posttoday

รู้ไว้ไม่ตกเป็นเหยื่อ!?..."9สิ่งห้ามโพสต์ลงโซเชียล"

27 ตุลาคม 2558

ตำรวจ-นักกฎหมาย-ผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชียลมีเดีย แนะ 9 สิ่งที่ไม่ควรโพสต์ลงโลกออนไลน์ หวั่นมิจฉาชีพแฝงรอย

โดย...ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์ออนไลน์

ในวันที่อินเทอร์เน็ตเปรียบประหนึ่งลมหายใจ สมาร์ทโฟนและไอแพดไม่ต่างจากอวัยวะที่ 33 ของร่างกาย แต่ละวันทุกคนนิยมถ่ายรูป คลิปวีดีโอ โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ไลน์ เพื่อความบันเทิง การงาน และสนองตัณหาส่วนตัว 

จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าเหล่าอาชญากร มิจฉาชีพ วายร้ายจำนวนไม่น้อย เปลี่ยนช่องทางในการหา "เหยื่อ" ผ่านทางโลกออนไลน์กันแล้ว

วันนี้ ทีมข่าวโพสต์ทูเดย์ออนไลน์ได้สัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชียลมีเดีย ทั้งนักวิชาการ นักกฎหมาย จนถึงนายตำรวจมือปราบอาชญากรทางเทคโนโลยี เพื่อกระตุกเตือนให้ผู้ใช้งานสังคมออนไลน์หันมาระมัดระวังในการใช้งานอินเทอร์เน็ตให้มากขึ้น

1.บัตรประจำตัวประชาชน

ทุกวันนี้ "เลขบัตรประชาชน 13 หลัก" มักจะถูกนำไปใช้ในการทำเรื่องสำคัญๆอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการสมัครบัตรเครดิต บัตรเดบิต ขอสินเชื่อ เปิดบัญชีธนาคาร เสียภาษี สมัครงาน และทุกๆอย่างที่เกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงิน

วิรัช หวังปิติพาณิชย์ ทนายความ เผยว่า บัตรประชาชนถือเป็นเอกสารสำคัญที่จะมีข้อมูลบุคคล ไม่ว่าจะเป็นชื่อ นามสกุล ปีเกิด เลขที่ 13 หลัก ถ้าคนร้ายได้ไปก็สามารถนำไปเป็นสำเนาในการสมัครบัตรเครดิต เปิดใช้โทรศัพท์มือถือ ร้ายกว่านั้นคือ ทำการเปลี่ยนแปลงรูปถ่ายเป็นหน้าของบุคคลอื่น เพื่อใช้ยืนยันตนเอง

"ในที่สุด เจ้าของบัตรก็จะเดือดร้อน อันเนื่องจากการกระทำของคนร้าย ทางที่ดีที่สุดไม่ควรนำภาพถ่ายบัตรประชาชนลงในโลกโซเชียลมีเดียโดยเด็ดขาด"

2.ภาพถ่ายหรือข้อมูลของบุตรหลาน

หลายครั้งที่เรานำภาพถ่ายของลูกหลานมาแชร์ให้คนอื่นเชยชมความน่ารัก แต่อีกด้านหนึ่งอาจเสี่ยงที่จะมีคนร้ายจะจดจำหน้าตา หรือข้อมูลบางส่วนมาใช้ในการนำภาพไปขอรับบริจาค ขอทาน ถึงขั้นลักพาตัว

ธาม เชื้อสถาปณศิริ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อออนไลน์ เผยว่า ไม่ควรโพสต์ชื่้อเด็ก หรือโรงเรียนของเด็กเป็นชื่อจริงทั้งหมด

"เดี๋ยวนี้พ่อแม่มักทำให้ลูกตัวเองเป็นเหมือนดารา ลูกน่ารักก็อัพวีดีโอคลิป จริงๆไม่ควรเลย ไม่ใช่ผิดกฎหมายหรือละเมิดสิทธิ์เด็กอย่างเดียว แต่เป็นกฎระเบียบที่เฟซบุ๊กระบุไว้ว่าห้าม แต่คนไทยไม่ค่อยอ่าน อันที่จริงเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปีไม่ควรเข้าเล่นโซเชียลมีเดียด้วยซ้ำ แต่กลายเป็นว่า ทุกวันนี้มีเด็กโกงอายุ โกงวันเดือนปีเกิดไปสมัครจดทะเบียนเข้าใช้เฟซบุ๊ก อินสตาแกรมกันเยอะแยะมากมาย โดยที่ผู้ปกครองปล่อยปะละเลย น่ากลัวตรงที่ว่าเด็กมีความเสี่ยงจากการถูกล่อลวงได้ง่าย"

3.ตั๋วเครื่องบิน

"ตั๋วเครื่องบิน"อาจดูเหมือนไม่มีข้อมูลอะไรที่เสี่ยงและน่าวิตกกังวลเท่าไรนัก แต่สำหรับอาชญากรหัวกะทิแล้ว ตั๋วเครื่องบิน หรือบอร์ดดิ้งพาส เปรียบเสมือนกุญแจทองคำไขเข้าไปสู่บ้านของคุณได้อย่างดีทีเดียว

