posttoday

หลวงพระบาง เมืองมรดกโลก

14 พฤษภาคม 2560

หนึ่งวันในเมืองมรดกโลก หนึ่งวันที่ย้อนอดีตเก่า 7 ปีที่แล้ว (2-3 มิ.ย. 2553) จำได้ว่าครั้งที่แล้วไปพบท่านผู้ว่าแขวงหลวงพระบาง

โดย...พระศรีธวัชเมธี (ชนะ ภมรพล ป.ธ.9, M.A.)

หนึ่งวันในเมืองมรดกโลก หนึ่งวันที่ย้อนอดีตเก่า 7 ปีที่แล้ว (2-3 มิ.ย. 2553) จำได้ว่าครั้งที่แล้วไปพบท่านผู้ว่าแขวงหลวงพระบาง ซึ่งมีเชื้อสายเป็นชาวขมุ (ลาวเทิ่ง) แล้วไปเยี่ยมวัดป่าผาโอ ดูโรงเรียนพระปริยัติธรรม ซึ่งมีสามเณรจำนวนมาก ช่วงนั้นฝนตกชมอะไรไม่ได้มากแม้อยากชมหลายวัด แต่ได้เข้าชมหอพิพิธภัณฑ์พระราชวัง ในช่วงนั้นพระบางยังอยู่ที่หอนี้ แต่มีโครงการจะอัญเชิญไปประดิษฐานในมณฑปพระบางใหม่ หลังจากนั้นไปฉันเพลที่วัดภูควายโภคาราม วัดของรองเจ้าคณะจังหวัด ซึ่งที่นั่นเรียกว่า เจ้าคณะแขวง (ฝ่ายการศึกษา) ที่จำได้คือการเดินทางออกนอกเมืองไปชมน้ำตกกวางสี แหล่งธรรมชาติที่สวยงามมากอีกแหล่งหนึ่ง...

วันนี้ 26-27 เม.ย. 2560 บ่ายวันแรกที่เดินทางมา มีกำหนดการเข้าพบปะรองผู้ว่าฯ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าฝ่ายตรวจการแขวงหลวงพระบาง ที่จวนผู้ว่าฯ หลังจากนั้นก็ไปวัดเชียงทอง ในใจยังนึกว่า “ครั้งนี้น่าจะมีโอกาสไปเยี่ยมชมวัดวิชุลราชและถ้ำติ่งได้” เพราะไม่มีรายการไปนอกเมือง คือ ไปชมน้ำตกดังกล่าว

โชคดีมาก ที่วัดเชียงทอง ได้มีโอกาสได้กราบไหว้และถวายน้ำสรงพระพุทธรูปชื่อว่า “พระม่าน” ซึ่งปกติประดิษฐานอยู่หอพระม่านหลังเล็กๆ ที่ตั้งอยู่ด้านหลังสีมาวัดเชียงทอง คราวก่อนนั้นยังไม่ทราบเลยว่ามีพระม่านอยู่ที่ด้านหลังหอนั้น (เมื่อกลับไทยแล้ว ได้ชมถ่ายทอดสดพิธีอัญเชิญพระม่านกลับเข้าหอด้านหลัง เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2560), ได้เข้าไปกราบไหว้พระพุทธไสยาสน์ และอธิษฐานจิตว่า จะขอมาอีก ซึ่งวันนี้ก็ได้มาแล้ว เดินชมภายใน-ภายนอกสิม-หอพระไสยาสน์-โรงเก็บราชรถซึ่งเก็บโกศต่างๆ ไว้อย่างจุใจ ข้าพเจ้าเดินชมไม่ต่ำกว่า 2 รอบ สมแล้วที่เป็นมรดกโลก ทำให้ทั้งเมืองได้รับอานิสงส์เป็นมรดกโลกไปทั้งเมือง วัดเชียงทอง เคยมีกฐินพระราชทานจากในหลวง ร.9 พระราชทานมาทอด อยู่บ่อยๆ ตั้งอยู่บนถนนมรดกโลก ด้านทิศเหนือเป็นแม่น้ำของ มีบ้านเรือนเก่าๆ ที่ยังอนุรักษ์ รักษาไว้ขึ้นทะเบียนไว้ว่าเป็นมรดกโลก

ข้าพเจ้าเป็นคนสุดท้ายที่เดินออกจากวัดเชียงทองที่สร้าง ซึ่งเขาเขียนไว้ที่ประตูทางเข้าว่าเป็นปี จ.ศ. (923) (เท่ากับ พ.ศ. 2104) ในสมัยเจ้าฟ้างุ้ม เขยของกษัตริย์กัมพูชาที่ได้ของขวัญคือ “พระบาง” มาจากเขมร หมุดสำคัญที่ลาวหันมานับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท

