posttoday

มส.ทำแล้วแต่เหมือนไม่ได้ทำ

02 เมษายน 2560

การแก้ปัญหาวัดพระธรรมกายล่าสุด ที่สมเด็จ พระพุทธชินวงศ์ เจ้าคณะใหญ่หนกลางมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลวัดพระธรรมกาย

โดย...ส.คนจริง

การแก้ปัญหาวัดพระธรรมกายล่าสุด ที่สมเด็จ พระพุทธชินวงศ์ เจ้าคณะใหญ่หนกลางมีคำสั่งตั้งคณะกรรมการกำกับดูแลวัดพระธรรมกาย 2 คณะ ประกอบด้วย คณะที่ 1 กรรมการที่ปรึกษา มี พระเทพสุธี (สายชล ป.ธ.9) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดชนะสงครามเจ้าคณะภาค 1 เป็นประธาน พระเทพปริยัติมุนี รองเจ้าคณะภาค 1 เป็นรองประธาน พระราชรัตนสุธี (ปัญญา) รองเจ้าคณะภาค 15 และ ดร.สมศักดิ์ โตรักษา (ที่ปรึกษากฎหมาย) เป็นกรรมการ คณะที่ 2 คณะกรรมการกำกับดูแล ได้แก่ เจ้าพระเทพรัตนสุธี เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี เป็นประธาน มีหน้าที่กำกับดูแลในการบริหารจัดการและปกครองคณะสงฆ์ในวัดพระธรรมกายให้เป็นไปโดยความเรียบร้อย ซึ่งมหาเถรสมาคม (มส.) มีมติรับทราบตามที่เสนอ

คำสั่งนี้ทำให้เห็นว่า เจ้าคณะภาค 1 และรองเจ้าคณะภาค 1 มีงานทำ แม้ว่าจะเป็นคำสั่งที่ให้ความชอบธรรมกับพระเทพรัตนสุธี เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี ที่เสนอกับผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2560 ว่าจะเป็นผู้กำกับดูแลวัดพระธรรมกาย โดยไม่ต้องตั้งพระที่อื่นมาเป็นเจ้าอาวาสก็ตาม

ถ้าย้อนอดีตไปดูว่า เมื่อปี 2542 รัฐบาลและ มส.แก้ปัญหากันอย่างไร และการคาดการณ์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว) ว่าอย่างไร ทำให้เห็นว่าเหตุการณ์วันนี้ไม่มีอะไรใหม่ และตอกย้ำสิ่งที่สมเด็จพระพุฒาจารย์คาดการณ์ ไว้เป็นจริงทุกประการ ทั้งๆ ที่ตอนนั้นการแก้ปัญหามีความเข้มข้น รัฐบาลสนใจมากถึงกับส่ง ดร.วิษณุ เครืองาม เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในขณะนั้น (พ.ศ.นี้ก็เป็นรองนายกรัฐมนตรี) เข้าร่วมประชุมกับ มส.เพื่อถวายความเห็น และเป็นสื่อกลางระหว่างราชอาณาจักรกับพุทธจักร แต่ผลจากวันนั้นถึงวันนี้ก็ยังเหมือนเดิม ลองอ่านมติ มส. (โดยย่อ) ครั้งที่ 17/2542 เรื่องกรณีวัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี ก็จะมองเห็นภาพได้ดีมากขึ้น

ในการประชุม มส.ครั้งที่ 17/2542 เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2542 เลขาธิการ มส. เสนอว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติมอบหมายให้ วิษณุ เครืองาม เลขาธิการ ครม. เข้าสังเกตการณ์ รับฟัง ชี้แจง และแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกรณีวัดพระธรรมกายนั้น วิษณุ ได้นมัสการต่อที่ประชุมว่า นายกรัฐมนตรีได้ให้นโยบายในการดำเนินการแก้ไขปัญหาวัดพระธรรมกายโดยสรุปให้ตำรวจถวายอารักขาสมเด็จพระสังฆราช และอำนวยความสะดวกในการประชุม มส. ให้กรมการศาสนาสนองพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช และสนอง มส.และให้กระทรวงมหาดไทย อำนวยความสะดวกแก่เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ในกรณีโอนที่ดินในชื่อเจ้าอาวาสให้แก่วัดพระธรรมกาย

