posttoday

เอไอเอสจ่ายเงินประมูลคลื่น 900 งวดแรกก่อน 30 มิ.ย.

27 พฤษภาคม 2559

เอไอเอสลั่นได้คลื่น 900 เหมือนติดปีก เตรียมจ่ายเงินประมูลคลื่น 900 งวดแรกก่อน 30 มิ.ย. ด้าน กสทช.เล็งประมูลคลื่น 1800 – 2600 MHz ในอนาคต

เอไอเอสลั่นได้คลื่น 900 เหมือนติดปีก เตรียมจ่ายเงินประมูลคลื่น 900 งวดแรกก่อน 30 มิ.ย. ด้าน กสทช.เล็งประมูลคลื่น 1800 – 2600 MHz ในอนาคต
 
นายสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เปิดเผยว่า เอไอเอสจะเร่งชำระเงินประมูลคลื่น 900 MHz งวดแรกก่อนวันที่ 30 มิ.ย.นี้ แม้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะมีระยะเวลาให้นาน 90 วันก็ตาม เพื่อที่จะได้ใบอนุญาตก่อนสิ้นเดือน มิ.ย. และไม่ให้ลูกค้า 2G ได้รับผลกระทบหลังจากการหมดอายุมาตรการเยียวยา โดยเงินที่จะชำระก้อนแรกคือ 8,080 ล้านบาท ซึ่งจะมาจาก 2 แหล่งคือกระแสเงินสดจากการประกอบการและเงินกู้จากธนาคารพันธมิตร
 
ขณะที่ในส่วนของแบงก์การันตี เอไอเอสไม่มีปัญหาในในเรื่องเครดิตและมีวงกับกับแต่ละธนาคารค่อนข้างเยอะ ขณะนี้กำลังพิจารณาว่าจะเลือกซอยแบงก์การันตีออกเป็นกี่ธนาคาร ส่วนงบลงทุนหลังได้รับใบอนุญาต 900 MHz ยังคงเท่าเดิมตามที่แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย คือ 4 หมื่นล้านบาทในปีนี้ แต่จะปรับสัดส่วนจากเดิมที่ลงทุนอุปกรณ์สำหรับใช้งานคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 2100 MHz ก็จะมาลงทุนในส่วนของอุปกรณ์ที่ใช้งานกับคลื่น 900 MHz ด้วย โดยคลื่นที่ได้มานี้ มี 2.5 MHz ที่เป็นการ์ดแบนด์เดิม ซึ่งจะต้องติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมเพื่อให้สามารถใช้งานได้เต็มตามจำนวน 10MHz ที่ประมูลได้มา
 
นายสมชัย ยืนยันว่า แม้จะต้องจ่ายเงินประมูลอีก 75,654 ล้านบาท แต่บริษัทยังคงมีขีดความสามารถในการทำกำไร เพราะหากพิจารณาจากต้นทุนเดิมบนระบบสัมปทาน มีค่าใช้จ่ายที่เป็น regulatory cost ประมาณปีละ 2 หมื่นล้านบาท แต่ในระบบใบอนุญาต เอไอเอสจ่ายต้นทุน regulatory cost รวมทั้งหมด 3 ใบอนุญาต ยังไม่ถึงครึ่งของระบบสัมปทานเดิมเลย
 
นอกจากนี้ หากพิจารณาราคาประมูลดังกล่าว จะพบว่าน้อยกว่าราคา 75,900 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาสุดท้ายที่เอไอเอสเสนอในการประมูลรอบก่อนหน้านี้เสียอีก ประกอบกับกสทช.พูดมาตลอดว่าต่อให้จัดประมูลใหม่ในอีก 1 ปีข้างหน้าก็จะราคาไม่น้อยกว่าเดิม ดังนั้นสู้เอไอเอสประมูลให้ได้ตั้งแต่วันนี้เลยไม่ดีกว่าหรือ
 
“เอไอเอสต้องการคลื่น 900 MHz เต็มที่ แต่การประมูลครั้งก่อนมีการไล่ราคาไม่หยุด เราจึงตัดสินใจออกจากการประมูลที่ราคา 75,900 ล้านบาท ซึ่งถ้าเราไม่หยุด ราคามันอาจไปไกลถึง 8 หมื่นล้านบาท เพราะไม่มีสัญญาณว่าจะหยุดเลย”นายสมชัย กล่าว
 
นายสมชัย กล่าวอีกว่า การได้คลื่น 900 MHz จะทำให้เอไอเอสเพิ่มความแข็งแกร่งของธุรกิจ เปรียบเสมือนติดปีกให้ไปได้ไกลกว่าเดิม เพราะเดิมมีคลื่น 2100 MHz และ 1800 MHz ทำให้ต้องตั้งเสาถี่ แต่เมื่อได้คลื่น 900 MHz มา ก็จะทำให้ผ่อนคลายในเรื่องความถี่ในการตั้งเสามากขึ้น
 
