posttoday

ส่อง5เทรนด์ดิจิทัล สร้างโอกาสอนาคต

10 กุมภาพันธ์ 2559

พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้ภาคธุรกิจไม่อาจมองข้ามเรื่องดิจิทัลได้อีก

โดย...ทีมข่าวธุรกิจตลาดโพสต์ทูเดย์

พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้า หาข้อมูล ไปจนถึงตัวเลือกและเปลี่ยนใจในการหาข้อมูลเปลี่ยนไปอย่างยิ่ง เหตุผลมาจากเรื่องของดิจิทัลที่เข้ามามีผลต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างมาก โดยผู้บริโภคแต่ละรายมีความแตกต่างกัน ทำให้ภาคธุรกิจไม่อาจมองข้ามเรื่องดิจิทัลได้อีก

หากจัดกลุ่มลูกค้าดิจิทัลออกเป็น 4 กลุ่ม คือ กลุ่มเทรดิชั่นแนล (Traditional) คือ กลุ่มที่มีพฤติกรรมการจับจ่ายและใช้ชีวิตแบบเดิม ใช้ช่องทางดิจิทัลน้อยหรือไม่ค่อยได้ใช้ และยังใช้ออฟไลน์แชนแนลเป็นหลัก แต่ก็จะมีการส่งข้อมูลไปที่ออนไลน์บ้าง ไม่ได้หมายความว่าไม่มีตัวตนในโลกดิจิทัล

ต่อมาคือ กลุ่มคนที่เริ่มทดลองใช้เทคโนโลยีบ้าง (Experimental) เป็นคนที่พยายามและอยากมีส่วนร่วมและรู้จักที่จะฝึกฝนการใช้งานออนไลน์ และยอมรับประสบการณ์ใช้งานดิจิทัลพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ กลุ่มคนที่มีความตั้งใจอยากใช้ดิจิทัลเป็นหลัก (Transitional) แต่ไม่ได้เชี่ยวชาญมากนัก คือมีความพยายามที่จะใช้งานดิจิทัลแบบรวมๆ แต่ก็ยังไม่คล่องมากนัก และสุดท้ายเป็นกลุ่มคนที่มีความเชี่ยวชาญและเกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยี (Digital Savvy) เป็นคนที่รู้จักใช้ดีไวซ์ต่างๆ ถือว่าเป็นดิจิทัลเนทีฟ เพราะเกิดมากับสิ่งนั้น

นนทวัฒน์ พุ่มชูศรี กรรมการผู้จัดการ เอคเซนเชอร์ ประเทศไทย กล่าวว่า องค์กรที่รู้จักพัฒนาแนวทางที่เรียกว่า พีเพิลเฟิสต์ (People First) หรือให้ความสำคัญกับคนเป็นอันดับหนึ่ง จะสามารถประสบความสำเร็จได้ในยุคดิจิทัล

“ยิ่งเทคโนโลยีพัฒนาได้เร็วขึ้นอย่างต่อเนื่องในอัตราที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หรือคนทำงานอาจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างคาดไม่ถึง ซึ่งวัฒนธรรมองค์กรตามไม่ทันและประสบปัญหาที่เรียกว่า ดิจิทัล คัลเจอร์ ช็อก ซึ่งการที่ธุรกิจจะประสบความสำเร็จในยุคนี้ได้ จะต้องปรับเอาดิจิทัลมาใช้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของคน (พนักงาน พันธมิตรและลูกค้า) เพื่อให้เกิดทักษะและการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้ดีขึ้นทำให้ธุรกิจก้าวหน้าต่อไป”

ทั้งนี้ วิวัฒนาการของเทคโนโลยีวิชั่น 2016 ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลนั้น มี5 แนวโน้มหรือเทรนด์ที่พูดถึงกัน คือ 1.Intelligent Automation การนำเอาเทคโนโลยีมาสร้างเป็นเครื่องมือ เพื่อทดแทนการทำงานบางส่วนที่คนไม่สามารถทำได้ โดยให้คนเป็นผู้สั่งงานเครื่องมือ หรือนำข้อมูลที่ได้มาใช้วิเคราะห์และออกแบบบริการหรือสินค้าใหม่ๆ ให้ตรงกับการสร้างนวัตกรรม

“ยกตัวอย่าง กรณีของอะโดบี (Adobe) ที่พัฒนาระบบปรับแต่งโฆษณาให้ได้โดยอัตโนมัติ ในขณะเดียวกันก็ให้ลูกค้าทดลองใช้งานได้ว่าชอบฟีเจอร์ใด แบบไหนที่ดึงดูดให้ลูกค้ามาดาวน์โหลดได้ ซึ่งฝ่ายการตลาดสามารถทดสอบไอเดียต่างๆ ได้เอง โดยไม่ต้องอาศัยฝ่ายไอที ทำให้ อะโดบีออกแบบสินค้าและบริการให้ลูกค้าได้ตามความพึงพอใจ ปรับได้ตามต้องการของกลุ่มตัวอย่างที่ทดลอง ซึ่งหลังปล่อยออกสู่ตลาด ก็สามารถสร้างยอดดาวน์โหลดให้ลูกค้าซื้อไปใช้งานผ่านช่องทางออนไลน์ และยังเข้าถึงลูกค้าจำนวนมากได้อีกด้วย”