ไม่ว่าจะข้อมูลบนบัตร เช่น ชื่อนามสกุล จุดเริ่มต้นของการเดินทาง จุดหมายปลายทาง และบาร์โค้ด สามารถถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวของเรา ทั้งยังอาจเปลี่ยนแปลงแผนการเดินทางของเราได้อีกด้วย คำแนะนำคือ นักท่องเที่ยวฉีกตั๋วทิ้งหรือเอาไปใส่เครื่องทำลายเอกสารหลังการใช้งานจะดีเสียกว่า

"การบอกคนอื่นๆในโลกโชเชียลว่าจะเดินทางไปไหน ด้วยการโชว์ตั๋วเครื่องบิน อาจเป็นเรื่องที่สร้างความสนุกสนาน แต่ในแง่ร้ายคือ คนร้ายจะทำการใช้โปรแกรมตรวจจากบาร์โค้ดของตั๋วเครื่องบิน ทำให้เห็นถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้เดินทาง ไม่ว่าจะเป็นเดินทางไปไหนมาไหน ใช้บัตรเครดิตยี่ห้อใดซื้อตั๋วเครื่องบิน และเลวร้ายที่สุดคือ คนร้ายสามารถสั่งยกเลิกตั๋ว หรือเห็นตัวเลข 4 หลักของบัตรเครดิตซึ่งจะไปสวมรอยใช้บัตรเครดิตได้"ทนายวิรัช ให้ความเห็นไว้อย่างน่าคิด

4.เช็คอินสถานที่

ในวันที่เหล่าอาชญากรสมัยใหม่หันมาอาละวาดในโลกออนไลน์ ข้อมูลจากเว็บไซต์ Distinctivedoors.co.uk ซึ่งทำการสำรวจข้อมูลเกี่ยวกับการเกิดอาชญากรรมในปัจจุบันพบว่า โจรกว่า 75% ใช้การค้นหากลุ่มเป้าหมายผ่านทางโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ โฟร์สแควร์ รวมทั้งโปรแกรมสุดไฮเทคอย่าง Google Street View

พูดง่ายๆว่า ค้นหาตำแหน่งบ้านที่พักอาศัยของเหยื่อได้อย่างสะดวกโยธิน โดยไม่จำเป็นต้องมาเฝ้าดูลาดเลาด้วยซ้ำ เมื่อบวกกับทรัพย์สินมีค่า เช่น โทรทัศน์ เครื่องเล่นดีวีดี ชุดเครื่องเสียงสุดหรูในห้องรับแขกที่เคยโพสต์อวดเพื่อนๆ สร้อยคอเพชรนิลจินดา รถยนต์ ก็ล่อตาล่อใจโจรได้ไม่น้อย ที่สำคัญหากคุณเช็คอินตลอดเวลา อยู่ไหน ไปที่ไหน ทำให้มิจฉาชีพรู้ว่าไม่อยู่บ้าน หรือกำลังจะกลับ ถือเป็นเรื่องเสี่ยงสุดๆ

5.ด่าองค์กร

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนส่วนใหญ่จะเบื่อหน่ายงานที่กำลังทำอยู่ แต่กฎเหล็กที่หลายคนมักมองข้ามคือ อย่าโพสต์ข้อความเชิงลบที่แสดงความไม่พอใจต่อบริษัทตัวเอง แม้ไม่ผิดกฎหมายแต่อาจถูกไล่ออกจากงานได้

"ไม่ควรโพสต์ด่า หรือวิพากษ์วิจารณ์องค์กรเป็นอย่างยิ่ง เพราะกฎหมายไม่อนุญาต สามารถไล่ออกได้ เพราะถือเป็นการหมิ่นประมาท วิพากษ์วิจารณ์ให้เกิดความเสื่อมเสีย อีกข้อที่หลายคนอาจไม่รู้คือ คุณไม่มีสิทธิ์โพสต์ข้อมูลความลับของบริษัทตัวเอง เช่น วันหยุดของที่ทำงาน เงินเดือน โบนัส เนื่องจากโปรเจกต์ต่างๆเหล่านี้ต่างๆอาจเป็นความลับทางธุรกิจอยู่ก็ได้"ธามกล่าว

6.ข้อมูลพื้นฐานทั่วไป

ข้อมูลส่วนบุคคล ไม่ว่าจะเป็นเบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด และอีกมากมายสารพัด ล้วนเป็นสิ่งที่ไม่ควรเปิดเผยในโลกออนไลน์ อย่าลืมว่าการขโมยอัตลักษณ์บุคคล หรือ Identity Theft ไม่ได้มีแต่ในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเท่านั้น ทว่ากำลังสร้างปัญหาในโลกแห่งความเป็นจริงด้วย