“เดิมเรามี 30 MHz ก็เพียงพอที่จะดูแลลูกค้าในอีก 3-5 ปีข้างหน้า เมื่อได้คลื่น 900 MHz มาอีก 10MHz ก็ทำให้ relax ในการตั้งเสา นอกจากนี้ ยังมีคลื่น 2100 MHz ส่วนที่จะเป็นพันธมิตรกับบริษัททีโอทีอีก 15 MHz ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาสัญญา และทีโอทีก็ต้องการให้ลงนามโดยเร็วอยู่แล้ว”นายสมชัย กล่าว
 
สำหรับแนวทางการใช้งานคลื่นความถี่ 900 MHz ในอนาคต นายสมชัย กล่าวว่า ขณะนี้มีลูกค้าเดิมบนโครงข่ายประมาณ 2.5 แสนเลขหมาย และที่โรมมิ่งอีก 7 ล้านเลขหมาย ซึ่งคลื่นที่ได้มา จะนำบางส่วนมาให้บริการลูกค้า 2G บางส่วนให้บริการ 3G และ 4G โดยในช่วงครึ่งปีหลังจะพยายามโน้มน้าวลูกค้ากลุ่มนี้มาใช้งาน 3G และ 4G ต่อไป
 
ทั้งนี้ ปัจจุบันเอไอเอสมีพื้นที่ให้บริการ 4G ครอบคลุม 50% ของจำนวนประชากร แต่เมื่อได้คลื่น 900 MHz มาแล้ว จะเพิ่มเป้าให้ครอบคลุม 80% ของจำนวนประชากร รวมทั้งตั้งเป้าลูกค้า 4G ไว้ที่ 10 ล้านราย จากปัจจุบันที่มี 7 ล้านราย
 
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) มีมติรับรองผลการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz คลื่นความถี่ 895 – 905 MHz/940 – 950 MHz แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค (AWN) ซึ่งประมูลได้ในราคา 75,654 ล้านบาท โดยกสทช.จะออกใบอนุญาตเมื่อ AWN ชำระเงินประมูลงวดแรก 8,080 ล้านบาท พร้อมแบงก์การันตีเงินประมูลส่วนที่เหลือ ภายใน 90 วัน นับจากวันที่รับหนังสือแจ้งผลการประมูล ซึ่งก็คือวันที่ 24 ส.ค.
 
ขณะที่เงินประมูลงวดที่ 2 จะเป็นจำนวนเงิน 4,020 ล้านบาท พร้อมแบงก์การันตีเงินประมูลงวดที่ 3 และ 4 ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 2 ปีนับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาต งวดที่ 3 ชำระ 4,020 ล้านบาท พร้อมแบงก์การันตีเงินประมูลงวดที่ 4 ภายใน 15 วันเมื่อครบกำหนดระยะเวลา 3 ปีนับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาต และงวดที่ 4 ชำระเงินค่าประมูลส่วนที่เหลือทั้งหมดภายใน 15 วันเมื่อครบกำหนดระยะเวลา 4 ปีนับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาต
 
นอกจากนี้ กทค.ยังมีมติให้ขยายเวลาใบอนุญาตให้ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น ที่ชนะประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ไปก่อนหน้านี้ ให้สิ้นสุดลงในวันเดียวกันกับเอไอเอสด้วย
 
นายฐากร กล่าวอีกว่า คลื่นความถี่ย่านถัดไปที่มีแผนนำมาจัดสรรความถี่ย่าน 2600 MHz ที่ปัจจุบัน บริษัท อสมท เป็นผู้ถือครอง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการแก้ไข และการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ใน ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. … เพื่อแก้ไขให้ กสทช. สามารถจ่ายเงินเยียวยาในการขอคืนคลื่นความถี่จาก อสมท ได้ คาดจะสามารถประมูลในปี 2560
 
นอกจากนี้ ยังมีความถี่ย่าน 1800 MHz ของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ซึ่งจะหมดสัญญาสัมปทานกับบริษัท กสท โทรคมนาคม ในวันที่ 30 ก.ย. 2561 โดยอาจจะจัดประมูลล่วงหน้า 3-4 เดือน เพื่อให้การใช้งานของผู้รับใบอนุญาตรายใหม่ ไปบรรจบกับวันที่ 30 ก.ย. 2561 พอดี จะได้ไม่ต้องเข้าสู่มาตรการเยียวยาใดๆ
 
นายฐากร กล่าวอีกว่า กทค.ได้มีมติกำหนดหลักการประมูลในอนาคตไว้แล้วคือ จะนำราคาเฉลี่ยต่อ MHz ของคลื่นความถี่ 1800 ที่ประมูลได้ในปี 2558 บวกด้วยอัตราเงินเฟ้อหรือดัชนีผู้บริโภค มาเป็นราคาเริ่มต้นในการประมูลครั้งต่อไป
 
ทั้งนี้ ความถี่ของดีแทคที่จะหมดสัมปทานกับ กสท โทรคมนาคม ในปี 2561 มีย่าน 1800 MHz จำนวน 45 MHz โดยเป็นส่วนที่ดีแทคใช้งาน 25 MHz และส่วนที่สำรองไว้ใช้เมื่อความถี่ส่วนแรกใช้งานเต็ม capacity อีก 20 MHz นอกจากนี้ยังมีความถี่ย่าน 850 MHz ที่จะหมดสัมปทานในวันที่ 30 ก.ย. 2561 เช่นกัน