posttoday

เส้นทางเปิดเสรีเกตเวย์

03 ตุลาคม 2558

หากคิดจะรวมเกตเวย์เหลือเพียงหนึ่งเดียว ก็เท่ากลับถอยหลังลงคลองไปอีก 10 ปี

โดย...วิทยา ปะระมะ

ประมาณ 10 กว่าปีก่อน ในยุคที่การใช้งานอินเทอร์เน็ตยังไม่แพร่หลายเหมือนทุกวันนี้ การสื่อสารแห่งประเทศไทย หรือ บริษัท กสท โทรคมนาคม ในปัจจุบัน เป็นผู้ผูกขาดและกำกับดูแลบริการเกตเวย์เพียงรายเดียวของประเทศไทย

บริบทในขณะนั้น เป็นยุคที่โทรศัพท์เคลื่อนที่เริ่มใช้งานอย่างแพร่หลาย สวนทางกับโทรศัพท์บ้าน (Fixed line) ที่คนใช้งานน้อยลงเรื่อยๆ ทางออกของผู้ให้บริการโทรศัพท์บ้านในขณะนั้น คือการปรับโมเดลธุรกิจไปให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงหรือบรอดแบนด์แทน

อย่างไรก็ตาม การให้บริการบรอดแบนด์ในยุคนั้นยังมีข้อจำกัด เพราะ กสทฯผูกขาดเกตเวย์อยู่รายเดียว ทำให้ขาดแคลนแบนด์วิธ International Internet Gateway :IIG ที่จะออกต่างประเทศ ขณะเดียวกันราคาวงจร IIG ก็ยังถือว่าแพงมาก รวมทั้งเรื่องคุณภาพของสัญญาณก็ยังปัญหา ทั้งได้ความเร็วที่ต่ำ  การเชื่อมต่อสัญญาณที่ล่าช้า  มีข้อมูลที่สูญหายระหว่างการใช้งาน เนื่องจาก กสทฯไม่อนุญาตให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตนำโลคัลลูปไปเชื่อมต่อกับ IIG ทำให้ทราฟฟิกที่จะออกต่างประเทศคับคั่งจนเกิดปัญหาคอขวด

หากดูจากจำนวนแบนด์วิธ IIG ในอดีตที่ผ่านมา จะเห็นภาพชัด ในยุคที่อินเทอร์เน็ตยังเชื่อมต่อผ่าน Dial-up Modem ความเร็วอินเทอร์เน็ตยังอยู่ที่ 56 Kbps ในปี 2543 ปริมาณแบนด์วิธ IIG ทั้งประเทศอยู่ที่ประมาณ 200 MB เท่านั้น

เมื่อเกิดเทคโนโลยีบรอดแบนด์ขึ้นมา ปริมาณแบนด์วิธ IIG ก็เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ณ สิ้นปี 2547 เป็นครั้งแรกที่ปริมาณการใช้งานแบนด์วิด IIG เพิ่มขึ้นเป็น 1,000 MB

ปี 2547 นี้เอง ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมทุกชนิด รวมถึงบริการเกตเวย์ด้วย ขณะที่ กสทฯ ถูกลดสถานะกลายเป็นเพียงผู้ให้บริการรายหนึ่งเท่านั้น (ปัจจุบัน กทช. กลายเป็นคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.)

ต่อมา วันที่ 28 ธ.ค. 2548 กทช. มีมติให้เปิดเสรีเกตเวย์ โดยคาดหวังว่าจะทำให้ราคาวงจร IIG ถูกลง ส่งผลให้ราคาค่าบริการถูกลงตามไปด้วย ตลอดจน ทำให้การเข้าถึงด้านการใช้อินเตอร์เนตของประชาชนกว้างขวางมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การเปิดเสรีครั้งนั้นกล่าวได้ว่าเป็นการเปิดเสรีครึ่งเดียว เพราะยังอนุญาตให้เฉพาะผู้ให้บริการเกตเวย์ที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตัวเอง ดังนั้นผู้รับใบอนุญาต IIG รายใหม่ ยังต้องใช้จุดเชื่อมต่อออกต่างประเทศของกสทฯ เหมือนเดิม 

กระทั่งวันที่ 21 พ.ค. 2550 กทช.จึงมีมติอนุมัติให้ออกใบอนุญาต IIG แบบมีโครงข่ายเป็นของตนเอง เชื่อมต่อวงจรอินเทอร์เน็ตออกไปยังต่างประเทศได้โดยตรง โดยไม่ต้องเช่าใช้วงจรจาก กสทฯอีกต่อไป

จากปี 2548 ถึงปัจจุบัน มีผู้รับใบอนุญาต IIG แบบมีโครงข่ายเป็นของตัวเองไปแล้วทั้งสิ้น 13 ราย และแบบไม่มีโครงข่ายเป็นของตัวเองอีก 4 ราย ผู้ให้บริการเอกชนสามารถวางโครงข่ายและบริหารจัดการเพื่อให้ต้นทุนที่ดีที่สุดสำหรับการให้บริการประชาชน ซึ่งนอกจากบรอดแบนด์ผ่านทางสาย (Fixed Broadband) แล้ว การเกิดขึ้นของเทคโนโลยี 3จี หรือบรอดแบนด์ไร้สายทำให้การติดต่อสื่อสารทุกอย่างมาอยู่บนจอมือถือ ก็ทำให้ปริมาณการใช้งานแบนด์วิดอินเทอร์เน็ตโตแบบก้าวกระโดด จนเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ปริมาณแบนด์วิด IIG ของไทยสูงถึง 1,954,083 MB

จะเห็นได้ว่าสิ่งต่างๆเหล่านี้ เป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจและสังคมที่พัฒนาไปทุกวันๆ หากคิดจะรวมเกตเวย์เหลือเพียงหนึ่งเดียว ก็เท่ากลับถอยหลังลงคลองไปอีก 10 ปี