posttoday

ความอัศจรรย์แห่งวันวิสาขบูชา

07 พฤษภาคม 2560

10 พ.ค. 2560 “วันวิสาขบูชาโลก” อันเป็นวันที่ประชาชนทั่วโลกจัดฉลองตามที่องค์การสหประชาชาติมีมติเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2542

โดย...

10 พ.ค. 2560 “วันวิสาขบูชาโลก” อันเป็นวันที่ประชาชนทั่วโลกจัดฉลองตามที่องค์การสหประชาชาติมีมติเมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2542

วันวิสาขบูชา ประกอบด้วย 3 วัน คือ ประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่วันนี้ขอเล่าเหตุการณ์ก่อนวันตรัสรู้ที่มีในหนังสือ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร อธิบายโดยพระโสภณมหาเถระ (มหาสีสยาดอ สหภาพเมียนมา) สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม ป.ธ.9, M.A., Ph.D) กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนกลาง เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระพรหมโมลี เป็นผู้ตรวจชำระ ซึ่งแปลและเรียบเรียงโดยพระคันธสารภิวงศ์ แห่งวัดท่ามะโอ จ.ลำปาง

เมื่ออ่านบางช่วงบางตอน พบประเด็นที่สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ที่ตรวจชำระแสดงความเห็น โยงเรื่องอดีตให้เห็นได้ในปัจจุบันได้อย่างน่าอัศจรรย์

ทรงแสวงหาสำนักศึกษา

หนังสือ ธัมมจักกัปปวัตนสูตร เล่าเรื่องตั้งแต่สิทธัตถะราชกุมารออกบวชเมื่อพระชนมายุ 29 พรรษา มีฐานะเป็นพระโพธิสัตว์ แสวงหาสัจธรรมตามวิถีแห่งนักบวช ชั้นแรกเสด็จไปศึกษายังสำนักอาฬารดาบส ที่อยู่เมืองเวสาลี หลังจากตรัสรู้ พระโพธิสัตว์เล่าการเรียนในสำนักนั้นว่า อาฬารดาบสยินดีรับเป็นศิษย์ธรรม (เพราะมองเห็น) ว่ามีปัญญาสามารถเรียนจบได้ในเวลาไม่นานและจะสามารถประจักษ์แจ้งได้ผลของการปฏิบัติได้เช่นเดียวกับตัวอาจารย์ ส่วนปัจจัยให้ฝากตัวเป็นศิษย์ เพราะเข้าใจว่าอาฬารดาบสมิได้สอนตามความเชื่อของตน ไม่ได้สอนตามคัมภีร์และไม่ได้สอนตามที่ได้ยินสืบทอดกันมา แต่สอนตามประสบการณ์ที่ตนรู้แจ้งมาแล้ว และทำให้ผู้เรียนรู้แจ้งได้โดยเร็ว

สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ที่บุกเบิกการสอนวิปัสสนากรรมฐานในไทยให้กลับมารุ่งเรืองอีกครั้งในปัจจุบันได้แสดงความเห็นตอนนี้ว่า (ในหนังสือไฮไลต์ไว้)

ในสมัยนี้ ถ้าอาจารย์สอนกรรมฐานยังไม่เคยปฏิบัติธรรมจนประจักษ์แจ้งด้วยตนเองแล้ว ก็ไม่ควรสอนหรือเขียนหนังสือเกี่ยวกับการปฏิบัติ โดยอาศัยความรู้จากตำราเท่านั้น เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องเป็นอย่างยิ่ง เหมือนกับแพทย์ที่สั่งยาให้คนไข้ โดยที่ยานั้นยังไม่ได้ผ่านการทดลองความปลอดภัย และตัวนายแพทย์เองก็ยังไม่กล้าใช้ยานั้น การสอนเช่นนั้นย่อมไม่น่าเชื่อถือได้อย่างแท้จริง

