posttoday

คนท้องถิ่นใช้งานโซเชียลเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจ

09 กรกฎาคม 2558

เผยผลการสำรวจการใช้งานออนไลน์ของคนต่างจังหวัด พบว่าคนท้องถิ่นมีการใช้งานโซเชียลมีเดียมากขึ้น

เผยผลการสำรวจการใช้งานออนไลน์ของคนต่างจังหวัด  พบว่าคนท้องถิ่นมีการใช้งานโซเชียลมีเดียมากขึ้น

ศิวัตร เชาวรียวงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มอินเตอร์แอคชั่น กล่าวว่า ตลาดดิจิทัลเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูงขึ้นทุกปี และมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาอย่างรวดเร็ว การทำความเข้าใจในพฤติกรรม ผู้บริโภคในยุคสื่อดิจิทัลที่ผู้บริโภคใช้สื่อแบบบูรณาการจึงเป็นสิ่งสำคัญ

“การทำผลสำรวจเชิงเจาะลึกที่ ครอบคลุมภาคกลาง เหนือ ตะวัน ออก และอีสาน ผ่านการใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต พบว่าการทำตลาดอย่างหนักของแบรนด์จากประเทศจีนและค่ายมือถือต่างๆ ทำให้เกิดผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตหน้าใหม่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคสื่อหลักและสื่อออนไลน์เปลี่ยนไปจากเดิม” ศิวัตร กล่าว

ด้าน วรวิล สนเจริญ รองผู้ อำนวยการ แผนกวางแผนกลยุทธ์ บริษัท เอ็มอินเตอร์แอคชั่น กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2554 ที่ประเทศไทยเริ่มมีการใช้งานโซเชียลมีเดีย และจากการเริ่มใช้งานสมาร์ทโฟนและ 3จี มากขึ้น ทำให้การใช้งานออนไลน์และแอพพลิเคชั่นเกิดความตื่นตัว ขณะที่ในปี 2556 ที่มีการเปิดตัวยูทูบประเทศไทย ยังทำให้เกิดคอนเทนต์โพรไวเดอร์จำนวนมาก โดยไทยเป็นประเทศที่ผลิตคอนเทนต์บนยูทูบมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน

“มีการค้นหาข้อมูลข่าวสารผ่าน โมบายกว่า 55% และค้นหาผ่านคอมพิวเตอร์และแล็ปท็อป 45% และยังมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าใน 2 ปีข้างหน้า การค้นหาผ่านโมบายอาจจะสูงขึ้นถึง 79% โดยในปีที่ผ่านมามีการใช้งานอินเทอร์เน็ตมากกว่า 5 ชั่วโมง มากกว่า 52.2% ในขณะที่ดูสื่อหลักอย่างทีวีเพียง 16.2%” วรวิล กล่าว

ซึ่งเทรนด์จากการเข้าไปทำวิจัยทำให้ทราบอย่างชัดเจนว่าคนกลุ่มนี้ถือว่าเป็นกลุ่ม mobile first คือ มีประสบการณ์อินเทอร์เน็ตครั้งแรกผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งคนเหล่านี้ไม่เคยใช้อีเมล์มาก่อนและไม่ทราบว่าคืออะไร ไม่เคยใช้งานแม้กระทั่งเว็บเบราว์เซอร์  เริ่มต้นใช้งานออนไลน์ คือ แอพพลิเคชั่นที่มีการติดตั้งมาให้พร้อมกับเครื่องที่ซื้อมา ถือว่าเป็นสิ่งที่ใช้งานได้ง่ายและเรียนรู้การใช้งานได้แบบทันทีและสะดวกต่อการเรียนรู้ครั้งแรกกับคนกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่มีการใช้จ่ายอย่างฉลาด เพราะรายได้ไม่แน่นอน ไม่มีเครดิตการ์ดและใช้เงินสดในการซื้อสินค้าทั้งสิ้น และมีความเชื่อว่าสมาร์ทโฟนจะเข้ามาช่วยเติมเต็มไลฟ์สไตล์ให้ชีวิตดีขึ้น มองว่าขนาดหน้าจอยิ่งใหญ่ยิ่งดี เพราะบ่งบอกถึงความคุ้มค่า ดังนั้นจึงเลือกดีไวซ์ที่เน้นเรื่องของความคุ้มค่าเป็นหลัก ซึ่งจะเป็นมือหนึ่งหรือมือสองก็ไม่สำคัญ คนที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อจะเป็นคนในครอบครัว ใช้งานดีไวซ์แบบ Multi-Screeners คือ นอกจากมีพฤติกรรมที่คุ้นเคยกับสื่อเดิม เช่น ทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ แต่การใช้สื่อหลักเหล่านี้เปลี่ยนไป เสพสื่อผ่านโซเชียลมีเดียมากขึ้น ฟังข่าวจากทีวีน้อยลง เลือกฟังวิทยุผ่านยูทูปและเลือกเพลงที่ตัวเองชอบ มากกว่าการฟังผ่านคลื่นวิทยุที่มีโฆษณาและดีเจพูด  การใช้งานสื่อเดิมที่ยังใช้อยู่อย่างต่อเนื่อง คือ ละครหลังข่าว

