posttoday

พระเจ้ากรุงธนให้พระดำน้ำ พิสูจน์ศีลบริสุทธิ์

23 เมษายน 2560

แวดวงสงฆ์ วันนี้เล่าเรื่องการคัดกรองพระว่ามีศีลบริสุทธิ์หรือไม่ ด้วยการให้ดำน้ำพิสูจน์ ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธน

โดย...สมาน สุดโต

แวดวงสงฆ์ วันนี้เล่าเรื่องการคัดกรองพระว่ามีศีลบริสุทธิ์หรือไม่ ด้วยการให้ดำน้ำพิสูจน์ ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธน หรือพระเจ้าตาก ในช่วงที่ขับไล่พม่าข้าศึกออกจากแผ่นดินอยุธยาแล้วปราบปรามก๊กต่างๆ

การปราบชุมนุม หรือก๊กต่างๆ ที่กระจายตามหัวเมืองให้อยู่ในอำนาจนั้นใช้เวลามากแต่ปราบได้แล้วก็ไม่ยุ่งยาก ยกเว้นชุมนุมเจ้าพระฝาง เพราะมีพระสงฆ์เป็นหัวหน้า แต่ความที่เป็นพุทธศาสนิกที่เคร่งครัด พระเจ้ากรุงธนจึงต้องคัดพระสงฆ์ว่ามีศีลบริสุทธิ์หรือไม่ วิธีที่นำมาใช้ คือให้พระสงฆ์ดำน้ำพิสูจน์ศีล

จารึกที่พระราชวังเดิมว่าการปราบชุมนุมต่างๆ นั้น กว่าจะราบคาบก็ถึง พ.ศ. 2314 (การปราบใช้เวลาหลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า เมื่อ พ.ศ. 2310 บันทึกที่วังเดิมว่า เมื่อเดือน ต.ค. 2310 พระเจ้าตากยกทัพเรือจากจันทบุรี ประกอบด้วย 100 ลำ กำลังพล 4,000 นาย เข้าสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โจมตีและยึดป้อมวิชัยประสิทธิ์ จากพม่าที่ธนบุรีได้สำเร็จ จากนั้นกรีธากำลังทัพเรือมุ่งกรุงศรีอยุธยา สู้รบกับพม่าที่ยึดครองอยุธยา ที่โพธิ์ 3 ต้น และได้รับชัยชนะ เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2310 วันนี้ จึงถือว่าเป็นวันที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธนกอบกู้สยามประเทศ ให้พ้นจากการยึดครองของพม่าได้สำเร็จ )

ในการสัมมนาเรื่องประวัติศาสตร์กรุงธนบุรีจากเอกสารชาวต่างชาติ ที่สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2560 ณ โรงแรมรอยัล ปริ้นเซส บุหลง ศรีกนก ที่กำหนดให้เป็นผู้ดำเนินรายการและวิทยากร เรื่อง “ประวัติศาสตร์กรุงธนบุรีจากเอกสารตะวันออก” ได้พูดเรื่องความที่สมเด็จพระเจ้ากรุงธน ทรงเป็นชาวพุทธที่เหนียวแน่น ว่าเมื่อเสด็จไปเมืองไหน ต้องเสด็จไปกราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาที่อยู่ในเมืองนั้น พร้อมทั้งตรัสว่าตั้งใจแก้ไขคนที่ไม่อยู่ในศีลในธรรมให้กลับมาเป็นดี มีศีล

เมื่อไปปราบชุุมนุมเจ้าพิษณุโลก ได้ไปนมัสการพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศาสดา ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองพิษณุโลก

เมื่อไปปราบปรามเจ้าเมืองเชียงใหม่ ได้ไปกราบนมัสการพระพุทธสิหิงค์ในวัดพระสิงห์เช่นกัน (พระพุทธสิหิงค์ เมืองเชียงใหม่ เป็นพระพุทธรูปนั่งขัดสมาธิเพชร ปางมารวิชัย ซึ่งเป็นแบบเดียวกันกับที่ จ.นครศรีธรรมราช ต่างจากพระพุทธสิหิงค์ ณ พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ พิพิธภัณฑ์แห่งชาติพระนคร ที่ประทับในลักษณะสมาธิ พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้าย)

เรื่องหนึ่งที่พิสูจน์ว่าพระเจ้ากรุงธนมีความมั่นคงในพระพุทธศาสนา คือ การสร้างสมุดภาพไตรภูมิ เพื่อนำมาสั่งสอนประชาชนให้ตั้งในศีลในธรรม งานนี้เป็นงานชิ้นเอก โดยมีสมเด็จพระสังฆราช (สี) คุมงาน ปัจจุบันเก็บไว้ที่สำหนักหอสมุดแห่งชาติ

นอกจากนั้น ได้อัญเชิญพระไตรปิฎกที่จารึกด้วยอักษรขอมจากนครศรีธรรมราช ลงมากรุงธนบุรี โดยขบวนช้างหลวง เมื่อรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์จัดสังคายนาพระไตรปิฎก ก็ใช้ฉบับจากนครศรีธรรมราชอ้างอิง

ส่วนเรื่องที่ให้พระสงฆ์ดำน้ำพิสูจน์ความบริสุทธิ์นั้น ปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงธนบุรีฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ก่อนให้พระดำน้ำ พระเจ้ากรุงธนให้ตั้งสัตยาธิษฐานก่อนว่า ถ้าศีลบริสุทธิ์ ก็ต้องชนะนาฬิกา ผลมีทั้งแพ้และชนะ พระที่ชนะนาฬิกาก็อยู่เป็นพระต่อไป ที่แพ้ต้องสึก แต่ด้วยความที่เคารพพระพุทธศาสนามาก จึงให้นำผ้าจีวรและสบงของพระที่ต้องสึกไปเผาไฟทำสมุก เพื่อใช้ประโยชน์แก่พระศาสนาต่อไป ([สะหฺมุก] ถ่านทําจากใบตองแห้ง ใบหญ้าคา เป็นต้น ป่นให้เป็นผงประสมกับรักนํ้าเกลี้ยง สําหรับทารองพื้นบนสิ่งต่างๆ ก่อนที่จะเขียนลายรดนํ้าปิดทอง)

วิธีการนี้ เกิดเพียงครั้งเดียวสมัยกรุงธน หากนำมาใช้ในสมัยนี้ จีวร-สบง ที่เอามาเผาทำสมุก คงไม่มีที่เก็บแน่นอน