posttoday

เสฐียร พันธรังษี ปราชญ์ของแผ่นดิน (1)

25 มิถุนายน 2560

“งานวันเสฐียร พันธรังษี” ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2560 จัดว่าเป็นวันรวมนักปราชญ์ราชบัณฑิตวันหนึ่ง

โดย...สมาน สุดโต

“งานวันเสฐียร พันธรังษี” ครั้งที่ 13 เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 2560 จัดว่าเป็นวันรวมนักปราชญ์ราชบัณฑิตวันหนึ่ง เพราะผู้ร่วมงานตั้งแต่พระสงฆ์ถึงฆราวาส ล้วนแต่ทรงภูมิธรรมทั้งสิ้น เนื่องด้วยอาจารย์เสฐียร พันธรังษี เป็นผู้ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นราชบัณฑิตปูชนียบุคคล ปราชญ์ของแผ่นดิน วางรากฐานทางสังคมไทยไว้ในหลากหลายสถานะ นับแต่ฐานะอาจารย์ นักหนังสือพิมพ์ ราชบัณฑิต

การที่เลือกวันที่ 3 มิ.ย. เป็นวันเสฐียรพันธรังษี เพราะตรงกับวันคล้ายวันเกิด คือ วันที่ 3 มิ.ย. 2454 ถ้ามีชีวิตถึงวันนี้ต้องฉลองอายุวัฒนมงคล 106 ปี

หลังจากอาจารย์สนิท ไชยวงศ์คต เพื่อนร่วมรุ่น พล.ต.ทองขาว พ่วงรอดพันธุ์ (ถึงแก่กรรมแล้ว) เป็นพิธีกรแนะนำวีไอพีที่จะกล่าวสัมโมทนียกถา และผลงานของอาจารย์เสฐียร ทั้ง 3 ท่านแล้ว ศ.พิเศษ จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต รองประธานกรรมการมูลนิธิเสฐียร พันธรังษี กล่าวรายงานสรุปว่า อาจารย์เสฐียรนั้นเป็นศิษย์เก่าวัดมหาธาตุ ต่อมาเป็นอาจารย์สอนมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ วิชาที่สอน ได้แก่ ศาสนาโบราณ ศาสนาเปรียบเทียบ พร้อมกับเล่าว่าตนเป็นผู้เสนอให้อาจารย์เสฐียรเข้าเป็นภาคีสมาชิกสำนักธรรมศาสตร์และการเมือง ราชบัณฑิตยสถาน ต่อมาท่านได้รับการโปรดเกล้าฯ เป็นราชบัณฑิต ประเภทวิชาปรัชญา สาขาวิชาศาสนาศาสตร์ เป็นมหาเปรียญคนที่ 3 ที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการราชบัณฑิตยสถาน ที่น่าทึ่ง คือ ทั้ง 3 ท่านเป็นศิษย์วัดมหาธาตุทั้งสิ้น ท่านแรก คือ หลวงวิจิตรวาทการ ท่านที่ 2 คืออาจารย์เจริญ อินทรเกษตร และที่ 3 คือ อาจารย์เสฐียร

พระธรรมปัญญาบดี (พีร์) อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุ และสภานายกมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กล่าวสัมโมทนียกถาว่า ท่านภูมิใจที่เป็นศิษย์ร่วมสำนักอาจารย์เสฐียร แม้ว่าจะมาอยู่ทีหลัง แต่เกียรติคุณของท่านนั้นขจรขจายเป็นที่ภาคภูมิใจของสำนัก พร้อมกันนั้นก็สรรเสริญที่ตั้งมูลนิธิเสฐียร พันธรงษี ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่สงเคราะห์ อนุเคราะห์ เป็นบุญอันประเสริฐ ในขณะที่ฐานะของมูลนิธินั้นมีความมั่นคง อยู่ยงคงกระพัน ไม่ว่าจะเกิดภัยต่างๆ ภัยนั้นจะไม่ส่งผลกระทบมูลนิธิแม้แต่น้อย

เสฐียร พันธรังษี ปราชญ์ของแผ่นดิน (1) บูชิโด หนังสือที่เขียนเพื่อคนไทยและชาติไทย พิมพ์ พ.ศ. 2478

รศ.ดร.ชาย โพธิสิตา กล่าวถึงงานประพันธ์ว่า อาจารย์เสฐียรมีผลงานด้านประพันธ์ตั้งแต่ยังหนุ่ม เมื่อเขียนเรื่อง บูชิโด ออกมา