ขณะที่การเปลี่ยนจากฟีเจอร์โฟน มาเป็นสมาร์ทโฟน เพราะคนกลุ่มนี้มองว่าคนในสังคมที่ใกล้ชิดของตัวเองเริ่มใช้งานอินเทอร์เน็ต มากขึ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่เคยใช้งานอีเมล เว็บเบราเซอร์ หรือช่องทางออนไลน์มาก่อน และเริ่มต้นใช้งานแอพพลิเคชั่นที่ผู้ให้บริการติดตั้งมากับดีไวซ์เพื่อพร้อม ใช้งาน เป็นกลุ่มคนที่มีรายได้ไม่แน่นอน ใช้เงินสดในการใช้จ่ายและเชื่อว่าสมาร์ทโฟนจะช่วยให้ชีวิตดีขึ้น ขนาดหน้าจอยิ่งมาก ยิ่งรู้สึกว่าคุ้มค่า นอกจากนี้ การที่โอเปอเรเตอร์รายใหญ่เข้าไปเจาะกลุ่มคนต่างจังหวัด ยังส่งผลให้เกิดการใช้งานโทรศัพท์เพื่อพูดคุยลดลง โดยจากเดิมที่มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยเดือนละ 500-600 บาท เหลือเพียง 200-300 บาท เป็นผลมาจากการใช้ไลน์คอลในการสื่อสารแทนการโทรแบบเสียเงิน ซึ่งช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น

ณัฐวีร์ ณีว มาวิจักขณ์ ผู้อำนวยการแผนกวางแผนกลยุทธ์และการสื่อสารองค์กร บริษัท เอ็มอินเตอร์แอคชั่น กล่าวว่า การใช้งานสมาร์ทโฟนครั้งแรกของคนกลุ่มนี้ ส่งผลให้เข้ามาตอบโจทย์พฤติกรรมการบริโภคสื่อหลักเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง (Consume) สามารถติดต่อสื่อสารเพื่อนเก่าและลดค่าใช้จ่ายได้ (Connect) และเป็นโอกาสในการหารายได้และเป็นช่องทางการใช้เงินมากขึ้น (Commerce)

เหตุผลที่คนท้องถิ่นเปลี่ยนจากฟีเจอร์โฟนมาเป็นสมาร์ทโฟนนั้น จะต้องตอบโจทย์สิ่งเหล่านี้ได้มากกว่าเดิม Improving Career ค้นหาโอกาสใหม่ๆ จากการใช้งานมือถือทำงานมากกว่าการเอนเตอร์เทนเท่านั้น เช่น กรณีของพนักงานที่สมัครเข้าทำบัญชีของบริษัทรายย่อย ผู้บริหารต้องการพนักงานที่รู้จักใช้งานโซเชียลในการทำงาน คือ ประชุมงานผ่านไลน์ ส่งเอกสารผ่านอีเมล์ และตอบข้อความของลูกค้าผ่านทางโซเชียลมีเดียได้ แสดงให้เห็นว่าผู้บริหารต้องการทักษะในการใช้งานไอทีของพนักงานมากขึ้น

Improving Business ใช้มือถือและออนไลน์ในการขายของ เช่น แม่ค้าปลาทู ที่หาโอกาสสร้างรายได้ด้วยการถ่ายภาพและโพสต์ข้อความลงในเฟสบุค เมื่อมีลูกค้าเห็นและสั่งซื้อจนเกิดเป็นโอกาสในการขายของและยังจัดส่งให้แก่ลูกค้าได้แบบทันท่วงที ถือว่าเป็นการนำโซเชียลมีเดียมาพัฒนาและสร้างโอกาสทางธุรกิจได้มากขึ้น

Improving skill ใช้โซเชียลในการค้นหาความรู้ และพัฒนาศักยภาพให้ดีขึ้น เช่น คนขับสามล้อ ที่มีอาชีพเสริมเป็นการเล่นดนตรีตอนกลางคืน โดยในเวลากลางวันที่ยังไม่มีลูกค้า และมีเวลาว่างก็จะค้นหาคอร์ดเพลงและแกะโน้ตเพลงโดยดูจากคลิปวีดีโอที่มีคนแชร์ในยูทูป ถือว่าเป็นการเพิ่มทักษะในการเรียนรู้มากขึ้น

