posttoday

ดร.พระมหานงค์ แนะให้บำเพ็ญบารมีในช่วงพรรษา

16 กรกฎาคม 2560

พระอาจารย์ ดร.พระมหานงค์ สุมงฺคโล ป.ธ.9 อาจารย์ใหญ่สำนักปฏิบัติธรรม และผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดยานนาวา

โดย...สมาน สุดโต

พระอาจารย์ ดร.พระมหานงค์ สุมงฺคโล ป.ธ.9 อาจารย์ใหญ่สำนักปฏิบัติธรรม และผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดยานนาวา แนะนำชาวพุทธให้บำเพ็ญบารมีในช่วงเข้าพรรษา ในเมื่อพระสงฆ์อธิษฐานพรรษาแล้ว โยมพุทธบริษัทก็ควรอธิษฐานเพื่อสร้างบารมีเช่นกัน โดยพรรษาแรกนี้อาจบำเพ็ญทานบารมีก่อน

(บารมี ประกอบด้วย 1.ทานบารมี 2.ศีลบารมี 3.เนกขัมมะบารมี 4.ปัญญาบารมี 5.วิริยะบารมี 6.ขันติบารมี 7.สัจจะบารมี 8.อธิษฐานบารมี 9.เมตตาบารมี 10.อุเบกขาบารมี)

พระอาจารย์ ดร.พระมหานงค์ ซึ่งเป็นประธานสงฆ์วัดนวมินทรราชูทิศ เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศสอีกตำแหน่งหนึ่ง ปรารภธรรมเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2560 ในโครงการ “พัฒนาจิตเพื่อชีวิตและการทำงานที่เป็นสุข” จัดโดย บริษัท โพสต์ พับลิชชิง ปีที่ 2

ท่านแนะว่า เมื่อบำเพ็ญทานบารมีในพรรษาแรก พรรษาต่อไปก็บำเพ็ญศีลบารมี เมื่อครบ 10 พรรษา เราก็ได้ชื่อว่าบำเพ็ญบารมีได้ครบ 10 เมื่อเข้ารอบ 10 พรรษาครั้งที่ 2 ก็บำเพ็ญอุปบารมีต่อจนครบ 10 เมื่อเข้ารอบ 10 พรรษาครั้งที่ 3 ก็บำเพ็ญปรมัตถบารมี จนครบ 10 รวมเรียกว่าบารมี 30 ทัศ โดยใช้เวลา 30 พรรษา ดูเหมือนน้อยแต่ได้ผลในระยะยาว ส่วนเรื่องศีลนั้นพระสงฆ์ให้ความสำคัญ ดังที่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นประธานรณรงค์ให้มีหมู่บ้านรักษาศีล 5 ทั่วราชอาณาจักร ซึ่งก็ได้ผลระดับหนึ่ง แต่การรับศีล 5 เป็นพิธีการเป็นส่วนมาก ทำเพียงสมาทานวิรัติ ซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะหน้าเท่านั้น จึงขอแนะนำว่า ให้ยกระดับการรักษาศีล 5 ให้สูงจากสมาทานวิรัติ ขึ้นสู่สัมปัตตวิรัติ และสุดท้ายให้เข้าสู่สมุจเฉทวิรัติ

ดร.พระมหานงค์ แนะให้บำเพ็ญบารมีในช่วงพรรษา พระอาจารย์ ดร.มหานงค์ สุมงฺคโล นำเดินจงกรม

เมื่อพัฒนาได้อย่างนี้ชีวิตจะมีความสุข ทั้งนี้เพราะคนเรานั้นประกอบไปด้วยกายกับจิตเท่านั้น ต้องเร่งทำความดี อย่าประมาท เหมือนมีไฟไหม้ที่ศีรษะ ปล่อยไว้ไม่ได้ต้องรีบดับ การทำความเพียรในธรรมะก็เช่นเดียวกัน ต้องรีบทำ ถ้าไม่เช่นนั้นก็เท่ากับเราประมาทซึ่งโครงการ “พัฒนาจิตเพื่อชีวิตและการทำงานที่เป็นสุข” วันนี้เป็นการเปิดพื้นที่ของใจ เพื่อปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานให้อยู่กับธรรมะ จิตสงบพบธรรมะ 1 วัน (คือไม่ประมาท)

