posttoday

เสฐียร พันธรังษี ปราชญ์ของแผ่นดิน (จบ)

02 กรกฎาคม 2560

ดร.ชาย โพธิสิตา กล่าวว่า ส่วนหนังสือเรื่อง ละครในศาสนา นั้น อาจารย์เสฐียรแต่งเป็นเรื่องละครให้ผู้อ่านจินตนาการเอาเอง

โดย...สมาน สุดโต

ดร.ชาย โพธิสิตา กล่าวว่า ส่วนหนังสือเรื่อง ละครในศาสนา นั้น อาจารย์เสฐียรแต่งเป็นเรื่องละครให้ผู้อ่านจินตนาการเอาเอง ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับศาสนาเปรียบเทียบ จึงเห็นได้ว่า อาจารย์เสฐียร นั้นเป็นคนข้ามนวัตกรรม หนังสือนี้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2506

ดร.ชาย บอกที่ประชุมว่า เรื่องที่ทันสมัยเสมอ คือ เรื่อง ภราดรภาพ หรือศาสนาสามัคคี ที่อาจารย์เขียนไว้ตอนท้ายของ ละครในศาสนา เพราะให้ข้อคิดในเรื่องหลักธรรมของทุกศาสนา ให้ผู้มีปัญญาพิจารณาว่าโลกจะตั้งอยู่ได้ด้วยธรรมะบทใด สังคมจะพินาศลงได้เพราะธรรมบทใด

ในขณะที่พระศรีธวัชเมธี (ชนะ ภมรพล ป.ธ.9 M.A.) เขียนอนุทินฉบับที่ 141 โดยสรุปถึงถิ่นกำเนิด สถานศึกษา และที่มาของชื่อ เสฐียร และนามสกุลพันธรังษี โดยโยงเรื่องจากวัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ แหล่งพำนักเบื้องต้น และที่บ่มเพาะปัญญาความรู้ โดยมีพระอมรเมธาจารย์ (สาหร่าย จนฺทรํสี ป.ธ.6) วัดมหาธาตุ เป็นผู้ดูแล

เสฐียร พันธรังษี ปราชญ์ของแผ่นดิน (จบ) พระศรีธวัชเมธี (ชนะ ภมรพล ป.ธ.9 M.A.) สมทบทุนมูลนิธิเสฐียร พันธรังษี

พระศรีธวัชเมธี มิได้เล่าเรื่องความประทับใจต่ออาจารย์เสฐียรเท่านั้น แต่โยงถึงอาจารย์ของอาจารย์เสฐียร ที่ชื่อ พระอมรเมธาจารย์ (สาหร่าย จนฺทรํสี ป.ธ.6) ด้วย เพราะพระอมรเมธาจารย์ ลาสิกขาออกจากวัดมหาธาตุไปเป็นเขยเมืองสุพรรรณ เมื่อไปแต่งงานกับสาวบางใหญ่ อ.บางปลาม้า

ท่านเขียนว่า ย้อนไปเมื่อราวปี 2521-2522 คือร่วม 40 ปีที่แล้ว

ข้าพเจ้าเป็นศิษย์เรียนวิชา เรื่อง ศาสนาโบราณและศาสนาเปรียบเทียบ สังกัดคณะพุทธศาสตร์ สมัยนั้นวิชาศาสนาโบราณใช้ชีตแจกอยู่เลย สมัยที่เรียนยังมีร้านหนังสือขายอยู่ที่ริมคลองหลอด สนามหลวง ใกล้แม่พระธรณีบีบมวยผม ซึ่งข้าพเจ้าจำได้แม่นยำว่า วันหนึ่งไปค้นหนังสือเก่าๆ ดู ได้เจอหนังสือ “ละครในศาสนา” ที่อาจารย์เสฐียรประพันธ์ไว้ และซื้อมา จำไม่ได้ราคาเท่าไร รู้แต่ว่าราคาย่อมเยามาก หนังสือก็หายไปไหนไม่รู้ แต่วันนี้ในปี 2560 ดร.ชายโพธิสิตา จะมาทบทวนและปาฐกถา เรื่อง ละครในศาสนา

เสฐียร พันธรังษี ปราชญ์ของแผ่นดิน (จบ) ศ.พิเศษ จำนงค์ ทองประเสริฐ ศ.พิเศษ อดิศักดิ์ ทองบุญ และพัลลภ ไทยอารี ถวายผ้าไตรในงานวันเสฐียร พันธรังษี วันที่ 3 มิ.ย. 2560 ณ วัดมหาธาตุ

