posttoday

เตือนภัยนักช็อป รอบคอบซื้อออนไลน์

06 สิงหาคม 2558

ปัญหาร้องเรียนส่วนใหญ่มาจากการซื้อขายผ่านไลน์แชตและอินสตาแกรม

โดย...ณัฏฐ์ธยาน์ สุทธิเจริญ

จากการ สำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ เคยกล่าวถึงมูลค่าการซื้อขายสินค้าออนไลน์ของปี 2556 ไว้ว่า มีมูลค่าการซื้อขายสูงถึง 7.68 แสนล้านบาท ซึ่งทางสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ก็ได้สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้งานอินเทอร์เน็ตของประชากรล่าสุด โดยแบ่งตามช่วงอายุของแต่ละกลุ่ม พบว่า เจเนอเรชั่นเบบี้บูมเมอร์หรือคนที่มีอายุตั้งแต่ 51-69 ปีนั้นมีกำลังซื้อสูงที่สุด แต่ความระมัดระวังในการใช้ช่องทางออนไลน์กลับมีน้อยที่สุด ในขณะที่เจนเอ็กซ์ (35-50 ปี) เจนวาย (15-34 ปี) และเจนแซด (น้อยกว่า 15 ปี) นั้นมีการใช้งานออนไลน์มาก แต่ระวังตัวสูง

สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ ETDA กล่าวว่า ความสามารถในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของคนไทยเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การซื้อของออนไลน์มีมูลค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,000 บาท เพิ่มขึ้นจากเดิมอยู่ที่ 500-800 บาท และสมาร์ทโฟนกลายเป็นเครื่องมือในการทำธุรกรรมออนไลน์ที่เข้าถึงคนได้มาก ที่สุด

“ตอนนี้ยังไม่มีตัวเลขที่ ชัดเจนเกี่ยวกับมูลค่าการซื้อขายสินค้าออนไลน์ว่าอยู่ที่เท่าไหร่ เพราะต้องการตัวเลขที่ชัดเจนจากธนาคารแห่งประเทศไทยมากกว่าคาดการณ์เอง แต่ยังเชื่อว่ามีแนวโน้มโตอย่างน้อย 10%”

ทั้งนี้ สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ ความนิยมในการซื้อตั๋วเครื่องบินและทริปท่องเที่ยวผ่านช่องทางออนไลน์นั้น ได้รับความนิยมมากที่สุด แต่ที่น่ากังวลคือการกรอกข้อมูลส่วนตัวและหมายเลขบัตรเครดิตของเบบี้บูมเมอร์กลับรัดกุมน้อยที่สุด

ปีที่ผ่านมา คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตสัปดาห์ละ 48 ชม ปีนี้ ใช้เพิ่มขึ้นเป็น 52 ชม./วัน ซึ่งสมาร์ทโฟน เปรียบเสมือนอาวุธเป็นเครื่องมือในการทำธุรกรรมต่างๆ ตัวเลขของคนที่ซื้อของทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเป็น 64.9% ปัญหาที่ยังเป็นข้อกังวลหลักของคนไทยในการช้อปออนไลน์นั้น คือ กังวลในเรื่องของการโดนหลอก 57.6% ถือว่ายังเป็นตัวเลขที่สูงเหมือนในปีที่ผ่าน จึงต้องเร่งแก้ปัญหานี้โดยเร็ว

ส่วนการตัดสินใจเข้าซื้อสินค้าออนไลน์ในเว็บไซต์ยอดนิยมนั้น เป็นเพราะเชื่อในข้อมูลที่มีคนในโลกออนไลน์รีวิวไว้ถึง 58.2% โฆษณา 50.2% และคำแนะนำจากเพื่อน 34% ซึ่งมูลค่าการซื้อขายสินค้าออนไลน์แต่ละประเภท จะอยู่ที่จำนวนครั้งในการเข้าซื้อของออนไลน์ แบ่งเป็น ด้านการเงินการลงทุน 6.2 ครั้ง ดาวน์โหลดหนังและเพลง 5.7 ครั้ง แฟชั่น 3.1% สั่งซื้อผ่านเว็บไซต์เจ้าของสินค้า 79.7% ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ 25.7% การร้องเรียนเมื่อเกิดปัญหาจะแจ้งผ่านหน่วยงานของรัฐ 3.6% และแจ้งความ 1.5%

ทั้งนี้ การตัดสินใจซื้อสินค้าและ บริการของคนที่ตอบแบบสำรวจ ยังระบุให้เห็นว่ามาจากคำแนะนำของคนใกล้ตัวมาเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ภาพประกอบต้องสวย และสุดท้าย สินค้าหรือบริการต้องมีโปรโมชั่นและราคาถูกกว่าหน้าร้านทั่วไป

วีรวัฒน์ หงษ์สิทธิวงศ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ทรู ดิจิตอล คอนเท้นท์ แอนด์ มีเดีย กล่าวว่า ในระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา ภาครัฐให้ความสนใจและร่วมมือกับเอกชนในการวางกฎเกณฑ์ในการทำธุรกิจออนไลน์ ที่ชัดเจนมากขึ้นถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะทุกฝ่ายมีจุดประสงค์เดียวกัน คือ ทำอย่างไรให้การซื้อขายออนไลน์เติบโตมากขึ้น ดังนั้นภาครัฐจึงต้องออกกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีพอ ภาคเอกชนเองก็ต้องเข้าใจและทำงานร่วมกับภาครัฐเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาร้องเรียนจากลูกค้าส่วนใหญ่ยังมาจากการซื้อขายนอกระบบ คือ ซื้อผ่านไลน์แชตและอินสตาแกรมส่วนตัว ทำให้การป้องกันภัยจากการหลอกลวงเป็นไปได้ยาก ภาครัฐจึงต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายผ่านระบบที่รับรองจากส่วน กลาง เพื่อป้องกันการหลอกลวง