แรงบันดาลใจที่ท่านเขียนเรื่องนี้ คือ ต้องการให้ไทยเจริญก้าวหน้าทางด้านเศรษฐกิจเหมือนญี่ปุ่น ซึ่งตอนนั้นญี่ปุ่นเป็นประเทศมหาอำนาจ และสร้างลัทธินิยมทางทหารต้องการทำเอเชียเพื่อเอเชีย

หนังสือ บูชิโด ฉบับภาษาอังกฤษ พิมพ์ พ.ศ. 2473 ต่อมาพิมพ์ซ้ำถึง 20 ครั้ง ในเวลา 10 ปีโดยประมาณ อาจารย์เสฐียรเอามาสังเคราะห์และเขียนออกมาตามวิธีของท่านในภาษาไทย เรื่องนี้อ่านเมื่อไรก็พอใจเมื่อนั้น ทั้งๆ ที่ท่านเขียนเรื่องนี้อายุยังไม่มาก พื้นฐานเป็นลูกชาวนาอยู่วัดเมื่ออายุ 11 ขวบ แต่เมื่อเขียนหนังสือเล่มนี้ พิมพ์ครั้งแรก 1,000 เล่ม เมื่อ พ.ศ. 2478 กระทรวงกลาโหมสั่งซื้อถึง 100 เล่ม เพื่อให้ทหารอ่านต่อมาท่านถูกกล่าวหาว่านิยมญี่ปุ่น จึงต้องเขียนแก้ในคำนำเมื่อพิมพ์ครั้งที่2 (ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 6 โดยสำนักพิมพ์ซีเอ็ด มีชื่อเต็มว่า บูชิโด จรรยาของชนชาติทหาร ดวงวิญญาณของญี่ปุ่น แต่ไม่มีจำหน่ายแล้ว)

ผู้เขียนไปที่แผนกหนังสือหายาก ของสำนักหอสมุดแห่งชาติ ขอยืมหนังสือ บูชิโด ออกมาชมเป็นบุญตา จึงถ่ายภาพปกมาด้วย หน้าในท่านเขียนว่าหนังสือเล่มนี้เขียนเพื่อคนไทยและชาติไทยที่ข้าพเจ้ารักและปรารถนาให้มีความเจริญ

คำนำหน้า (จ) ท่านเขียนว่า บูชิโดจะสามารถเป็นสื่อชักนำให้ท่านผู้อ่านมีความกล้าหาญ รักชาติ รักหน้าที่ รักพระมหากษัตริย์และรัฐธรรมนูญ เพื่อความก้าวไปข้างหน้าแห่งประเทศชาติของท่านได้เป็นพิเศษมากกว่าก่อนหน้าที่ท่านได้อ่านบูชิโดเล่มนี้เป็นแน่

เสฐียร พันธรังษี ปราชญ์ของแผ่นดิน (1) คุณกาญจนา และคุณสมบูรณ์ สุ่นสวัสดิ์ ทายาทอาจารย์เสฐียร พันธรังษี

ท่านเสฐียร ต่อมาเป็นนักหนังสือพิมพ์ เป็นนายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย (2 สมัย) เขียนออกตัวว่า หนังสือเรื่อง บูชิโด เป็นหนังสือเล่มแรกในชีวิตแห่งการเขียนของท่าน และที่เขียนออกมาก็ไม่ได้มุ่งหวังทางการค้ากำไร คิดมุ่งหวังที่จะให้บูชิโดได้ทำประโยชน์ให้แก่คนไทยทั้งหลายเท่าที่จะเป็นไปได้ จึงหวังว่าคงไม่มีใครเอาความผิดแม้เล็กน้อยที่อาจปรากฏในหนังสือมาเป็นเหตุแห่งการประทุษร้ายท่านเป็นการส่วนตัว

ส่วนความสำเร็จของหนังสือนี้ ท่านต้องอ่านหนังสือหลายเล่ม และความกรุณาจากเพื่อนและผู้มีคุณหลายท่าน แต่กว่าจะสำเร็จลงได้ก็ต้องฝ่าอุปสรรคอย่างเลือดตาแทบกระเด็น

ท่านเขียนคำนำ ลงวันที่ 10 ส.ค. 2478

(อ่านต่อฉบับหน้า)