 พระโพธิสัตว์เรียนกับอาฬารดาบสได้มรรคได้ผลบรรลุสมาบัติ 7 แต่พบว่าไม่ใช่ทางหลุดพ้น จึงลาไปเรียนกับอุทกดาบส ซึ่งมีสำนักที่กรุงราชคฤห์ (คัมภีร์ลลิตวิสตระว่าอย่างนั้น) ครั้นเรียนจบ อุทกดาบสยกสำนักให้เลย ซึ่งพระโพธิสัตว์รับไว้ แต่ไม่นานก็ออกแสวงหาโมกษธรรมต่อ 

ความอัศจรรย์แห่งวันวิสาขบูชา พระธรรมโพธิวงศ์ (วีรยุทธ์) ณ บ้านนางสุชาดา

พระโพธิสัตว์ที่ผ่านมา 2 สำนักแล้ว ได้เปรียบเทียบผู้บำเพ็ญเพียรว่า เหมือนไม้ 3 ชนิด คือ 1.ไม้สดแถมยังแช่ในน้ำ เอามาสีกันย่อมไม่เกิดไฟ หมายถึง ผู้ที่ยังติดในกามคุณ 2.ไม้สดแต่ชุ่มด้วยยางเอามาสีกันก็ไม่เกิดไฟ เหมือนผู้ทีออกบวชแล้วแต่ติดในกามคุณ และ 3.ไม้ที่แห้ง ไม่มียาง ไม่แช่น้ำ สีให้เกิดไฟได้ เหมือนนักบวชที่สละแล้วสามารถทำสติปัญญาให้เกิดได้ และการทรมานตนเพื่อเผากิเลสเป็นที่นิยมของผู้แสวงหาในสมัยนั้น พระโพธิสัตว์เลือกแบบทรมานตนบำเพ็ญเพียรขั้นอุกฤษฏ์ ได้รับทุกข์ทรมาน ถึงกับป็นลม ต่อมาบริโภคอาหารน้อยลง ในที่สุดเหลือเพียงแกงถั่ววันละหนึ่งอุ้งมือ เป็นเหตุให้พระวรกายซูบผอมเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก เช่น เห็นในภาพบำเพ็ญทุกรกิริยา จะเห็นดวงตาทั้งสองลึกโบ๋ลงไปเหมือนบ่อน้ำ หนังศีรษะเหมือนน้ำเต้าที่ตากแดดจนเหี่ยวแห้ง เมื่อจะลูบท้องก็ไปถูกกระดูกสันหลัง เมื่อจะลูบกระดูกสันหลังก็ไปถูกท้อง เวลาจะลุกไปอุจจาระ ปัสสาวะ ก็หมดแรงล้มคว่ำลงไป ผู้ที่พบพระโพธิสัตว์ต่างก็พูดว่า ผิวดำผิวคล้ำ บางคนถึงกับกล่าวว่ามีผิวสีน้ำตาล น้ำเงิน เหมือนหนังปลา พระฉวีวรรณสีทองที่เปล่งปลั่งได้เปลี่ยนไปถึงเพียงนี้ เกิดจากการอดอาหารนั่นเอง

ปัญจวัคคีย์ถอย

หลังจากใช้เวลา 6 ปี ทรมานตน ก็พบว่าไม่ใช่หนทางเข้าถึงพระนิพพาน พระโพธิสัตว์จึงเลิกและเลือกใหม่ คือ บำเพ็ญอานาปานสติ ตามที่เคยมีประสบการณ์เมื่อเป็นราชกุมาร ในช่วงที่มีพิธีแรกนา ซึ่งบรรดาพี่เลี้ยงทิ้งให้อยู่ตามลำพังใต้ต้นไม้ จึงเข้าสมาธิจนบรรลุปฐมฌาน