ยินดี ลิมปิเวศน์ นักกฎหมายชื่อดัง เผยว่า อะไรก็ตามเป็นข้อมูลประวัติพื้นฐาน เช่น บัตรประจำตัวประชาชน บัตรนักศึกษา ใบขับขี่ ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด ที่ทำงาน สมาชิกครอบครัว ข้อมูลทางการแพทย์ เบอร์โทรศัพท์ ฯลฯ  ไม่ควรเผยแพร่ลงบนสื่อออนไลน์อย่างเด็ดขาด

"ข้อมูลพื้นฐานส่วนตัวเหล่านี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของอาชญากรรม เป็นการขโมยอัตลักษณ์บุคคล ข้อมูลเหล่านี้เราอาจจะไว้ใช้สำหรับล็อกอินเฟซบุ๊ก เช็คอีเมล อาจเดารหัสผ่านได้จากวันเดือนปีเกิด เลขบัตรประชาชนหรือเลขประจำวันนักศึกษา บางคนถ่ายรูปในชุดข้าราชการในวันรับตำแหน่งใหม่ กลับเจอสวมรอย หรือนำไปแอบอ้างแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ บางคนโพสต์มันเสียทุกเรื่อง ประวัติ งาน ชอบทำอะไร ที่ไหน รสนิยม ร้านอาหารโปรด พ่อแม่พี่น้อง ที่อยู่บ้าน ที่ทำงาน ท้ายที่สุดมิจฉาชีพจะนำข้อมูลทั้งหมดนี้แหละไปใช้"

7.โจมตีผู้อื่น

ข้อมูลอันน่าตกใจจากกองบังคับการกองปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) ระบุว่า ปัจจุบันเรื่องที่ถูกร้องเรียนมากที่สุดคือ คดีเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทต่อบุคคล ในลักษณะการโพสต์ข้อความต่อว่ากันไปมาระหว่างบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ด้วยคำพูดหยาบคายรุนเเรงเเละเป็นเท็จ ทำให้เกิดความเสียหาย เข้าข่ายการกระทำความผิดทางอาญาฐานหมิ่นประมาทและมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปีเเละปรับไม่เกิน 1 เเสนบาท

"ส่วนมากจะเป็นพวกคอนเมนต์จนเกินขอบเขต สนุกบนความทุกข์ของคนอื่น โพสต์ทั้งข้อความ รูปภาพ คลิปวีดีโอในลักษณะการบิดเบือนข้อมูล ตัดต่อภาพ อะไรก็ตามที่เป็นเท็จ ทำให้ผู้อื่นเสียหาย คดีแบบนี้ต้องดูเจตนาเป็นสำคัญ หากทำครั้งเดียวอาจจะไม่ชัด แต่หากทำหลายครั้ง ต่อเนื่อง จนจับใจความได้ว่ามีเป้าหมายสื่อถึงใครหรือต้องการโจมตีทำร้ายใคร แบบนี้มีความผิด"พ.ต.อ.สมพร แดงดี รองผบก.ปอท.ย้ำหนักแน่น

8.อย่าดราม่า

รู้หรือไม่ว่าการโพสต์ระบายอารมณ์ ระบายความในใจเล็กๆน้อยๆ อาจทำลายมิตรภาพลงได้ในพริบตา

ธาม อธิบายว่า ไม่ควรโพสต์อะไรที่ "ดราม่า" เช่น กำลังมีปัญหาครอบครัว ทะเลากับสามี พ่อแม่ หรือมีปัญหาในที่ทำงาน เจ้านายตำหนิ เพื่อนร่วมงานนินทา เวลาโพสต์เรื่องราวเหล่านี้อาจจะโพสต์ลงไปในลักษณะอารมณ์ชั่ววูบ ไม่ทันยั้งคิด และมักจะโพสต์ด่าลอยๆ หรือเป็นบุคคลนิรนาม แต่เราอาจมีเพื่อนเยอะมากและกำลังคิดว่าคุณด่าเขาหรือเปล่า จนอาจเกิดการวิตกจริตคิดไปเองทำให้นำไปสู่ความหวาดระแวง กระทบกับความสัมพันธ์ได้

9.ภาพวาบหวิวอนาจาร

ผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชียลมีเดียยังฝากเตือนไปยังสาวๆ (และหนุ่มๆ)ว่า อย่าโพสต์ข้อมูลส่วนตัวจำพวกภาพถ่ายของตัวเองในลักษณะที่ไม่เหมาะสม เช่น ภาพโป๊เปลือย อนาจาร

"เพราะต่อให้คุณไม่ใช่ดารา ในที่สุดอาจมีคนเจตนาร้ายบันทึกภาพเหล่านั้นเอาไว้ ต่อให้คุณลบไปแล้ว มันก็ยังคงอยู่ หรืออาจส่งผลกระทบของคุณในที่ทำงาน เช่น เจ้านายของคุณอาจจะมาเห็น หรือลักษณะวาบหวิวเซ็กซี่มากเกินไป อาจโดนพวกโรคจิตตามรังควาน ถึงขั้นหมายปองจะข่มขืน"

ทั้งหมดนี้คือคำแนะนำถึง 9 สิ่งที่ห้ามโพสต์ลงโซเชียล หากไม่อยากมานั่งเสียใจภายหลัง

ภาพ...เอเอฟพี