posttoday

ทำบัญชีวัด แบบมืออาชีพได้แล้ว

11 มิถุนายน 2560

ประเด็นการดูแลทรัพย์สินของวัด ถูกหยิบยกมาพูดอีกครั้งหนึ่ง หลังจากเกิดกรณีสามเณรปลื้มถูกคนร้ายสังหารแล้วถูกโบกปูน

โดย...ส.คนจริง

ประเด็นการดูแลทรัพย์สินของวัด ถูกหยิบยกมาพูดอีกครั้งหนึ่ง หลังจากเกิดกรณีสามเณรปลื้มถูกคนร้ายสังหารแล้วถูกโบกปูนปิดไว้ในวัดวังตะวันตก สาเหตุมาจากเรื่องบริหารจัดการทรัพย์สินในวัดไม่โปร่งใส

กระแสเรื่องเงินวัดเกิดเป็นระยะๆ ในขณะที่คณะสงฆ์และรัฐบาลก็ไม่นิ่งนอนใจ ดังเช่นเมื่อ พ.ศ. 2511 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2511) มีเนื้อหาและหลักการครอบคลุมทุกเรื่องทั้งสังหาริมทรัพย์ อสังหาริมทรัพย์ และเรื่องเงินทองในวัด ไม่แน่ใจว่าปฏิบัติกันหรือไม่ เพราะไม่ใช่ข้อบังคับ เช่นเดียวกับไวยาวัจกร ตั้งมาแล้ว แต่เจ้าอาวาสไม่มอบงานให้ดูแล ก็ไร้ความหมาย ซึ่งมีอยู่หลายวัด

เมื่อกระแสเรื่องนี้แรง หลายฝ่ายก็ติดตามการประชุมกรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) วันที่ 8 มิ.ย. 2560 ว่า มส.จะมีมติเรื่องจัดการทรัพย์สินวัดว่าอย่างไร ฟังที่ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) บอกก็ผิดหวัง เพราะไม่มีเรื่องนี้ในวาระการประชุม หากแต่ให้ข้อมูลว่า วัดทั่วประเทศกว่า 4 หมื่นแห่ง ส่งบัญชีรายรับ-รายจ่ายให้สำนักพุทธฯ ประมาณ 3.9 หมื่นวัด หรือคิดเป็น 80% ซึ่งเจ้าอาวาสต้องแสดงบัญชีการเงิน (ของวัดปีละ 1 ครั้ง ตามมติ มส. ปี 2558)

ส่วนการจะเข้าไปตรวจสอบรายรับ-รายจ่ายของวัดนั้น มติ มส.ไม่ได้ให้อำนาจหน้าที่กับสำนักพุทธฯ ไว้ จึงไม่มีสิทธิล่วงรู้ถึงผลประโยชน์ของวัด ถ้าหากจะให้ตรวจสอบทรัพย์สินของวัดได้ มส.ต้องมีมติให้อำนาจสำนักพุทธฯ หรือมิเช่นนั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต้องแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ออกหลักเกณฑ์ให้อำนาจที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนขอแจ้งข้อมูลว่า สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้จัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ เรื่องการบริหารการเงินของวัดในประเทศไทย เสนอต่อสำนักวิจัยสถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ ดำเนินการโดย ผศ.ดร.ณดา จันทร์สมคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ เมื่อเดือน พ.ค. 2555 เป็นรายงานที่อ่านแล้วตาสว่าง

โดยสรุปผลการศึกษานั้น ให้สำนักพุทธฯ เสนอแนะการบริหารจัดการการเงินของวัดให้สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล ในฐานะที่วัดเป็นองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร โดยเสนอมา 4 ข้อ เพราะในภาพรวมแล้ววัดทั่วประเทศมีเงินหมุนเวียนในรูปของรายได้แและรายจ่ายประมาณ 1-1.2 แสนล้านบาท/ปี (ข้อมูล พ.ศ. 2555) ในขณะที่การจัดทำบัญชีและตรวจสอบยังไม่ชัดเจนนัก ดังนั้นถึงเวลาแล้วที่สำนักพุทธฯ ต้องเสนอให้วัดจัดทำบัญชีแบบมืออาชีพ จะได้โปร่งใสเสียที