posttoday

การปฏิรูปกิจการ พระพุทธศาสนา (1)

10 กันยายน 2560

ในห้วงเวลานี้ ถ้าจะให้เขียนอะไรเกี่ยวกับวงการพระพุทธศาสนา คงไม่มีเรื่องใดที่น่าสนใจมากไปกว่า “การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา”

โดย  พระราชวรมุนี (พล อาภากโร ป.ธ.9, Ph.D.) กรรมการและเลขานุการด้านศาสนศึกษา มหาเถรสมาคม

ในห้วงเวลานี้ ถ้าจะให้เขียนอะไรเกี่ยวกับวงการพระพุทธศาสนา คงไม่มีเรื่องใดที่น่าสนใจมากไปกว่า “การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา” เพราะการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาที่ได้เริ่มลงมือสู่ภาคปฏิบัติแล้ว (Vision to Action)

ย้อนความให้ทราบนิดหนึ่งว่า การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนานี้ เริ่มมาตั้งแต่วันที่ 14 ก.ค. 2558 พลันที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแผนการดำเนินงานของคณะสงฆ์ 6 ด้าน + 1 ด้าน ที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เสนอ

คณะสงฆ์ได้มุ่งมั่นและเกิดเป็นแรงบันดาลใจที่จะปรับปรุงระบบกลไกที่มีอยู่ของคณะสงฆ์ และจะพัฒนางานให้ก้าวไปข้างหน้าในเชิงรุกเพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของโลก จึงเอาพันธกิจ 6 ด้าน ของคณะสงฆ์มาเป็นตัวตั้ง คือ 1) งานด้านการปกครอง 2) งานด้านศาสนศึกษา 3) งานด้านเผยแผ่ 4) งานด้านสาธารณูปการ 5) งานด้านศึกษาสงเคราะห์ 6) งานด้านสาธารณสงเคราะห์ ผนวกเข้ากับอีก 1 ด้าน คือ งานด้านพัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาแห่งโลก โดยมหาเถรสมาคม (มส.) อาศัยอำนาจตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ. คณะสงฆ์ 2505 แก้ไข 2535 แต่งตั้งคณะทำงานทั้ง 6 ด้าน มารับผิดชอบในงานแต่ละด้าน พูดง่ายๆ คือ ให้มีองค์คณะมาทำงานพิจารณากลั่นกรอง/วิเคราะห์งานก่อนนำเสนอมหาเถรสมาคมนั่นเอง

การปฏิรูปกิจการ พระพุทธศาสนา (1)

โครงสร้างการทำงานนี้ก็ให้จำลองแบบไปถึงระดับจังหวัด โดยให้ตั้งคณะกรรมการแต่ละด้าน ทั้ง 6 ด้าน มาพิจารณากลั่นกรอง/วิเคราะห์งานให้แก่เจ้าคณะภาค และเจ้าคณะจังหวัด หมายความว่า ต่อไปนี้ เจ้าคณะภาคและเจ้าคณะจังหวัด ก็จะมีมือทำงาน โดยรับ “หน้าที่” ทำงานให้ ส่วน “อำนาจ” นั้นก็ยังคงให้ผูกติดอยู่กับเจ้าคณะผู้ปกครองเหมือนเดิม

การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนได้วางแผนการทำงานไว้ 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 (มิ.ย.-ธ.ค. 2558)

- ระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน

ระยะที่ 2 (ม.ค.-ธ.ค. 2559)

- กำหนดภาระงานของคณะสงฆ์ทั้ง 6 ด้าน + 1

- ยกร่างแผนยุทธศาสตร์การปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา ระยะ 5 ปี

ระยะที่ 3 (ม.ค. 2560-ธ.ค. 2563)

- นำเสนอ มส.เพื่ออนุมัติแผนยุทธศาสตร์

- ดำเนินงานตามแผน

- ติดตามผลการดำเนินงาน

ปฏิรูประยะที่ 3

ถามว่าขณะนี้คณะสงฆ์ทำงานไปถึงขั้นตอนไหน คำตอบ ก็คือ อยู่ในระยะที่ 3 โดยได้นำเสนอ มส.ให้อนุมัติยุทธศาสตร์หรือแผนแม่บทที่จะทำแล้ว และได้เริ่มลงมือทำงานตามแผน โดย มส.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานแผนยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา (คปพ.) มีพระราชวรเมธี วัดประยุรวงศาวาส เป็นประธานกรรมการและผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการ มส. เป็นกรรมการและเลขานุการ ซึ่งทางคณะกรรมการ คปพ.ได้จัดสัมมนาสื่อสารให้คณะสงฆ์ทั้ง 4 หน ได้รับทราบไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

พร้อมทั้งคณะสงฆ์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการระดับภาคขึ้นมาอีกชุด เพื่อเป็นคณะกรรมการประสานแผนงานการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาระดับภาค องค์ประกอบของคณะกรรมการ ประกอบด้วย เจ้าคณะภาค รองเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด รองเจ้าคณะจังหวัด ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาประจำจังหวัด (พศจ.) และผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่างๆ เป็นต้น

ให้เป็นคณะกรรมการประสานงาน/ดำเนินงาน ร่วมกันจัดทำแผนปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาของจังหวัดให้แล้วเสร็จในเดือน ต.ค. 2560เมื่อคณะกรรมการทั้ง 6 ด้าน และ คปพ.ได้แผนงาน/โครงการ/และกิจกรรมภาพรวมทั้งประเทศแล้ว จะนำมาสังเคราะห์เป็นภาพรวมยุทธศาสตร์ระดับชาติ นำเสนอ มส.เพื่ออนุมัติและส่งผ่านไปยังรัฐบาล เพื่อขอรับการอุดหนุนงบประมาณแผ่นดินมาดำเนินการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา

อะไรคือปฏิรูป

แท้ที่จริงแล้วอยากทำความเข้าใจเกี่ยวกับคำว่า “ปฏิรูป” (Reform) เพิ่มเติมอีกนิด “การปฏิรูป” คือ การที่คณะสงฆ์เราเกิดแรงบันดาลใจที่จะลุกขึ้นมาปรับปรุง เปลี่ยนแปลง ยกระดับ เพิ่มขีดความสามารถ เพิ่มศักยภาพ กลไกที่มีอยู่ของคณะสงฆ์ให้ดีขึ้นกว่าเดิม พร้อมกันนี้ก็มีแนวคิดหรือนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะนำมาใช้กับวงการคณะสงฆ์เพื่อให้ทันโลก ทันเหตุการณ์ เพราะเราทั้งหลายทราบกันดีว่าขืนเรายังไม่ลุกขึ้นมาขยับตัวเองยังปล่อยให้กลไกที่มีอยู่เป็นไปตามยถากรรม ก็มีอันหวังได้ว่า พระพุทธศาสนาของเราก็มีส่วนคล้อยสั่นคลอนและอาจล่มสลายไปในที่สุด