posttoday

อย่าเชื่อคำพาล

23 กรกฎาคม 2560

การเสพสื่อสมัยนี้ อายตนะภายในอย่าง “หู” ต้องพกหินถ่วงหูให้หนักไว้หน่อยจะได้ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ

โดย...อารยชล

การเสพสื่อสมัยนี้ อายตนะภายในอย่าง “หู” ต้องพกหินถ่วงหูให้หนักไว้หน่อยจะได้ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ถ้าพกแต่นุ่นอาจเผลอเป็น “พาล” โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัว ยิ่งทุกวันนี้เห็นเป็นกันเยอะ

ข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวเต้า ข่าวไม่จริง ข่าวไม่มีข้อเท็จจริงทั้งหลาย หรือข่าวให้ร้ายคนอื่น รับมาเชื่อหมด แชร์มาข้าก็แชร์ไป หรือได้ยินใครพูดอะไรมาก็เชื่อไว้ก่อน

อย่างนี้ทางพระก็เรียกว่า “พาล” แปลว่า โง่ เพราะไม่รู้จักใช้ปัญญาขบคิดพิจารณาให้ดีก่อนจะเชื่ออะไร ซึ่งพอไม่ใช้ปัญญา ก็เลยเกิดปัญหาขึ้น เหมือนอย่างเรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้

เป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดกับคนแต่เกิดกับช้าง แถมเป็นช้างทรงของพระเจ้าพรหมทัตผู้ครองเมืองพาราณสีด้วย ช้างมงคลเชือกนี้มีชื่อว่า “มหิฬามุข”

บุคลิกและนิสัยของช้างมหิฬามุข เป็นสัตว์น่ารัก ฉลาด แสนรู้ เป็นสัตว์ที่ใครๆ ก็เข้าใกล้ได้เสมอ ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกทำร้าย ถ้าเปรียบกับคนก็คนมีศีล มีธรรม มีมารยาท ไม่ใช่คนโหดร้าย ป่าเถื่อน เจ้าอารมณ์ ประมาณนั้น

กาลต่อมา ช้างมหิฬามุขแปรเปลี่ยนไป ไม่ได้เป็นช้างมงคลซะแล้ว บุคลิก นิสัย มารยาทเปลี่ยนไปสิ้น จากเดิมเป็นสัตว์น่ารักนิสัยดี ไม่ก้าวร้าว แต่จู่ๆ กลายเป็นสัตว์ดุร้าย หยาบคาย ใครก็เข้าใกล้ไม่ได้เลย

แม้กระทั่งคนเลี้ยงช้างคนเก่าก็พลาดท่าถูกช้างกระทืบตาย จนต้องหาคนเลี้ยงช้างคนใหม่มาดูแล แต่ก็พลาดเกิดเหตุอีกจนใครก็ไม่อยากรับหน้าที่นี้ เพราะเสี่ยงต่อการถูกช้างทำร้ายถึงชีวิต

เหตุการณ์นี้ดังออกนอกกำแพงวังจนพระเจ้าพรหมทัตไม่ทรงนิ่งนอนพระทัย จึงรับสั่งให้อำมาตย์เก่งคนหนึ่งไปตรวจหาสาเหตุว่าเกิดอะไรขึ้นกับช้างมหิฬามุข

พออำมาตย์ไปตรวจที่โรงช้างก็ไม่เห็นความผิดปกติอะไร แต่เขาก็เฉลียวใจและค่อนข้างมั่นใจว่าน่าจะมีใครสอนหรือมีคนมาพูดอะไรไม่ดีให้ช้างได้ยินแน่ๆ และพอช้างได้ยินอย่างใดมันก็ทำอย่างนั้นเพราะเข้าใจว่าคนสั่งให้ทำ

อำมาตย์จึงถามคนดูแลช้างก็ทราบความจริงว่าในช่วงหลังๆ นี้มักจะมีพวกโจรมาคุยและวางแผนปล้นสะดมอยู่ใกล้ๆ กับโรงช้างเป็นประจำ อาจทำให้ช้างได้ยินคำพูดของโจรที่คุยกัน

เช่นคำพูดเหล่านี้ ถ้าใครอยู่ข้างหน้า หรือกระทำการขัดขวางให้ฆ่าทิ้งได้เลย ไม่ต้องปล่อยไว้ หรือแม้จะอ้อนวอนขอชีวิตก็ไม่ต้องไปสนใจ ฆ่ารันฟันแทงสถานเดียว ไม่จำเป็นต้องพูดดีด้วย

ทุกเสียงสนทนาและทุกคำพูดของโจรถูกช้างเมโมรีไว้หมด!!

พอช้างได้ยินพวกโจรคุยกันอย่างนี้ ก็เข้าใจว่าโจรสอนให้ตัวเองทำและเป็นอย่างนั้น คือ ต้องเป็นช้างที่ดุร้าย หยาบคาย ร้ายกาจ ไร้ความปรานี ใครขวางทางต้องฆ่าหมด

อำมาตย์หลวงจึงไปกราบทูลพระเจ้าพรหมทัตให้ทรงทราบแล้ว พร้อมเสนอวิธีแก้ “หนามยอกเอาหนามบ่ง” “ธรรมะย่อมชนะอธรรม” หรือ “คนดีย่อมชนะคนไม่ดี” ด้วยการนิมนต์สมณพราหมณ์ผู้มีศีลมาเทศน์สอนและสนทนาธรรมให้ช้างฟังตลอด

พอช้างได้ฟังเรื่องดีๆ คำพูดดีๆ แฝงด้วยเมตตาบ่อยๆ ก็กลับนิสัยเดิม มีกิริยาเรียบร้อย ความดุร้ายหยาบคายร้ายกาจหายไปสิ้นตั้งแต่นั้นมา

นี่แหละผลของการได้ยินอะไรแล้วเชื่อทันทีโดยที่ไม่ไตร่ตรอง ขนาดช้างยังเปลี่ยนได้ขนาดนี้ แล้วคนล่ะคงยุ่งวุ่นวายกว่านี้หลายเท่า

โปรดจำไว้ว่าคำพูดของคนไม่ดีหรือการมั่วสุมกับคนไม่ดีย่อมมีโอกาสเปลี่ยนนิสัยใจคอเป็นคนไม่ดีได้ เพราะฉะนั้นจงระวังพาลาให้ไกล อย่าลืมว่างูมีพิษที่เขี้ยว แมลงวันมีพิษที่หัว แมงป่องมีพิษที่หาง แต่คนพาลมีพิษอยู่ทั่วตัว