posttoday

พระไปเรียนเตรียมพระธรรมทูต

09 กรกฎาคม 2560

วัดไทยพุทธคยา อินเดีย ร่วมกับสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ร่วมกันจัดส่งพระสงฆ์ไทยไปฝึกอบรม

โดย...สมาน สุดโต

วัดไทยพุทธคยา อินเดีย ร่วมกับสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ร่วมกันจัดส่งพระสงฆ์ไทยไปฝึกอบรมเตรียมพระธรรมทูตเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือนในประเทศอินเดีย เพื่อเข้าอบรมเป็นพระธรรมทูต ทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศและต่างประเทศต่อไป

 สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ได้จัดส่งพระสงฆ์ไทย ลาว กัมพูชา ไปอบรมพระธรรมทูตเชิงลึกในประเทศอินเดียมาแล้ว 5 ปีติดต่อกัน ส่วนเตรียมพระธรรมทูตนั้น วัดไทยพุทธคยาและสถาบันทำมาแล้ว 1 รุ่น ล่าสุดเป็นรุ่นที่ 2 เพื่อต่อยอดจากโครงการเดิมที่หันมาดำเนินการจัดธรรมยาตรา พาพระสงฆ์ 5 ประเทศ 40 กว่ารูปธุดงค์ โปรดญาติโยมในไทย สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม และเมียนมา เป็นเวลา 14 วัน ซึ่งปิดโครงการเมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2560 ท่ามกลางการอนุโมทนาจากชาวพุทธที่โครงการนี้ช่วยปลุกชาวพุทธให้ตื่นตัว และสร้างสามัคคีใน 5 ประเทศ โดยนำหลักธรรมพระพุทธศาสนาเป็นแกนนำ

เมื่อ 3 ก.ค. 2560 สุภชัย วีระภุชงค์ (เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980) เขียนในไลน์ว่าไปร่วมพิธีเปิดหลักสูตร “พุทธศาสน์การทูต” (เตรียมพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล รุ่นที่ 2) ของพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล ร่วมกับสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ณ วัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี เพื่อส่งพระสงฆ์ไทยจำนวน 50 รูป ไปอบรมที่อินเดีย ในจำนวน 50 รูปนั้น แบ่งเป็นพระสงฆ์ในหลักสูตรเตรียมพระธรรมทูต รุ่นที่ 2 จำนวน 37 รูป พระสงฆ์ในหลักสูตรเตรียมพระธรรมทูต รุ่นที่ 1 ที่กลับไปปฏิบัติหน้าที่ในแดนพุทธภูมิ จำนวน 12 รูป พร้อมทั้งผู้ดูแลหลักสูตร 1 รูป (รวม 50 รูป) ทั้งหมดเดินทางสู่แดนพุทธภูมิ เพื่อการศึกษา ปฏิบัติธรรมเชิงลึก เป็นการ “ปลูกฝัง เพิ่มศรัทธา พัฒนาจิตสำนึก ลงลึกวิชาการ ให้เชี่ยวชาญการปฏิบัติ และมีอุดมการณ์ชัด เพื่อสานงานของพระพุทธองค์” เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือนเต็ม

  พระธรรมโพธิวงศ์ หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล ผู้อำนวยการหลักสูตรฯ ประธานฝ่ายสงฆ์ ได้กล่าวเปิดงานและให้โอวาทแก่คณะพระสงฆ์ โดยมี สุภชัย วีระภุชงค์ เลขาธิการสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 พร้อมด้วยคณะกรรมการคนสำคัญของสถาบัน อาทิ พล.อ.นินนาท เบี้ยวไข่มุก คุณนิวัฒน์ แจ้งอริยวงศ์ คุณเกษม มูลจันทร์ เป็นต้น ได้เดินทางร่วมในพิธีเปิดงานส่งพระสงฆ์ไทย พร้อมทั้งกล่าวถึงอุดมการณ์และแนวทางในการส่งพระไปฝึกอบรมที่แดนพุทธภูมิของสถาบัน อีกทั้งทางคณะกรรมการผู้บริหารของสถาบันยังร่วมทุนสนับสนุนการส่งพระสู่แดนพุทธภูมิ เช่น คุณนิวัฒน์ แจ้งอริยวงศ์ ขอเป็นเจ้าภาพถวายจตุปัจจัยแก่พระสงฆ์ทุกรูปอีกด้วยพระสงฆ์ที่ผ่านการคัดเลือกจากทั่วประเทศ จำนวน 50 รูป ได้ออกเดินทางสู่พุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ ในเช้ามืดวันที่ 5 ก.ค. 2560

ในเรื่องเดียวกันนี้ ผมมีโอกาสสัมภาษณ์พระครูปริยัติโพธิวิเทศ หรือพระอาจารย์คมสรณ์ ที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2560 ในวันที่ มจร ปิดโครงการอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศ รุ่นที่ 23 ประจำปี 2560 ซึ่งท่านคมสรณ์เป็นกรรมการตรวจสอบคุณสมบัติพระธรรมทูตสายต่างประเทศของ มจร ว่ารูปไหนมีคุณสมบัติครบ หรือไม่ครบ จึงได้กราบเรียนถามถึงโครงการอบรมเตรียมพระธรรมทูต ซึ่งในช่วงนั้นพระในโครงการเตรียมพระธรรมทูตกำลังเดินทางเข้าอบรมที่วัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี จ.สมุทรปราการ ท่านเล่าว่าพระที่เข้าร่วมโครงการได้รับการคัดเลือกจากกรรมการโดยการสัมภาษณ์ จึงส่งเข้าอบรมกรรมฐานเพื่อเตรียมความพร้อม หลังจากจบคอร์สกรรมฐาน วันที่ 19 มิ.ย. จะพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ผู้ที่ผ่านความเห็นชอบจึงขอวีซ่าไปประเทศอินเดีย เพื่อเข้าอบรมที่วัดไทยพุทธคยา เป็นเวลา 1 พรรษา เมื่อออกพรรษาแล้วจะออกเดินทางไปยังพุทธสถานอันเป็นสถานที่จริงตามพุทธประวัติ เมื่อจบหลักสูตรสามารถเข้าอบรมพระธรรมทูตสายต่างประเทศที่ มจร หรือ มมร.ก็ได้

