posttoday

"โฟล์คไรซ์" แอพพลิเคชั่นเพื่อเกษตรกร

11 กุมภาพันธ์ 2559

"โฟล์คไรซ์" ไม่เพียงเป็นช่องทางให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าเกษตร แต่ยังเป็นกลไกสร้างการค้าที่เป็นธรรมให้แก่เกษตรกรรายย่อย

โดย...กาญจนา อายุวัฒน์ธนชัย

แอพพลิเคชั่นเพื่อเกษตรกรเจ้าแรกของไทย “โฟล์คไรซ์” (Folk Rice) ไม่เพียงเป็นช่องทางให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าเกษตร แต่ยังเป็นกลไกสร้างการค้าที่เป็นธรรมให้แก่เกษตรกรรายย่อย แนวคิดนี้เป็นของ แอ็คชั่น-อนุกูล ทรายเพชร วัย 27 ปี ผู้ประกอบการธุรกิจอินทรีย์และผู้ก่อตั้งแบรนด์โฟล์คไรซ์ เขาเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่ต้องการประกอบอาชีพเกษตรกรรมอย่างยั่งยืน จึงสร้างแพลตฟอร์มขายผลผลิตผ่านเว็บไซต์และแอพพลิเคชั่นให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคซื้อขายกันโดยตรง

“ทุกวันนี้พ่อค้าคนกลางเอาเปรียบเกษตรกร โดยการหักเงิน 30-50% จ่ายเงินเป็นการวางบิล 6 เดือน ทำให้เกษตรกรไม่ได้รับเงินทันที และสินค้าบางอย่างผ่านพ่อค้าคนกลางมากถึง 10 คน ทำให้ผู้บริโภคซื้อสินค้าราคาแพง เรามีสมการให้เกษตรกรตั้งราคาสินค้าไม่เกินควร การทำธุรกิจต้องมีกำไรแบบไม่เกินควร มีเหตุผลที่มาที่ไปตามสมการสร้างกำไรที่เหมาะสม เพราะที่ผ่านมาเกษตรกรไม่ได้กำหนดพื้นฐานกำไรที่ต้องได้” อนุกูล กล่าว

แพลตฟอร์มของโฟล์คไรซ์ (เว็บไซต์และแอพพลิเคชั่น) ตัดวงจรพ่อค้าคนกลางดังกล่าว โดยให้เกษตรกรลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ ตั้งราคาที่สร้างกำไรอย่างเหมาะสม เสนอสินค้าผ่านหน้าจอ ผู้บริโภคซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ จากนั้นทางโฟล์คไรซ์จะโอนเงินให้เกษตรกรทุก 15 วัน โดยเก็บค่าใช้จ่าย 10% จากยอดขาย ส่วนสินค้าจะส่งถึงผู้บริโภคทางไปรษณีย์

“เราสนับสนุนเกษตรกรรายย่อยที่มีวิถีการผลิตแบบเกษตรกรรมยั่งยืน” อนุกูลเพิ่มเติม “ตอนนี้เกษตรกรมีสมาร์ทโฟนกับโน้ตบุ๊ก สิ่งที่ทำให้เรามั่นใจมากว่าวิธีการขายแบบนี้เป็นไปได้ คือ เวลาแค่หนึ่งอาทิตย์มีเกษตรกรลงทะเบียนมาเป็นร้อยคน ซึ่งพิสูจน์ได้ว่ายังคงมีเกษตรกรที่ทำเกษตรแบบอินทรีย์และหาวิธีการขายแบบนี้อยู่”

เขายังกล่าวด้วยว่า เทคโนโลยีเช่นนี้ได้นำไปใช้ในองค์กรการ เกษตรขนาดใหญ่ แต่ไม่เคยนำไปใช้กับเกษตรกรรายย่อยเพราะเสี่ยงต่อการขาดทุน “โฟล์คไรซ์เป็นแพลตฟอร์มแรกของไทย เรื่องแบบนี้ยังไม่เคยเอาออกมาใช้กับเกษตรกรรายย่อยให้เขาทำมาค้าขายเองได้ แม้จะมีความเสี่ยงเรื่องการเข้าร่วม แต่โดยส่วนตัวเห็นเป็นโอกาส อย่างตอนนี้กระแสดีมาก เริ่มมีคู่แข่งแล้ว แต่ไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะจะเป็นใครก็ได้ที่เข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรให้เกิดแฟร์เทรด”

อนุกูลกลับบ้านเกิดเพื่อไปเป็นเกษตรกรที่ จ.สุรินทร์ เขาเคยตั้งคำถาม “อยากมีชีวิตแบบไหนในอีก 30 ปีข้างหน้า” และคำตอบที่ได้คือ “เราไม่ได้ต้องการอะไรเลยนอกจากอาหารที่ดีและระบบการจัดการอาหารที่ดี” อนุกูลและเพื่อนร่วมอุดมการณ์จึงริเริ่มโฟล์คไรซ์ ใช้ความสามารถของแต่ละคน ทั้งโปรแกรมเมอร์ นักพัฒนาซอฟต์แวร์ สร้างเครื่องมือในการจัดการช่วยเหลือเกษตรกร และหวังว่าเมื่ออายุ 50 ปี เขาจะมีสิ่งแวดล้อมอย่างที่ฝัน

“เมื่อเข้ามาในแอพจะเหมือนอาณาจักรอาหารที่ดี เปิดตลอด 24 ชั่วโมง ส่งตรงถึงบ้าน ทำให้ผู้บริโภคหาสินค้าง่ายขึ้น และได้สินค้าที่ดีที่ผ่านการคัดเลือกมาให้แล้ว บางอย่างเป็นของในท้องถิ่นที่หาซื้อได้ยาก การซื้อผ่านแอพจึงไม่ต้องไปเสาะหา ซื้อได้ในราคาหน้าฟาร์ม และเงินคืนสู่เกษตรกรได้เร็วขึ้น”

นอกจากสินค้าประเภทข้าวพื้นเมือง ในอนาคตจะมีการขายสินค้าอินทรีย์อื่นๆ อย่างเกลือไม่มีสารฟอกขาว น้ำปลาไม่ใส่สารกันบูด เต้าเจี้ยวโปรไบโอติกส์ เสื้อผ้าจากผ้าฝ้ายพื้นเมือง รวมถึงสินค้าปัจจัยสี่ โดยโฟล์คไรซ์จะเป็นเครื่องมือในการกระจายสินค้าเกษตรคุณภาพดีให้เข้าถึงคนได้ทุกที่ทุกเวลา เพื่อเป้าหมายสูงสุดคือ เกษตรกรมีรายได้ (Return to farmer) และเกิดแฟร์เทรด หรือการซื้อขายอย่างยุติธรรม

“ในขณะที่ธุรกิจภายนอกประเทศกำลังสั่นคลอน ประเทศไทยจะรอด เพราะเกษตรกรสามารถส่งสินค้าเกษตรไปยังต่างประเทศ และคนในประเทศจะไม่อด เราจึงต้องสนับสนุนกลไกเล็กๆ ผู้ประกอบการรายย่อย คนตัวเล็กๆ จะเติบโตจากผู้บริโภคกว่า 70 ล้านคน เมื่อเราเข้มแข็งจากข้างใน หลังจากนี้ไปอีก 10 ปี คนไทยจะมีความสุขมากและประเทศไทยจะเข้มแข็ง”

ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่น Folkrice ได้ฟรีในแอพสโตร์และกูเกิลเพลย์ และสอบถามได้ทาง www.facebook.com/folkrice