"ปัจจุบันคนในท้องถิ่นเริ่ม รู้จักวิธีการขายของออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊กและไลน์มากขึ้น แต่การจับจ่ายอาจยังไม่สูง ราคาเฉลี่ยไม่เกิน 500 บาท แต่ถ้าแพงกว่านั้นจะยังเกิดความลังเลและไม่กล้าซื้อ ขณะที่คนวัยทำงานในกรุงเทพฯ จะมีกำลังซื้อมากกว่า แต่ก็ยังเฉลี่ยไม่เกิน 2,000 บาท ส่วนใหญ่จะเป็นการค้นหาและซื้อสินค้าผ่านช่องทางเฟซบุ๊ก ไลน์แชตและอินสตาแกรม มากกว่าการใช้แพลตฟอร์มที่ทางผู้ให้บริการเตรียมไว้"

ทั้งนี้ วรวิล แนะนำว่า เจ้าของธุรกิจต้องสร้างคอนเทนต์ที่เข้าถึงไลฟ์สไตล์ของลูกค้า เช่น พัฒนาสติ๊กเกอร์ไลน์เฉพาะกลุ่ม ภาษาที่สื่อสารได้ง่าย เป็นต้น แบรนด์ต้องรู้จักปรับตัวให้ไดนามิก หาโอกาสจากโซเชียลมีเดียมาปรับใช้เป็นแผนการตลาด เพราะมีผู้ใช้งานไลน์จำนวนมาก เลือกที่จะบล็อกออฟฟิเชียลของแบรนด์หากไม่มีคอนเทนต์ที่มีประโยชน์ หรือสิทธิพิเศษให้แก่ลูกค้า ซึ่งจะกลายเป็นเสียโอกาสทันที

คนท้องถิ่นใช้งานโซเชียลเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจ วรวิล สนเจริญ รองผู้อำนวยการ แผนกวางแผนกลยุทธ์ บริษัท เอ็มอินเตอร์แอคชั่น

แบรนด์ ต้องรู้จักพัฒนาโอกาสจากสิ่งเหล่านี้

Relavancy นั่นคือการสร้างคอนเทนต์ที่เข้าถึงไลฟ์สไตล์ของคนที่เราต้องการสื่อสาร หรือพูดภาษาเดียวกันกับคอนซูเมอร์ เช่น สติกเกอร์เฉพาะกลุ่ม เช่น สติกเกอร์ภาษาท้องถิ่น พัฒนาคาแรคเตอร์ของแบรนด์ในเข้ากับโลกของโซเชียลมีเดีย จะช่วยให้ลูกค้ารู้สึกเข้าถึงได้ง่าย โดยปรับคอนเทนต์จากไลฟ์สไตล์ของลูกค้า
 
Adaptive แบรนด์ต้องมีความไดนามิค คือสื่อสารให้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ไวรัลคลิปเหนียวไก่, ไอซ์บัคเก็ต ถือว่าเป็นการนำโลกของโซเชียลมีเดียมาปรับใช้งานให้เข้ากับแบรนด์ ถือว่าเป็นเรียลไทม์มาร์เก็ตติ้ง จะทำให้เกิดกระแสส่งต่อและสร้างโอกาสให้คนเห็นแบรนด์ของเราเยอะขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ครีเอทีฟเองก็ต้องแอคทีฟและตามโลกออนไลน์ให้ทัน รู้จักจับกระแสในขณะนั้นมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสินค้าแบรนด์ที่เราดูแลอยู่ในขณะนั้น

Connectivity : การสร้างโอกาสในการเชื่อมต่อโลกออนไลน์ให้แก่ผู้ใช้งานฟรี หรือเป็นตัวกลางเชื่อมต่อการใช้งานก็จะสร้างโอกาสใหม่ๆได้  เช่น ร้านกาแฟ แจกฟรีไวไฟให้ลูกค้าใช้งาน ถึงแม้จะเป็นสิ่งเล็กๆ แต่ก็เป็นสิ่งที่คนในสังคมนั้นสนใจ ยิ่งคนที่ติดการใช้งานออนไลน์ จะยิ่งเป็นการสร้างทราฟิกให้ลูกค้าเข้ามาใช้งานในร้านมากขึ้น การแจกของฟรีหรือของรางวัลเล็กน้อยที่คนในสังคมสนใจ ก็จะช่วยดึงดูดคนให้เข้ามาสนใจแบรนด์มากขึ้นเช่นกัน ดังนั้น เราจึงควรรู้จักเลือกใช้ช่องทางใหม่ๆ และหาโอกาสอย่างเหมาะสม

