posttoday

ลุ้นเชื่อมวัฒนธรรม CLMVT ด้วยพุทธศาสนา

26 มีนาคม 2560

สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 จัดประชุมเสวนาระหว่างเอกอัครราชทูต นักธุรกิจ สื่อมวลชนด้านศาสนา

โดย...สมาน สุดโต

สถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 จัดประชุมเสวนาระหว่างเอกอัครราชทูต นักธุรกิจ สื่อมวลชนด้านศาสนา และฝ่ายความมั่นคงในหัวข้อเรื่องพุทธพลิกสุวรรณภูมิ สุนทรียสัมพันธ์ระหว่างมิตรประเทศ เพื่อความแข็งแกร่งทุกมิติ เพื่อผลักดันการเชื่อมโยงทางวัฒนธรรม ด้วยพุทธศาสนา ในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงที่โรงแรมโซฟิเทล กระบี่ โภคีธรา กอล์ฟ แอนด์ สปา รีสอร์ท เมื่อวันที่ 16-17 มี.ค. 2560

สืบเนื่องมาจากสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 และมูลนิธิวินัยวีระภุชงค์ จะจัดโครงการธรรมยาตรา ตามรอยพระอริยสงฆ์ลุ่มน้ำโขงเชื่อมสุวรรณภูมิ 5 แผ่นดิน โดยจะนิมนต์พระสงฆ์ 5 ประเทศเดินธุดงค์เยี่ยมเยียน และจัดกิจกรรมร่วมกันในเริ่มวันที่  24 พ.ค. สิ้นสุดวันที่ 4 มิ.ย. 2560 โดยมีคณะสงฆ์ สมาชิกชมรมโพธิคยาเข้าร่วมโครงการนี้ ไม่น้อยกว่า 120 รูป/คนนั้น

สถาบันโพธิคยาจึงจัดเสวนาเพื่อต้องการฉายภาพให้เห็นความเป็นไปในแต่ละประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงว่ามีปัญหาอะไรมากระทบบ้าง อิทธิพลประเทศมหาอำนาจในลุ่มน้ำโขงเช่นจีนนั้นส่งผลกระทบด้านใดบ้าง ความไว้เนื้อเชื่อใจกันใน 5 ประเทศนั้นควรมีอะไรเป็นตัวเชื่อม แม้ว่าทั้ง 5 ประเทศจะมีสังคม วัฒนธรรม และศาสนาที่คล้ายคลึงกัน แต่ในความเหมือนก็ย่อมมีความแตกต่าง

เสวนาวันแรก วิทยากรที่เป็นนายพลของกองทัพบก นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักธรุกิจระดับนานาชาติที่คร่ำหวอดในประเทศอินโดจีน และเมียนมา พูดเกือบจะสอดคล้องกันในเรื่องอิทธิพลจากจีนว่าจะส่งผลกระทบประเทศในลุ่มแม่น้ำโขง เมื่อจีนสร้างเขื่อนแม่น้ำโขงในช่วงที่ผ่านจีน หรือล้านช้าง และระเบิดเกาะแก่งที่มี 12 แห่ง เพื่อให้เรือสินค้าขนาดใหญ่ขึ้นล่องได้สะดวก ขณะนี้ระเบิดไปแล้ว 11 แห่งที่อยู่ใน สปป.ลาว เหลืออีกแห่งเดียวที่ถูกต่อต้านอย่างแรงที่อยู่ในเขตไทย ทั้งนี้โครงการที่ว่านี้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของประชากรที่ตั้งบ้านเรือนในประเทศตอนใต้แม่น้ำโขง รวมทั้งเมียนมา ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม อย่างแน่นอน แหล่งปลาน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของโลกคือแม่น้ำโขงจะสูญสิ้น เป็นปัญหาท้าทายการทำประมงน้ำจืดวิถีชีวิตคน 2 ฝั่งไทย-ลาว ซึ่งผูกพันกับแม่น้ำโขงมาช้านานจะเปลี่ยนไป ปลาบึกที่เป็นปลาขนาดใหญ่อาจสูญพันธ์ุ เพราะหาที่วางไข่ไม่ได้ 

ประเด็นที่ยังหาคำตอบยากคือทำอย่างไรให้จีนเข้าใจวิถีชีวิต และความต้องการของคนในลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบด้วย CLMVT ได้