ส่วนปัญจวัคคีย์เห็นพระโพธิสัตว์เลิกล้มความเพียรจึงพากันหลบไป พระโพธิสัตว์อยู่ตามลำพังเป็นเวลา 15 วัน บำเพ็ญเพียรตามทางสายกลาง และได้บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ณ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ตรงกับวันวิสาขปุณณมี

เหตุการณ์ก่อนตรัสรู้น้น พุทธประวัติกล่าวว่า เมื่อสาวใช้นางสุชาดาที่มากวาดต้นไทร เพื่อจะทำพิธีบวงสรวงองค์เทพได้พบพระโพธิสัตว์รัศมีเปล่งปลั่งประทับนั่ง ณ โคนต้นไทร ที่ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ก็รีบไปบอกนายสาวว่าพบองค์เทพที่โคนต้นไทร นางสุชาดาจึงให้ยกข้าวมธุปายาสที่ใส่ถาดทองเตรียมถวายองค์เทพมาถวายพระโพธิสัตว์ที่ประทับนั่งอยู่ที่ต้นไทร ด้วยเข้าใจว่าเป็นเทพที่ตนต้องการบวงสรวง

ผจญมารก่อนตรัสรู้

พระโพธิสัตว์รับแล้วแบ่งข้าวมธุปายาสเป็น 49 ก้อน (หรือคำ) เพื่อเสวย เสร็จภัตกิจก็ลอยถาดในแม่น้ำเนรัญชรา โดยอธิษฐานว่า ถ้าจะตรัสรู้ให้ถาดลอยทวนน้ำ ถาดนั้นลอยทวนน้ำตามคำอธิษฐานแล้วตกลงใต้บาดาล ตรงกับที่อยู่ของพญานาค ชื่อ กาฬนาคราช เมื่อถาดนั้นตกลงไปได้ไปทับซ้อนกับถาดอื่นๆ อีก 3 ใบ ที่เป็นของพระพุทธเจ้าองค์ก่อนอีกด้วย

หลังจากฉันมธุปายาส พระโพธิสัตว์สำราญอิริยาบถอยู่จนกระทั่งค่ำแล้ว จึงข้ามแม่น้ำเนรัญชรามาอีกฝั่งหนึ่ง ที่มีต้นพระศรีมหาโพธิ์ยืนต้นอยู่ ก่อนถึงต้นพระศรีมหาโพธิ์ พราหมณ์คนหนึ่ง (พุทธประวัติไทย เรียกว่า โสตถิยะ) ถวายหญ้าคา 8 กำ พระโพธิสัตว์รับไว้แล้วได้นำมาปูลาดเป็นอาสนะหรือบัลลังก์ จากนั้นประทับนั่งหันหน้าไปทิศตะวันออก แล้วอธิษฐานว่า เราจะไม่ลุกจากบัลลังก์นี้ จนกว่าจะบรรลุอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ

ความอัศจรรย์แห่งวันวิสาขบูชา ปางบำเพ็ญทุกรกิริยา ฝีมือชาวปากีสถาน ที่ตักสิลา ปากีสถาน - ภาพ : สมาน สุดโต

ในราตรีนั้น พระโพธิสัตว์ผจญพญามาร พร้อมทั้งบริวารจำนวนมาก แต่มีชัยได้เพราะทานบารมีและขันติบารมี จากนั้นพระโพธิสัตว์ได้เกิดปัญญาหยั่งรู้อดีตชาติ (ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ) ในยามแรก ได้ทิพยจักษุญาณ เมื่อเข้ายามที่ 2 และทรงได้อาสวขยญาณ ในยามที่ 3 ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในคืนเดือนเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 วันนี้จึงเป็นวันพุทธชยันตี หรือวันพระพุทธเจ้า ซึ่งเรียกว่า วันวิสาขบูชา ซึ่งชาวพุทธบูชาทุกปี

หลังจากตรัสรู้ ประทับ ณ บัลลังก์ใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ 7 วัน เสด็จประทับที่อื่นๆ อีก 6 แห่ง แห่งละ 7 วัน รวมเวลา 49 วัน เรียกว่า ทรงเสวยวิมุตติสุข พิจารณาธรรมที่ทรงบรรลุ พร้อมกันนั้นก็ทรงเลือกบุคคลที่ควรแสดงธรรมโปรดเป็นคนแรก ในที่สุดเลือกได้ปัญจวัคคีย์ที่อยู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน เมืองพาราณสี ห่างจากที่เรียกว่า พุทธคยา ในปัจจุบัน 288 กม.