ก่อนหน้านั้น อาจารย์พระมหานงค์ ได้ให้ความรู้เรื่องเวลา โดยเล่าว่า ประเทศฝรั่งเศสให้ความสำคัญเรื่องเวลามาก (ซึ่งท่านจะไปอธิษฐานปัจฉิมพรรษา คือ การเข้าพรรษาหลังที่ฝรั่งเศส เดือนหน้า) เวลา 12.00-14.00 น. เป็นเวลาพักผ่อน หลังจากนั้นเป็นเวลาทำงาน ส่วนนักเรียนฝรั่งเศสก็เช่นกัน เรียน 10 วัน พัก 15 วัน เมื่อเปิดใหม่ก็เรียนอีก 2 เดือน แล้วก็หยุด 15 วัน การหยุดแบบนี้ทำให้นักเรียน ครู และผู้ปกครองมีเวลาพักผ่อนด้วย เปรียบกับไทยแล้วไม่มีเวลาพักผ่อน วัฒนธรรมการทำงานของไทยกับฝรั่งเศสต่างกัน ฝรั่งเศสถือเวลาเป็นสำคัญ ส่วนไทยเราทำงานทุกวัน สะสมโรคเครียดไว้มาก ท่านได้เล่าว่า หอจดหมายเหตุพุทธทาส ที่สวนจตุจักรนิมนต์พระให้ไปเจริญกายคตาสติ คือ ให้ไปดูหมอผ่าศพพิสูจน์ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพราะญาติผู้ตายคนหนึ่ง (คุณลุง) ต้องการทราบสาเหตุการตายของคุณลุง จึงขอให้หมอผ่าศพพิสูจน์ ไปดูแล้วก็พบความจริงว่า ทั้งสมองและร่างกายมนุษย์เป็นอย่างไร ส่วนคุณลุงที่ตายนั้น หมอสันนิษฐานว่าเลือดคั่งในสมอง จึงขอให้ระวังเรื่องเส้นเลือดในสมองอย่าให้ ตีบ ตัน และแตก ส่วนโรคที่เข้าสู่ร่างกายผ่านทางทวาร 9 ได้แก่ ตา 2 ข้าง หู 2 ข้าง จมูก 2 ช่อง ปาก 1 อุจจาระ 1 ปัสสาวะ 1 ส่วนโรคกิเลสมาทางทวาร 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เมื่อดูการผ่าศพ พบว่าแต่ละคนมีโรคอยู่ในตัว โดยเฉพาะโรคเครียดเป็นภัยเงียบ ถ้าเราไม่ทำงาน ช่วยให้สมอง กาย ใจ ได้พักผ่อน ความเครียดก็ลดลง เพราะฉะนั้นจึงฝากไว้ มนุษย์ควรดูแล 2 อย่าง คือ กายและใจทุกวันในช่วงเข้าพรรษา 3 เดือนนี้

โครงการ “พัฒนาจิตเพื่อชีวิตและการทำงานที่เป็นสุข” ประกอบด้วย ฟังธรรม 30 นาที เดินจงกรม 30 นาที นั่งสมาธิ 30 นาที และสวดมนต์ 30 นาที จบเมื่อเวลา 16.00 น. ซึ่งโกวิทย์ ราชิวงค์ VP-Staff Developmemt & Special Project Bangkok Post Public Company Limited สรุปจากคำสอนพระอาจารย์ ดร.พระมหานงค์ สุมงฺคโล ไว้ใน fb ว่า “เมื่อสมองคิดเรื่องเป็นบุญเป็นกุศล ให้รีบเอาใจไปรองรับ...
แต่เมื่อสมองเผลอคิดเรื่องเป็นบาปเป็นอกุศล ให้รีบเอาสติไปกั้นไว้”

ดร.พระมหานงค์ แนะให้บำเพ็ญบารมีในช่วงพรรษา พนักงานระหว่างเดินจงกรม