posttoday

เอสเอ็มอีไทยยุคใหม่ แห่ใช้สื่อออนไลน์พุ่ง

30 ธันวาคม 2558

การโฆษณาบนเฟซบุ๊ก นั้น นับจากนี้จะแข่งขันกันที่การจัดการกับ Facebook Content Admin

โดย...วันเพ็ญ พุทธานนท์

จากกระแสการเติบโตของธุรกิจโฆษณาออนไลน์ ที่มีมูลค่าราว 9,869 ล้านบาท หรือเติบโตขึ้นไม่ต่ำกว่า 50% ทุกปี โดยมีสัดส่วนผู้ซื้อโฆษณาเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี หรือเจ้าของกิจการขนาดย่อม ประมาณ 60% และมีการซื่อสื่อโฆษณาเพิ่มขึ้นประมาณ 30% นับเป็นตัวเลขที่บ่งชี้ว่า เอสเอ็มอีคนไทยหันมาตอบรับเทรนด์การตลาดบนโลกออนไลน์มากขึ้นถึงกว่า 60%

กัมพล ธนาปัญญาวรคุณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไอท้อปพลัส กล่าวว่า ในปี 2559 ประเทศไทยจะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือเออีซี พร้อมกับการเริ่มเทคโนโลยี 4จี เต็มรูปแบบ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้การทำตลาดออนไลน์คึกคักมากขึ้น

ปัจจุบันประเทศไทยมีธุรกิจเอสเอ็มอีราว 3 ล้านราย หากประเมินโดยภาพรวมระบุว่า ควรจะมีเว็บไซต์ของเอสเอ็มอีราว 1 ล้านราย แต่ในความเป็นจริงกลับมีเว็บไซต์เอสเอ็มอีทั้งประเทศเพียง 3-4 แสนรายเท่านั้น หรือคิดเป็นสัดส่วนธุรกิจเอสเอ็มอีที่เข้าสู่ออนไลน์เพียง 30-40% ทำให้เห็นว่ายังมีโอกาสการขยายตัวด้านการตลาดออนไลน์ในประเทศไทยอีกมาก โดย 3 อันดับธุรกิจที่มีการใช้จ่ายเงินค่าโฆษณาต่อลูกค้า 1 รายสูงสุด ได้แก่ การเงิน การศึกษา และสุขภาพ

สำหรับกลุ่มเอสเอ็มอี การโฆษณาบนสื่อออนไลน์ถือเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมและเป็นเครื่องมือหลัก เนื่องจาก 1.ช่วยเพิ่มยอดขายและขยายฐานลูกค้า 2.ตรงกลุ่มเป้าหมาย สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ซื้อในปัจจุบันที่ดูข้อมูลและซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ 3.เตรียมพร้อมสำหรับธุรกิจที่จะมีการซื้อขายผ่านอี-คอมเมิร์ซ และการเข้าสู่การทำธุรกิจกับเออีซี 4.มีความแม่นยำ งบประมาณไม่สูงและยังสามารถวัดผลได้ และ 5.ลดค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าร้าน ค่าพิมพ์โบรชัวร์ เพราะพฤติกรรมผู้ซื้อในปัจจุบันซื้อขายผ่านหน้าร้านลดลง

ทั้งนี้ สื่อออนไลน์ที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้แก่ กูเกิล ที่มีการใช้งานเติบโต 30% เว็บไซต์เติบโต 40% และเฟซบุ๊กเติบโตถึง 100%

“ในฐานะที่เราเป็นผู้ให้บริการพันธมิตรของกูเกิลอย่างเป็นทางการ เห็นว่าในกูเกิลยังมีเครื่องมือ ลูกเล่น และเทคนิคอีกมากมายที่ธุรกิจเอสเอ็มอีสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการทำธุรกิจ เครื่องมือแต่ละชนิดก็เหมาะกับธุรกิจแต่ละประเภท ไม่ว่าจะเป็นเทคนิคคำค้นหา เทคนิคการประมูล เทคนิคการปรับแต่งตำแหน่งโฆษณา เป็นต้น”

ขณะที่การโฆษณาบนเฟซบุ๊ก นั้น นับจากนี้จะแข่งขันกันที่การจัดการกับ Facebook Content Admin คือ การสร้างจุดต่างของแฟนเพจ ด้วยเนื้อหาและรูปภาพใหม่ๆ สไตล์เฉพาะของธุรกิจ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกับผู้ติดตาม และที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากในปี 2559 และเชื่อว่าจะเติบโตอย่างชัดเจน คือ สื่อโฆษณาที่เป็นวิดีโอบนยูทูบและอินสตาแกรม ที่สอดคล้องกับเทรนด์ของเทคโนโลยี 4จี ในส่วนของเว็บไซต์ ซึ่งเป็นช่องทางหลักของเอสเอ็มอี ต้องรองรับ 2 ภาษา รวมถึงเตรียมขยายเพิ่มเติมสำหรับภาษาจีนและญี่ปุ่นด้วยเช่นกัน

“ไอท้อปพลัสพร้อมเป็นผู้ช่วยเอสเอ็มอีไทยในการการพัฒนาสื่อโฆษณาออนไลน์ ทั้งการจัดทำเว็บไซต์ การพัฒนาเว็บไซต์อัจฉริยะ รวมถึงต่อยอดให้เว็บไซต์สามารถเชื่อมโยงกับระบบการบริหารจัดการภายในบริษัท เพื่อเสริมความแข็งแกร่ง แข่งขันได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ พร้อมเป็นรากฐานสำคัญให้แก่เศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไป”