posttoday

เวียงจันทน์ วันนี้

30 เมษายน 2560

วันนี้เป็นสารคดีท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่ สปป.ลาว เขียนโดย พระศรีธวัชเมธี (ชนะ)ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบุรณะ

โดย...พระศรีธวัชเมธี

วันนี้เป็นสารคดีท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ที่ สปป.ลาว เขียนโดย พระศรีธวัชเมธี (ชนะ)ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบุรณะ ที่ร่วมคณะผู้แทนไทย นำโดย พระโสภณวชิราภรณ์ (ไสว โชติโก) ไปเยือน สปป.ลาว วันที่ 24-28 เม.ย. 2560 ตามคำอาราธนาของรัฐบาล สปป.ลาว ซึ่งท่านเขียนเป็นอนุทินประจำวันดังนี้ (๑๐๕ วัดสีสะเกด)

- วันแรกในกำแพงเวียงจัน หรือนครหลวงเวียงจันหลังจากลงเครื่องบินที่สนามบินวัดไต ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศเหนือของตัวเมือง (ทางไปหลวงพระบาง) แต่คณะเรามาพักทางใต้ตัวเมือง (ทางไปจำปาศักดิ์) เดินทางผ่านไปผ่านมา จนชักจะจำอะไรได้หลายอย่าง

- หากนับมาทางเครื่องบิน ก็นับเป็นครั้งที่ 2​ ที่เดินทางมากำแพงเวียงจัน ย้อนหลังไปเมื่อ 7 ปีที่แล้ว การเดินทางครั้งนี้ดูเหมือนจะย้อนรอยเก่า ภารกิจในครั้งนี้เป็นเวลา 5 วัน ในกรุงเวียงจัน และเมืองมรดกโลกหลวงพระบาง

- เวียงจันเปลี่ยนแปลงไปแยะพอสมควร ถนนหนทางดีขึ้น ตึกรามบ้านช่องก็พุ่งทะยานสูงขึ้น ประตูไซยังตั้งตระหง่านสวยงามอยู่เหมือนเดิม วันนี้เดินทางผ่านประตูไซไปๆ มาๆ ไม่ต่ำกว่า 4-5 ครั้ง มีฆ้องสันติภาพโลกเป็นสัญลักษณ์อีกหนึ่ง

- วัดสีสะเกด คือ เป้าหมายในการเข้าเยี่ยมชมในบ่ายนี้ ท่านเจ้าอาวาส มีตำแหน่งเป็นรองประธานฝ่ายเผยแผ่ 1 ใน 4 องค์การ คือ การปกครอง การศึกษา การเผยแผ่ การสาธารณูปการ

- หลังจากพบปะพูดคุยกันพอสมควรแล้ว ทำให้ทราบว่า เจ้าอาวาสชื่อพระมหาเหวด ป.ธ.3 เป็นคนลาวหย้อ จากเมืองนครพนม สอบบาลีได้ที่สกลนคร และเข้ามาอยู่ในประเทศลาวตั้งแต่ปี 2509

- ข้าพเจ้าตั้งคำถาม 2 ข้อ คือ 1.เจดีย์บรรจุอัฐิเป็นอิทธิพลของไทยต่อลาว หรือของลาวต่อไทย ซึ่งคำตอบของท่านคือ เป็นวัฒนธรรม ร่วมกัน บอกไม่ได้ว่าใครเลียนแบบใคร

- ทำไมวัดสีสะเกด จึงรอดพ้นจากการถูกเผาทำลายในศึกสงครามเมื่อ 200​ ปีที่แล้ว หลวงพ่อบอกว่า เดิมชื่อวัดแสน มีพระประธานชื่อว่าหลวงพ่อแสน เป็นวัดเก่าอยู่แล้ว เมื่อมีการสร้างพระราชวังขึ้น เจ้าอนุวงศ์เปลี่ยนรูปแบบวัดใหม่ เพราะต้องการหันศีรษะไปทางพระประธานในเวลาบรรทม จึงสร้างวัดให้หันหน้าไปทางทิศตะวันตก จากเดิมที่หันหน้าไปทิศตะวันออก

- ข้าพเจ้า (ไม่) ได้คำตอบมาว่า ทำไมวัดสีสะเกดไม่ถูกทำลาย ต่อมามีพรายกระซิบว่า อย่าเล่าไปเลย เขาไม่ชอบ อย่างไรก็ตามวันนี้ใช้เวลาร่วม 2​ ชม. เที่ยวชมวัดสีสะเกด วัดเดียวที่มีจิตรกรรมฝาผนังเก่าแก่ เป็นวัดที่รอดพ้นจากภัยสงคราม เป็นวัดที่มีสถาปัตยกรรมงามเลิศ เป็นวัดที่มีราวเทียนสวยที่สุดในโลก

- ถ้ามานครหลวงเวียงจัน ยังไม่เยี่ยมชมวัดสีสะเกด วัดหอพระแก้ว วัดพระธาตุหลวง ก็ถือว่ายังไม่ถึงประเทศลาว ดวงใจของคนทั้งชาติมีดอกจำปาเป็นสัญลักษณ์ของชาติ

- ศูนย์รวมศิลปะลาวเก่า ตรงกับยุคร.3 ของไทย ที่คงเหลืออยู่อย่างสมบูรณ์ที่วัดสีสะเกด ภายในอุโบสถมีหลวงพ่อแสนหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันตก (ตามที่เจ้าอนุวงศ์ต้องการ) มีจิตรกรรมเรื่องพญาสังขยาสวยงามมาก ได้รับการบูรณะจากยูเนสโก วิหารคดที่ดาระดะไปด้วยพระพุทธรูปต่างๆ ตามช่องน้อยบ้าง พระพุทธรูปองค์ใหญ่ๆ ที่ประดิษฐานไว้รอบๆ เหมือนกับที่วัดเบญจมบพิตร

อนุทินประจำวัน (๑๐๖ พระเจ้าองค์ตื้อ)

วันที่สองในนครหลวงเวียงจัน เช้าพบท่าน คะนองลิต สีสมบูน อธิบดีกรมการศาสนา, บ่ายพบท่านจันทวง แสนอำมาดมนตรี รองประธานศูนย์กลางแนวลาวสร้างชาติ (Laos Front for National Construction Central) หมดเวลาไปอีกวันหนึ่ง โดยมีโอกาสไปเยี่ยมแม่น้ำของ (โขง) หลังเลิกประชุมพบปะกันแล้วหน่อยหนึ่ง พอได้ชิมรสว่าสภาพแม่น้ำของหรือโขงเป็นอย่างไร

- สถิติข้อมูลดิบที่ได้รับในวันนี้ คือ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีพลเมือง 6.8 ล้านคน มี 4 ศาสนาที่รัฐบาลให้การรับรองคือศาสนาพุทธ คริสต์ บาไฮ และอิสลาม

- สปป.ลาว ส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนา บวกกับผู้นับถือศาสนาดั้งเดิมคือถือบรรพบุรุษอีก 30% นับเป็นตัวเลขสูงถึง 98%

- สำนักงานพระพุทธศาสนาของ สปป.ลาว แบ่งออกเป็น 4 กรรมาธิการ (องค์การ) คือฝ่ายปกครอง ฝ่ายเผยแผ่รวมทั้งวิปัสสนากรรมฐาน ฝ่ายสาธารณูปการ และฝ่ายการศึกษา

- วัดทั้งหมดทั่วประเทศนับได้ 4,884 วัด เป็นวัดมีพระเณรอยู่ 4,134 วัด และวัดร้าง 750 วัด มีพระเณรทั้งประเทศ 35,558 รูป (พระ 15,564 รูป และเณร 19,994 รูป) มีโรงเรียน 56 โรง แบ่งเป็นชั้นประถมศึกษา 4 โรง มัธยมศึกษาต้น 34 โรง โรงเรียนพระปริยัติธรรม 1 โรง มีวิทยาลัยสงฆ์ 2 แห่ง คือ ที่วัดองค์ตื้อและที่จำปาศักดิ์ และกำลังจะเปิดใหม่อีก 2 แห่ง คือที่สุหวันนะเขต กับที่หลวงพระบาง

- ศาสนาคริสต์แบ่งเป็น 2​ นิกาย คือ คาทอลิกและโปรเตสแตนต์ และโปรเตสแตนต์ยังแบ่งย่อยออกเป็น 2​ นิกาย มีคริสตจักรขาวประเสริฐ และอีกชื่อหนึ่ง...​มีโบสถ์คริสต์ราว 100 กว่าแห่ง มีผู้นับถือ 1 แสนกว่าคน บาไฮมีศาสนสถาน 9 แห่ง มีผู้สอนศาสนา 9 คน มีผู้นับถือ 2 แสนคน อิสลามมีสุเหร่า 2 แห่ง ล้วนอยู่ในนครหลวงเวียงจัน มีผู้นับถือ 1,000 คน ซึ่งเป็นพวกค้าขายมีเชื้อสายมาจากอินเดีย-ปากีสถาน-กัมพูช

อ่านต่อฉบับหน้า