ประกาศความเป็นสัมมาสัมพุทธ

ระหว่างเส้นทางจากคยาไปพาราณสีได้พบอุปกาชีวกที่ถามไถ่ความเป็นมา จึงทรงประกาศว่า เราเป็นใหญ่กว่าสิ่งทั้งปวง เป็นสัพพัญญูผู้รู้แจ้ง ไม่ยึดติดในธรรม ละกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว เป็นผู้หลุดพ้นในความสิ้นตัณหา เรารู้เองแล้ว จะเรียกใครเป็นศาสดาของเราเล่า

เราเป็นพระอรหันต์ เป็นศาสดาผู้ยอดเยี่ยม เป็นผู้ตรัสรู้ชอบด้วยตนเองเพียงผู้เดียว เป็นผู้สงบดับกิเลสได้ พร้อมกันนั้นได้ตอบอุปกาชีวกที่ถามว่าจะไปไหน ว่าจะไปกาสี เพื่อยังวงล้อแห่งธรรมให้หมุนไป เราจักย่ำกลองอมฤตในโลกที่มืดบอด

เมื่ออุปกาชีวกถามว่า เหตุใดจึงปฏิญญาณตนว่าเป็นพระชินเจ้า พระพุทธองค์ตรัสว่าผู้ที่ดับกิเลสได้หมดสิ้นแล้ว จึงได้ชื่อว่า ชินะ เหมือนเรา อุปกะ เราไม่มีความคิดที่เป็นบาปชั่วอีกต่อไป จึงชื่อว่า ชินะ (มาทิสา เว ชินา โหนติ เย ปตฺตาอาสวกฺขยํ ชิตา เม ปาปกา ธมฺมา ตสฺมาหมุปก ชิโน) (วิ.มหา.๔.๑๑.๑๑)

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จถึงป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ปัญจวัคคีย์เห็นก็นัดแนะว่าจะไม่ลุกขึ้นต้อนรับ แต่ด้วยพุทธานุภาพลืมทุกอย่าง ต้อนรับเหมือนเดิม ยกเว้นคำพูด ที่ใช้คำพูดตีเสมอ เช่น เรียกว่าอาวุโส (สหาย) ดังนี้ พระพุทธองค์จึงเตือนว่า พวกท่านอย่าเรียกเราอย่างนั้น เราเป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ชอบด้วยตนเอง จงตั้งใจฟังอมตธรรมที่เราได้บรรลุ เราจะแสดงธรรมแก่พวกท่าน หากพวกท่านปฏิบัติตามก็สามารถบรรลุอรหัตผล รู้แจ้งพระนิพพานได้ในเวลาไม่นาน

นับแต่นั้นพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมจักกัปปวัตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์ เมื่อจบพระธรรมเทศนา โกณฑัญญะ 1 ในปัญจวัคคีย์ บรรลุธรรม พระองค์จึงเปล่งอุทานว่า อญฺญาสิ วต โภ โกณฺฑญฺโญ. โกณฑัญญะได้รู้แล้วหนอ คำว่า “อญฺญา” จากคำว่า “อญฺญาสิ” มาเป็นคำนำหน้าสาวกคนแรก โกณฑัญญะ จึงชื่อ อัญญาโกณฑัญญะ

วันนั้นตรงกับวันอาสาฬห เป็นวันพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ครบ 3 ประการ วันวิสาขบูชา จึงบูชาครบ 3 รัตนะ