ถัดจากนั้นไป วัดสุวรรณคีรี ที่ตั้งอยู่เฉียงๆ กับวัดเชียงทองนั่นเอง ที่จริงเดินไปก็ได้ แต่นั่งรถไป, วัดนี้มีการเก็บรักษารูปภาพของพระสงฆ์แขวงหลวงพระบาง ซึ่งข้าพเจ้าเคยมาเยี่ยมแล้วเช่นกัน ประเภทเดินดูนั่นดูนี่ไปเรื่อยๆ แต่วันนี้ได้ขึ้นไปบนชั้นสองของศาลาธรรมวิหาร ชมสำนักงานศูนย์ข้อมูลพระพุทธศาสนา (Buddhist Archives Document) ได้พบกับ ดร.คำวอน บุนนะพอน พธ.บ. รุ่นที่ 48 แล้วไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยฮัมบรูก จบดอกเตอร์จากประเทศเยอรมนี มาทำงานประจำที่นี่ จึงได้นั่งคุยกัน จนเกือบลืมหน้าที่การงานที่ท่าน ดร.ทำงานอยู่ เพราะท่านเป็นผู้ดูแลติดป้ายใบลานเอกสารเก่าๆ ที่มีอายุเก่าถึง 200-300 ปี บันทึกเก็บเป็นหมวดหมู่ ลงในคอมพิวเตอร์ เฉพาะเครื่องสแกนก็มาจากเยอรมนี โปรแกรมบันทึกมาจากห้องสมุดอังกฤษ และยังเป็นศูนย์ที่มีหนังสือเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาแขวงหลวงพระบางจำหน่ายอยู่ด้วย

จุดที่ข้าพเจ้าต้องใช้เวลาที่วัดสุวรรณคีรีมากเป็นพิเศษ เพราะวัดนี้เรียกว่า “วัดเนินทอง” เพราะวัดสุวรรณคีรีเป็นเนินเขา มีทางราบลุ่มทอดลงไปแม่น้ำคาน, เมืองมรดกโลกหลวงพระบางเป็นแหลมยื่นเข้าไป ขนาบด้วยแม่น้ำของและแม่น้ำคาน ข้าพเจ้าไม่รู้ว่าแม่น้ำคานไปจรดที่ฝั่งไทยแถวไหน เพราะมีเมืองชื่อ “เมืองคาน” อยู่ที่ จ.เลย แต่ต้นน้ำของแม่น้ำคานในฝั่งลาวไหลมาจากเชียงขวาง

วัดเนินทอง (สุวรรณคีรี) สร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 16 ในสมัยหลังเจ้าฟ้างุ้ม ในภายหลังจากวัดเชียงทอง, เป็นวัดที่เจ้าเมืองพวนมาสร้าง เนื่องจากเป็นพันธมิตรกับหลวงพระบาง เมื่อมีพม่ามาบุกโจมตี จึงจับมือเป็นพันธมิตรกัน เมืองพวนกับเมืองหลวงพระบางเป็นพี่น้องเป็นพันธมิตรกัน อยู่ห่างไกลกันราว 200-300 กม. ผู้สร้างวัดเนินทองแห่งนี้ชื่อว่า “เจ้าคำสัทธา” เจ้าเมืองพวน เพราะมเหสีของพระองค์เป็นคนหลวงพระบาง เป็นคนที่นี่ เรียกว่า พ่อตาเป็นคนหลวงพระบาง

ในซอยเล็กๆ ใกล้วัดสุวรรณคีรี ยังมี “ศาลหลักเมือง” ที่อยู่ในบริเวณสำนักงานมรดกโลก ที่มีการประกอบพิธีสำคัญ เพราะเป็นศาลสำคัญเกี่ยวเนื่องกับชนชาติพวน จากเมืองเชียงขวาง

วัดสุวรรณคีรี ยังเป็นวัดที่มีพระราชาคณะ ชื่อว่า สาธุใหญ่คำฝั่น สีลสังวโร มหาเถระ เป็นคนท้องถิ่นหลวงพระบางที่นี่ มรณภาพในปี 1987 ถึงไม่ได้ดำรงตำแหน่งเป็นพระสังฆราชสูงสุด แต่เป็นปลัดซ้ายปลัดขวา ซึ่งมีความสำคัญไม่ใช่น้อย ท่านมีชื่อเต็มยศว่า “สมเด็จพระลูกแก้ว สีลสังวโร” อดีตเจ้าคณะแขวงหลวงพระบาง (เจ้าคณะจังหวัด)

อีกหนึ่ง คือ วัดสุวรรณคีรี เป็นวัดที่เป็นศูนย์ข้อมูลของคณะสงฆ์หลวงพระบาง

(มีต่อ)