วิษณุ เสนอความคิดเห็นกรณีเกี่ยวกับปัญหาวัดพระธรรมกาย 5 ประการ คือ

1.ให้ดำเนินการเกี่ยวกับปัญหาวัดพระธรรมกายให้เป็นไปตามกฎ มส.ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2521) ว่าด้วยการลงนิคหกรรม และกฎ มส.ฉบับที่ 21 (พ.ศ. 2535) ว่าด้วยการให้พระภิกษุสละสมณเพศ

2.ให้ดำเนินการทางการปกครอง นั่นคือสั่งพ้นจากตำแหน่งเจ้าอาวาส และแต่งตั้งพระภิกษุรูปใดรูปหนึ่งทำการแทนชั่วคราว

3.เรื่องการโอนที่ดินให้แก่วัดพระธรรมกายนั้น ก็ให้เจ้าอาวาสโอนไป

4.ถ้าหากว่ากรณีปัญหาวัดพระธรรมกายมีมูลทางอาญา ก็ให้ดำเนินการทางอาญา

5.การจัดการวัดพระธรรมกาย ขอให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 เป็นกรรมการเฉพาะกิจมีหน้าที่ตรวจสอบเกี่ยวกับวัดพระธรรมกายทั้งหมด เช่น เรื่องคำสอนที่ผิด เป็นต้น จะแก้ไขอย่างไรแล้วเสนอรายงานกลับมายัง มส.โดยตรง

จากนั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานกรรมการ มส. ได้ชี้แจงว่า กรณีปัญหาวัดพระธรรมกายนี้ หากไม่ดำเนินการอย่างรวดเร็วแล้ว จะเกิดกระแสลุกลามใหญ่โต เป็นเหตุให้เกิดความสั่นคลอนของสถาบันโดยเฉพาะพระศาสนาอย่างสูงยิ่ง และจะไม่สามารถรักษาสถาบันไว้ได้ มส.คาดคะเนเหตุการณ์จะต้องเป็นอย่างนี้ ถ้ายังแก้ไขไม่ได้จะลุกลามต่อไป จะไม่พูดว่าผิดหรือถูก แต่จะดำเนินการอย่างไรจะให้ครบวงจร รวดเร็ว ถูกต้อง

ตามรายว่า มส.แก้ปัญหาเน้นให้เป็นไปตามกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม เช่น การกล่าวว่ามีความผิดอย่างนั้นอย่างนี้ จะดำเนินการเมื่อมีผู้ร้องเรียน กรมการศาสนาเปิดศูนย์ร้องเรียน แต่ก็ไม่มีหลักฐานยืนยันที่จะฟ้องร้องได้ 

วันนี้ เลขาธิการ ครม.จะมาช่วยกันแก้ปัญหา ถ้าพระราชบัญญัติคณะสงฆ์มิได้มีการแก้ไขก็จะเกิดความสะเทือนใจมิใช่น้อย เช่น มาตรา 44 ทวิ ดูหมิ่นสมเด็จพระสังฆราชจะปล่อยไว้โดยมิได้แก้ไขเลยไม่ได้ รัฐบาลก็เอาใจใส่จะเห็นได้จากการนำเรื่องปัญหาวัดพระธรรมกายเข้าสู่การประชุม ครม.ถึง 3 ครั้ง มีมติทั้ง 3 ครั้ง มส.และรัฐบาลเดินทางเดียวกัน คือ แก้ปัญหาให้ครบวงจรและรวดเร็ว จึงเห็นควรนำเสนอ มส.พิจารณา ที่ประชุมพิจารณาแล้วลงมติตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง ประกอบด้วยพระภิกษุ 3 รูป และฆราวาส 2 ท่าน เพื่อทำหน้าที่ติดตามการปฏิบัติตามมติ มส.

มส.ทำแล้วเมื่อปี 2542 ถึงปี 2560 ก็เหมือนเดิม ทำแล้วเหมือนไม่ได้ทำ