posttoday

ปฏิญญามหานุวะระ หรือ ปฏิญญาแคนดี

04 มิถุนายน 2560

(พระศรีธวัชเมธี เล่าเรื่องประชุมวันวิสาขบูชาโลกที่ศรีลังกา (ระหว่างวันที่ 12-13-14 พ.ค. 2560) ในอนุทินประจำวันตอนที่ 125 เรื่อง

โดย...พระศรีธวัชเมธี (ชนะ ภมรพล ป.ธ.9, M.A.)

(พระศรีธวัชเมธี เล่าเรื่องประชุมวันวิสาขบูชาโลกที่ศรีลังกา (ระหว่างวันที่ 12-13-14 พ.ค. 2560) ในอนุทินประจำวันตอนที่ 125 เรื่อง ปฏิญญาแคนดี มีรายละเอียดดังต่อไปนี้)

โปรแกรมเขียนไว้ชัดเจนว่า พิธีปิดการประชุมเริ่มเวลา 15.30 น. ภัณฑารักษ์วัดพระเขี้ยวแก้ว ชื่อ นิลเม ศรีทาลตา มลิกะวะ กล่าวต้อนรับ ตามด้วยรัฐมนตรีกระทรวงพระพุทธศาสนา, Hon.Speaker ซึ่งข้าพเจ้าเข้าใจว่าเป็นประธานสภา, ไมตรีปาละ สิริเสนา ประธานาธิบดีศรีลังกามหานายกะฝ่ายอัสคีรียะ ซึ่งเรียกตำแหน่งว่า “Chief Prelate” (ประมุขพระราชาคณะ) กล่าวสัมโมทนียกถาในนามพระสงฆ์, แขกรับเชิญคือประธานาธิบดีเนปาล พิทยา เดวิ บันดารี หลังจากจบปาฐกถาพิเศษแล้วมีการมอบของที่ระลึกกัน (to change momento)

อธิการบดี มจร (พระพรหมบัณฑิต) ประกาศปฏิญญา Mahanuwara Declaration (ปฏิญญามหานุวะระ) คือปฏิญญาแคนดี ที่มีคนคอยฟังกันมาก (คงจำกันได้ว่าเรามีปฏิญญากรุงเทพฯ Bangkok Declaration มาหลายปีแล้ว) จบแล้วจึงกล่าวปิดงานและขอบคุณโดยเลขานุการของรัฐมนตรี พระสงฆ์สวดให้พร ซึ่งเขาใช้ศัพท์ว่า Chanting of Seth Piritคือให้พรสั้นๆ เสร็จสรรพเรียบร้อยแล้ว ในเวลา 19.30 น.เป็นการแสดงวัฒนธรรม (Cultural Performance) คือการแสดงเฮร่าเปร่า ซึ่งข้าพเจ้าเคยชมมาแล้ว ในคราวฉลอง 250 ปี พระอุบาลี จำได้ดีว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ได้เสด็จมาเข้าชมในวันนั้นด้วย พระองค์ประทับนั่งฟากหนึ่ง ส่วนข้าพเจ้านั่งอีกฟากหนึ่ง

เมื่อพิธีเริ่มพระมหานายกะฝ่ายอัสคีรียะ กล่าวเป็นภาษาสิงหล อ้างบาลีว่า สุขาสังฆัสสะ สามัคคี เน้นถึงความพร้อมเพรียงกันของหมู่คณะ ก่อให้เกิดความสุข จบด้วยท่าน ดร.อุบาลี ที่กล่าวสรุปเนื้อความจบ แล้วท่านพระมหานายกะกล่าวสัมโมทนียกถาอีกทีหนึ่ง ท่านประธานาธิบดีไมตรีปาละ สิริเสนา กล่าวปราศรัยเป็นภาษาสิงหลี โดยมี ดร.อุบาลี กล่าวสรุปใจความ

ประธานาธิบดีหญิงเนปาล เดวิ บันดารี กล่าวเป็นภาษาฮินดีหรือจะเป็นเนปาล ไม่ทราบชัด ซึ่งล่ามแปลประโยคต่อประโยค จึงใช้เวลานานจนมีคนพูดว่าแขกพูดสั้นไม่เป็น ต้องพูดยาวและยาว

ข้าพเจ้าออกเดินดูบรรยากาศรอบเต็นท์ที่ตั้ง อยู่ใกล้ทะเลสาบ ปากทางเข้ามีรั้วเหล็กล้อมกั้น และยามรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มข้น อีกด้านหนึ่งเป็นโรงเลี้ยงช้าง ผู้เข้าร่วมพิธีมากประมาณ1,000-1,500 คน