วรวิล ยังกล่าวเสริมอีกว่าสมาร์ทดีไวซ์ในชีวิตคนท้องถิ่น เข้ามาทดแทนในเรื่องต่างๆ ดังนี้

Consume : ช่วยให้การค้นหาข่าวสารเร็วขึ้น เพราะการอ่านผ่านโซเชียลจะทำให้ทราบเรื่องราวต่างๆ ได้รวดเร็วขึ้นกว่าเดิม ไม่ต้องรอแต่การรายงานข่าวจากสื่อเดิมเพียงอย่างเดียว ทำให้ พฤติกรรมการอ่านหนังสือพิมพ์ลดลงอย่างชัดเจน วิทยุ : การใช้งานลดลงมาก เพราะลูกค้าเลือกใช้เป็นการฟังเพลงผ่านยูทูปมากขึ้น ไม่ต้องเสียเวลา เทรนด์สื่อวิทยุในท้องถิ่นถือว่าลดลงอย่างชัดเจน เรียกได้ว่าแทบจะหายไปเลย อีกทั้งยูทูปเข้ามาเป็นทีวีส่วนตัว จากเดิมเป็นการใช้งานทีวีร่วมกัน ตอนนี้แทบจะไม่มีทีวีวางบนแผงเหมือนเดิม แต่เป็นสมาร์ทดีไวซ์ที่ดูรายการที่ต้องการได้ ไม่ต้องดูโฆษณา ค้นหาอะไรก็เจอ , กูเกิล จึงถือว่าเป็นโลกที่มหัศจรรย์ เพราะช่วยให้การค้นหาข้อมูลเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นข่าวดารา ดูดวง เช็คหวย กลายเป็นพฤติกรรมที่คนคุ้นเคย ดังนั้น คนจึงเลือกที่จะเข้าถึงเรื่องของดิจิทัลคอนเทนต์มากกว่าและแบรนด์เองก็ควรจะมีคอนเทนต์ที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น

Connect: ช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในการโทร โดยลดการคุยแบบเสียเงินมาเป็นคุยผ่านแอพ (LINE Call) ที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า เพราะใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ตได้ฟรีอยู่แล้ว , อีกทั้งไลน์ยังมีบทบาทในเรื่องของการทำงานมากขึ้น จากเดิมที่ต้องทำผ่านกระดาษ หน่วยงานราชการหรือเอกชนบางส่วนก็เลือกที่จะประกาศและสื่อสารผ่านไลน์กรุ๊ป เพื่อให้งานเดินหน้าอย่างรวดเร็ว เพราะสื่อสารกันได้รวดเร็วขึ้น ลดการใช้งานกระดาษ รวมทั้ง กรุ๊ปแชทเองก็เป็นเทคโนโลยีที่ทำให้มีอารมณ์ความรู้สึกในการสื่อสารมากขึ้น ดังนั้น นักพัฒนาจึงต้องสร้างแอพพลิเคชั่น ที่ดึงดูดให้คนในสังคมหรือผู้ใช้งานหันมาใช้แอพเดียวกันจำนวนมาก เพราะคนจะเลือกใช้งานแอพใดนั้น จะดูจากมีเพื่อน ครอบครัว คนรู้จักใช้งานในอีโคซิสเต็มส์เดียวกันมากน้อยแค่ไหน

Commerce: สร้างโอกาสในการซื้อขายสินค้าได้มากขึ้น เพราะเมื่อมีลูกค้าติดต่อผ่านไลน์ได้มากขึ้น ก็จะขยายโอกาสให้ซื้อขายสินค้าได้หลากหลายขึ้น ไม่จำเป็นต้องกลุ่มคนรุ่นใหม่เท่านั้น คนรุ่นเก่าที่รู้จักใช้งานเทคโนโลยี ก็ไม่ต่างกับสตาร์ตอัพ เรื่องของการโอนเงินผ่านมือถือนั้น ถือว่ายังเป็นเรื่องใหม่ที่มีความกังวลสูง การโอนเงินจำนวนมากผ่านช่องทางออนไลน์จึงต้องใช้เวลาอีกสักพัก เพราะข่าวสารเรื่องข้อมูลรั่วไหลและการโอนเงินที่ไม่มีความชัดเจนถือว่าเป็นอุปสรรคในการสร้างความเชื่อมั่นอย่างมาก โดยในต่างจังหวัดการใช้จ่ายไม่เกิน 500 บาทผ่านช่องทางออนไลน์ลูกค้ายังกล้าที่จะจ่าย แต่ถ้ามากกว่านั้นต้องการให้โอนผ่านช่องทางเดิม

คนท้องถิ่นใช้งานโซเชียลเพิ่มโอกาสให้ธุรกิจ ศิวัตร เชาวรียวงษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มอินเตอร์แอคชั่น