ทั้งนี้ เทรนด์ที่ 2 คือเรื่องของการสร้างทีมงานให้พร้อมรองรับความต้องการในแง่ของการลงทุนเรื่องดิจิทัล ซึ่งองค์กรในประเทศไทยนั้นยังมองเรื่องการลงทุนคนหรือทีมงานเป็นสิ่งสำคัญ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมองเรื่องการลงทุน ในเรื่องของเครื่องมือที่เหมาะสมกับเทรนด์การใช้งานดิจิทัล เพราะการใช้เครื่องมือมาช่วยลดขั้นตอนการทำงาน จะช่วยให้ทีมงานด้านอื่นๆ สามารถทำงานได้อย่างคล่องตัว และมีประสิทธิภาพในการทำงานสูง

“เรื่องของ 4จี โมบิลิตี้และแอพพลิเคชั่น ถือว่าเป็นเทรนด์ที่สำคัญของพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของคน หากองค์กรไม่เริ่มต้นเรียนรู้เรื่องนวัตกรรม การวิเคราะห์และวัดผล จะทำให้เสียเวลาในการนั่งค้นคว้าและเก็บข้อมูลเอง ถือว่าเปลืองแรงงานคนโดยใช่เหตุ แต่ถ้าลงทุนซื้อระบบซอฟต์แวร์เก็บข้อมูลและวิเคราะห์ผล โดยผู้บริหารสามารถเช็คข้อมูลผ่านอุปกรณ์สื่อสารส่วนตัวได้ จะช่วยย่นระยะขั้นตอนการทำงานให้เป็นไปได้เร็วขึ้น”

เทรนด์ที่ 3 คือ แพลตฟอร์มเศรษฐกิจ การพัฒนาธุรกิจของตนเองบนแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจจะช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ เห็นได้จากกรณีของแอปเปิ้ล ที่ใช้ประโยชน์จากการประหยัดต้นทุนผ่านแอพสโตร์โดยดึงเอานักพัฒนาเกือบ 3.8 แสนคน เข้ามาอยู่ในอีโคซิสเต็ม เพื่อเพิ่มแอพในระบบกว่า 1.5 ล้านแอพ มีผู้ดาวน์โหลดไปแล้วกว่าแสนล้านครั้งและแอพสโตร์แบ่งรายได้ให้แอปเปิ้ลไปแล้วกว่า 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้แอปเปิ้ลไม่ต้องผลิตแอพเองทั้งหมดแต่สร้างรายได้ให้บริษัทอย่างมหาศาล

“สำหรับในประเทศไทย กลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพมีโอกาสเติบโตและสร้างรายได้มากขึ้น เราเห็นได้จากภาคธุรกิจทั้งธนาคาร โทรคมนาคม ค้าปลีกและหน่วยงานต่างๆ ที่มีความต้องการในเรื่องของแอพพลิเคชั่นเข้ามาช่วยเรื่องการทำงานให้ง่ายขึ้น และในอนาคตอันใกล้เราจะเห็นสตาร์ทอัพและเจ้าของธุรกิจโกทูมาร์เก็ตไปด้วยกันมากขึ้น เพราะประเมินกันแล้วว่าลงทุนแล้วคุ้มค่า”

เทรนด์ที่ 4 คือ หยั่งรู้ทิศทางการเปลี่ยนแปลง โดยควรจะมองการณ์ไกลในเรื่องของระบบนิเวศด้านดิจิทัลสำหรับยุคถัดไป เช่น กรณีอูเบอร์ที่เข้ามีตีตลาดระบบการเรียกใช้บริการรถโดยสารสาธารณะต่างไปจากเดิม และเทรนด์ที่ 5 ความเชื่อมั่นในดิจิทัล ธุรกิจควรสานความสัมพันธ์กับลูกค้าให้แนบแน่น ด้วยจริยธรรมและความปลอดภัย เพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยเพิ่มความเชื่อมั่นในการใช้งาน

“ในแง่ของระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูล ทุกองค์กรย่อมที่จะมีการลงทุนเพื่อความปลอดภัยเหล่านี้อยู่แล้ว เพราะเกี่ยวเนื่องกับความน่าเชื่อถือในการเข้าใช้ระบบที่บริษัทพัฒนาขึ้น ซึ่งทุกอุตสาหกรรม เช่น ธนาคาร ค้าปลีก โทรคมนาคม ล้วนลงทุนด้านดิจิทัลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยไปพร้อมกัน” นนทวัฒน์ กล่าว

เทรนด์ดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า หากองค์กรธุรกิจเพิกเฉยต่อดิจิทัล ย่อมถูกคลื่น ลูกใหม่ที่ใส่ใจกว่าแย่งส่วนแบ่งไปได้เร็วแน่