หลังจากสวดให้พรแล้วปิดงาน ข้าพเจ้าก็ติดตามอธิการบดีไปที่ทำเนียบประธานาธิบดี ที่อยู่ห่างวัดเพียงราว 15 นาที แต่กว่าจะเข้าทำเนียบได้ ต้องเสียเวลาอีก 10 นาที เนื่องด้วยระบบรักษาความปลอดภัย สักครู่หนึ่ง อธิการบดีออกมา และคณะก็เดินทางกลับโคลัมโบ เพื่อเดินทางกลับประเทศไทย

ระหว่างเส้นทาง 124 กม. (แคนดี-โคลัมโบ) เส้นทางลงจากหุบเขา จิตใจก็กังวลนิดหน่อยเกี่ยวกับสิ่งของที่อยู่ในห้อง 2115 (ชั้น 21 ห้องเบอร์ 15) แต่อุ่นใจที่พักกับท่านเจ้าคุณพระราชปริยัติมุนี (เจ้าคุณเทียบ) ท่านเป็นคนละเอียด ต้องเอาสัมภาระของข้าพเจ้ามาด้วยแน่ ถึงกระนั้นก็ต้องโทรติดต่อบอกเจ้าหน้าที่ให้ระวังเพราะภายในกระเป๋ามีโน้ตบุ๊กบอบบางอยู่ภายใน กลัวเสียหายเหมือนไปเวียดนามเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ที่โน้ตบุ๊กตกกระแทกกับพื้น จนช่างไม่รับซ่อม

เครื่องใหม่ที่เป็นห่วงนั้น ราคา 4.95 หมื่นบาท น้ำหนัก 1.4 กิโล หิ้วไปไหนมาไหนได้ง่าย ฝุ่นไม่ทันจับเลย

ผ่านเมืองนีคอมโบ (ตำบล Negombo) เขตจังหวัดโคลัมโบ ซึ่งเป็นเมืองที่มีพลเมืองนับถือพระเยซูมาก เข้าไปร้านกาแฟฉันน้ำปานะพร้อมกับอธิการบดี จึงมีโอกาสได้พูดคุยกันราวครึ่งชั่วโมง

ฉันน้ำปานะเสร็จ ก็เดินทางไปอีกราว 10 นาที ถึงสนามบิน รีบเดินลิ่ว ผ่านเครื่องตรวจจับวัตถุต่างๆ ซึ่งไม่มีอะไรอยู่แล้ว เป็นห่วงแต่กระเป๋าใหญ่ซึ่งมีโน้ตบุ๊กอยู่ภายใน

โชคดี พบกระเป๋าใหญ่ก่อนยกขึ้นสายพาน ไขกุญแจเอาโน้ตบุ๊กออกมา ถามพระมหาสุเทพ สุปัณฑิโต ผู้ดูแลกระเป๋าว่า “ทราบไหมว่าภายในกระเป๋าใหญ่มีโน้ตบุ๊กอยู่” ซึ่งท่านก็บอกว่า “ไม่ทราบเลย”

ส่วนปฏิญญาแคนดี 9 ข้อ ซึ่งท่านประธานาธิบดีศรีลังกาพอใจชอบใจมากถึงกับนิมนต์อธิการบดีเป็นกรณีพิเศษไปเยี่ยมทำเนียบ และขอบพระคุณคณะสงฆ์ไทยที่มาร่วมพิธีฉลองวิสาขบูชาที่ศรีลังกาเป็น
เจ้าภาพ

มาคราวนี้ 3 วัน พระพรหมบัณฑิต อธิการบดี พบประธานาธิบดีศรีลังกาทุกวันเลย วันแรกที่หอประชุมนานาชาติเมืองโคลัมโบ, วันที่ 2 พบที่วิทยาลัยนาคานันทะ ใกล้วัดกัลยาณี และวันที่ 3 พบที่วัดพระเขี้ยวแก้ว และนิมนต์ให้ไปเยี่ยมที่ทำเนียบอีก

เดินทางถึงประเทศไทยโดยสวัสดิภาพ เจอรถติด เพราะเป็นวันแรกที่โรงเรียนเปิดเทอม (วันที่ 15 พ.ค.) ในขณะที่กลางคืนทราบว่าฝนตกใหญ่ ปฏิญญาแคนดีจึงจบลงด้วยประการฉะนี้แลฯ