มใครก็ได้ที่ขอเป็นเฟรนด์ และคลิกลิงค์จากเพื่อนบนโซเชียลเน็ตเวิร์กโดยไม่เช็กดูก่อนว่าจริงหรือหลอก พฤติกรรมประเภทนี้หมายความว่ายูสเซอร์ในประเทศนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะตกเป็นเหยื่อของการฉ้อฉลมากกว่าผู้คนในประเทศอื่นๆ

ขณะที่ชาวญี่ปุ่นแสดงความไม่สนใจไยดีต่อความปลอดภัยของตนเอง โดยไม่เห็นประโยชน์ของการทำแบ็กอัพไฟล์ และคิดว่าตนไม่มีข้อมูลสำคัญที่จำเป็นต้องป้องกัน และยังเป็นกลุ่มที่มีความเป็นไปได้น้อยกว่าที่จะอัพเดทระบบปฏิบัติการ เมื่อเทียบกับยูสเซอร์ในประเทศอื่นๆ ทำให้เป็นการง่ายที่จะเจาะเข้าอุปกรณ์ใช้งาน และขโมยข้อมูลมากยิ่งขึ้นเท่านั้น

สำหรับการป้องกันข้อมูลทางด้านการเงิน ทัศนคติที่เป็นอันตรายที่สุดนั้นพบได้จากยูสเซอร์ในประเทศรัสเซีย และสาธารณรัฐเช็ก ที่มีทีท่าว่าพลาดท่าเมื่อเลือกเว็บไซต์ของธนาคารเพื่อทำธุรกรรมการเงินที่ปลอดภัย และยังยอมรับด้วยว่าไม่ได้มีมาตรการทางความปลอดภัยเพิ่มเติมใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อซื้อสินค้าออนไลน์

สัญชาตญาณในการป้องกันตนเองเป็นธรรมชาติของคนเราทุกคน ในโลกแห่งความเป็นจริงผู้คนส่วนมากมักพร้อมที่จะปกป้องสิ่งที่พวกเขาเห็นว่ามีค่าต่อตนเอง อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจในโลกเวอร์ชวล สัญชาตญาณนี้มักจะพากันหล่นหายไปหมด ทั้งที่ชีวิตส่วนตัว อัตลักษณ์ และข้อมูลส่วนบุคคล สินทรัพย์ต่างๆ และเงิน เป็นเรื่องจำเป็นต้องได้รับการป้องกันเมื่อทำธุรกรรมออนไลน์

พฤติกรรมเสี่ยงโลกออนไลน์ ตกเป็นเหยื่อจากการใช้งาน