เจ้าคุณพระศรีธวัชเมธี เล่าถึงมหาเฉลิม ยิ้มสมบูรณ์ (พ.อ.พิเศษเฉลิม ยิ้มสมบูรณ์) คนบางใหญ่ อ.บางปลาม้า ศิษย์เก่าวัดพระพิเรนทร์ วรจักร ที่พูดกรอกให้ฟังบ่อยว่า **มีคนเก่าแก่เล่าให้ผมฟังว่า เจ้าคุณสาหร่ายเป็นผู้ตั้งชื่อและนามสกุลให้อาจารย์เสฐียร พันธรังษี เพราะเจ้าคุณสาหร่ายฉายา “จันทรํสี” และชื่อ “เสฐียร” การใช้ “ฐ” ในสมัยนั้น
ยังไม่มี ท่านเจ้าคุณสาหร่ายคิดเองให้” เจ้าคุณศรีธวัชเมธี ป.ธ.9 นาคหลวง บอกว่า ท่านพันเอกเล่าให้ฟังอย่างนั้น หรือจะฟังผิดไปบ้าง เพราะขัดแย้งกับเอกสารที่นำมาแสดงนิทรรศการและประวัติ ว่าอาจารย์เสฐียรเดิมชื่อ “บุญเฐียร” แล้วมาเปลี่ยนเป็น “เสฐียร” ซึ่งเจ้าคุณสาหร่ายน่าจะเป็นผู้เปลี่ยนชื่อให้มากกว่า คงไม่ถึงกับการใช้อักษร ฐ ยังไม่มีเช่นที่ว่านั้น

ท่าน พ.อ.เฉลิม ยังคุยต่อว่า “เจ้าคุณสาหร่าย ประโยค 6 วัดมหาธาตุ เป็นคนรุ่นราวคราวเดียวกับเจ้าคุณอุ่ม (พระวิบูลเมธาจารย์ อดีตเจ้าคณะจังหวัดสุพรรณบุรี) และเจ้าคุณพาว (พระเมธีวรคณาจารย์) วัดวิเศษการ อดีตเป็นนักเทศน์ใหญ่ เคยเทศน์ปุจฉาวิสัชนาว่า “ระหว่างพระที่นั่งขัดตะหมาดกับนั่งพับเพียบ ใครมีกิเลสหนากว่ากัน”เจ้าคุณสาหร่ายเฉลยว่า “ที่นั่งขัดตะหมาดนั้น นั่งทับความกำหนัดไว้” เจ้าคุณสาหร่ายลาสิกขาปี 2482 ไปแต่งงาน น.ส.วง คนบางใหญ่ ที่เคยเอาของมาขายที่ลานอโศก วัดมหาธาตุ

ท่านผู้พันเฉลิมเวลาพูดแล้ว ยังลงไม่ได้ง่ายๆ ขยายต่อไปว่า “ขนาดสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ป.ธ.9) วัดสามพระยา จะเป็นรุ่นๆ เดียวกันหรือไง เวลาเจอกัน กอดกันกลมเลย เพราะผู้พันเฉลิมเคยนิมนต์สมเด็จวัดสามพระยามาแจกวุฒิบัตรให้สามเณรบวชภาคฤดูร้อนที่วัดบางใหญ่ ทั้งสองพบกันในเวลานั้น” ข้าพเจ้าแกล้งแย้งไปว่า “คงเป็นเพราะเป็นคนอยุธยาเหมือนกันมั่ง” แต่ท่านผู้พันฟันธงเลยว่า “เจ้าคุณสาหร่ายถ้าไม่สึกไป อยู่ต่อไป ต้องเป็นเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุแน่”

เสฐียร พันธรังษี ปราชญ์ของแผ่นดิน (จบ) รศ.ดร.ชาย โพธิสิตา

เจ้าคุณสาหร่ายตายปี 2537 (หลังอาจารย์เสฐียร พันธรังษี ถึงแก่กรรม 3 ปี)

ขอเข้าเรื่องอาจารย์เสฐียร ต่อ ในหนังสืออนุสรณ์มหาจุฬาฯ ปี 2512 มีรูปภาพเสฐียร พันธรังษี และคติธรรมว่า “การศึกษาที่จะให้ผลสมบูรณ์ คือ 1.ให้รู้ว่า นี้คืออะไร? 2.ให้รู้ว่า เพราะอะไรมันจึงเป็นอย่างนั้น 3.ให้รู้ว่า มันควรเป็นอย่างไรต่อไป

เจ้าคุณศรีธวัชเมธี จดจำและเขียนข้อคิดที่ได้จากอาจารย์เสฐียรไว้มาก เช่น

อมตวาจา ถ้าใครเอ่ยถึงประโยคนี้ แสดงว่าเป็นศิษย์อาจารย์เสฐียร คือคำภาษาอังกฤษว่า ไม่เปรียบเทียบก็ไม่เข้าใจ “without comparison is no comprehension : no comparison no comprehension”

เจ้าคุณศรีธวัชเมธี กล่าวว่า ขณะที่ข้าพเจ้าเรียนศาสนาโบราณ เป็นชีตแจก จำวาทะของท่านอาจารย์ได้ประโยคหนึ่ง ที่ว่า “หนังสือผม ยิ่งอ่านยิ่งได้ความรู้เพิ่ม” ข้าพเจ้าเคยไปยืนฟังท่านบรรยายคณะสังคม วิชาสถานการณ์ปัจจุบัน ท่านวิเคราะห์เหตุการณ์ต่างๆ ได้ดีและเด็ดมาก จนข้าพเจ้าอยากจะเปลี่ยนคณะไปเรียนด้วยนี่คือบางส่วนชีวิตและงานของ ศ.พิเศษ เสฐียร พันธธังษี ราชบัณฑิต ปราชญ์ของแผ่นดิน

เสฐียร พันธรังษี ปราชญ์ของแผ่นดิน (จบ) ศาสนาเปรียบเทียบ และละครในศาสนาบทประพันธ์ของอาจารย์เสฐียร พันธรังษี