ท่านพระครูคมสรณ์ เล่าว่า โครงการเตรียมพระธรรมทูตรุ่นนี้เป็นรุ่นที่ 2 โดยสานต่อจากโครงการพระธรรมทูตเชิงลึก ที่ดำเนินการโดยสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 ที่ดำเนินการมา 5 รุ่น รุ่นละ 30 รูป ถ้านับรวมกับเตรียมพระธรรมทูต 2 รุ่น จึงเป็น 7 รุ่น

ส่วนคุณสมบัติของพระภิกษุที่ผ่านการสัมภาษณ์เพื่อเข้าอบรมนั้น โดยหลักแล้วพระภิกษุต้องมีคุณสมบัติดังนี้ 1.ต้องมีความสามารถงานนวัตกรรม หรืองานก่อสร้างทั้งหมด 2.ความสามารถในการเผยแผ่ เน้นการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ และการใช้สื่อมีเดีย ซึ่งจะเน้น 2 กลุ่มนี้เป็นพิเศษ 3.การทำงานกองงานเลขา และต้องศึกษาการทำงานพระธรรมทูตทั่วไปด้วย

พระครูปริยัติโพธิวิเทศ กล่าวว่า พระธรรมโพธิวงศ์ (วีรยุทธ) หัวหน้าพระธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาล เน้นให้พระธรรมทูตเรียนรู้ระบบบริหารจัดการและการทำงานในเชิงรุก นอกจากเรียนรู้ในเชิงลึก (เรียนรู้พุทธสถานและพุทธธรรม) เชิงรุกคือสามารถประกาศพระศาสนานอกวัดได้การทำงานพระธรรมทูตเน้นเรื่องเป็นด้วย ทำงานได้ด้วย จึงต้องฝึกอบรมหลายชั้น ดังนั้นฝึกเตรียมยังไม่ถือว่าเป็นพระธรรมทูต ผ่านเตรียมก็อบรมต่อ เตรียมเป็นการคัดกรองชั้นหนึ่งเพื่อให้ได้บุคคลที่มีศักยภาพมากขึ้น ทำให้เราได้พระที่สามารถทำงานได้จริงๆ

 พระครูปริยัติโพธิวิเทศ พระเถระที่เป็นนักบริหารและจัดการที่ได้รับความไว้วางใจจากพระ พระธรรมโพธิวงศ์ หัวหน้าพระธรรมทูตไทยสายประเทศอินเดีย-เนปาลเจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย ให้ทำงานต่างๆ ทางด้านบริหารมากมาย เช่น ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดไทยเชตวันมหาวิหาร เมืองสาวัตถี ผู้อำนวยการ (กิตติมศักดิ์) สถานพยาบาลกุสินาราคลินิก เมืองกุสินารา เจ้าอาวาสวัดไทยนวราช 960 ในนามเลขาธิการวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ จึงดูแลวัดไทยอโยธยา (อยู่ระหว่างพาราณสีกับสาวัตถี) วัดสิทธารถราชมณเฑียรตั้งอยู่ระหว่างทางสาวัตถีไปเนปาล ดูแลการก่อสร้างวัดไทยอจันตาแอลโรล่า ที่พระธรรมโพธิวงศ์มีนโยบายให้เปิดงานพระธรรมทูตไปยังแคว้นมหาราษฎร์ อินเดีย ดูแลการสร้างวัดไทยบรมธาตุ ที่อยู่ด้านหลังวัดไทยกุสินาราเฉลิมราชย์ที่ต้องดำเนินการเรื่องเอกสารมากมาย หลายรายการในประเทศไทย ดูแลและประสานงานเกี่ยวกับสร้างวัดสุวรรณภูมิพุทธชยันตี จ.สมุทรปราการ และไม่ทิ้งมาตุภูมิ จึงเป็นผู้นำในการสร้างวัดกาลันทา บุรีรัมย์ เป็นการทำงาน 3 ภูมิประสานกัน คือ พุทธภูมิ อินเดียสุวรรณภูมิ สุวรรรภูมิที่ประเทศไทย และมาตุภูมิที่บ้านเกิด งานทั้งหมดที่ดำเนินการเป็นงานเชิงรุก โดยไม่อยู่กับที่ เป็นงานจรออกไป พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสว่าท่านทั้งหลายจงเป็นเจ้าอาวาสอยู่วัดนั้นวัดนี้ แต่ตรัสว่า จรถะ ภิกขเว จาริกํ พหุชนหิตายะ ดังนั้นจึงต้องเดินทาง และไปรูปเดียว ไปหาทีมเวิร์กข้างหน้า หาออฟฟิศข้างหน้า หางานข้างหน้า เพราะไปแบบมีวัตถุประสงค์ว่าไปเพื่ออะไร ทำอะไร ไปแล้วมีงานรองรับทุกที่ จึงไม่เสียเวลาสมณศักดิ์ของพระทำงานรูปนี้คือ พระครูปริยัติโพธิวิเทศ ชั้นพิเศษ เทียบผู้เป็นเจ้าอาวาสพระอารามหลวงชั้นเอก