การเสวนาในวันที่ 2 จัดที่เดิมคือ ห้องบอลรูมโรงแรมโซฟิเทล กระบี่ โภคีธรา กอล์ฟ แอนด์ สปา รีสอร์ท ผู้ที่เป็นวิทยากร เป็นท่านเอกอัครราชทูตประจำกรุงพนมเปญ และ สปป.ลาว ได้เล่าอดีตของประเทศกัมพูชา และ สปป.ลาว รวมทั้งความผูกพันกับไทยที่มีทั้งเรื่องละเอียดอ่อนที่กระทบความมั่นคงตามหัวข้อที่วิทยากรแสดงความคิดเห็นได้แก่ทิศทางและความเปลี่ยนแปลงในมิติต่างๆ ของภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงในทศวรรษที่ 2560-2569

เมื่อพูดถึงเรื่องพุทธศาสนา เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเวียงจันทน์ นภดล เทพพิทักษ์ เล่าถึงพระพุทธศาสนาใน สปป.ลาว ว่าเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของประชาชนชาวลาวอย่างเหนียวแน่น ในขณะที่รัฐบาลลาวให้การยอมรับและยกย่องพระพุทธศาสนาเท่านั้น เพราะพุทธศาสนาทำให้ลาวเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันได้

เรื่องที่กระทรวงการต่างประเทศไทยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับประชาชนชาวลาวเรื่องหนึ่งได้แก่กฐินพระราชทาน ซึ่งจัดกันต่อเนื่องมาหลายปี โดยการริเริ่มของ สุรินทร์ พิศสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ปี 2540-2544) ซึ่งให้จัดกฐินพระราชทานไปทอดในประเทศที่มีวัดในพระพุทธศาสนาหลายประเทศด้วยกัน และปฏิบัติต่อเนื่องถึงปัจจุบัน เพราะเป็น Soft Diplomacy ที่เข้าถึงประชาชนได้โดยตรง

แต่ที่สถานเอกอัครราชทูตไทยในลาวต้องระมัดระวัง คือกฐินพระราชทานที่ภาคเอกชนอ้างว่ารับพระราชทานมา จะให้สถานทูตไปร่วมด้วย แต่สถานทูตไม่ร่วมเพราะทราบว่าคนจัดมีผลประโยชน์แอบแฝง เช่น อยากใกล้ชิดผู้ใหญ่ใน สปป.ลาว ดังนั้นสถานทูตในเวียงจันทน์จะร่วมด้วยกับกฐินพระราชทานที่มาในนามสมาคมมิตรภาพไทย-ลาว หรือจากกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น

 ณัฏฐวุฒิ โพธิสาโร เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ ได้ให้ความเห็นในฐานะที่คุ้นเคยกับกัมพูชามากว่า 30 ปี โดยกล่าวถึงภาพรวมว่าดินแดนสุวรรณภูมิมีการนับถือร่วมกันอย่างหนึ่งคือพระพุทธศาสนา แม้ว่าบางประเทศจะตกอยู่ใต้อิทธิพลของประเทศตะวันตกมานาน แต่ก็ยังนับถือพระพุทธศาสนาเหนียวแน่น ก็สอดคล้องกับที่ท่านทูตนภดลพูด คือกระทรวงการต่างประเทศจัดกฐินพระราชทานไปทอดตามวัดต่างๆ เสมอ เป็นการเชื่อมสัมพันธไมตรีง่ายๆ แบบชาวบ้าน แต่ในความเหมือนก็ย่อมมีความแตกต่างและละเอียดอ่อน บางเรื่องที่เป็นเรื่องเล็กน้อยแต่ก็เป็นเรื่องเครียดขึ้นมาได้ เช่น การอ้างว่าใครเป็นเจ้าของโขนหรือละคร เป็นต้น

ท่านเอกอัครราชทูตยังสงสัยที่ไทยอ้างว่าเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนาโลกนั้นจริงหรือ เพราะเข้าวัดจะเห็นความผสมผสานระหว่างพุทธกับพราหมณ์ พบทั้งพระพิฆเนศ และเจ้าแม่กวนอิม อีกทั้งความเชื่อเรื่องไหว้พระ 9 วัด การขายวัตถุมงคลในวัด แม้ว่าการจำหน่ายวัตถุมงคล จะปิดกั้นการเข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาก็ตาม

เมื่อไปดูวัดในกัมพูชาจะเห็นความแตกต่างคือไม่มีวัตถุมงคลจำหน่าย ไม่มีโครงการเดินทางไหว้พระ 9 วัด แต่เขาทำบุญทอดกฐิน ทอดผ้าป่าเพื่อบำรุงวัดตลอด ถ้าถึงวันพระใหญ่ด้วยแล้ว ประชาชนชาวกัมพูชาแน่นศาลาวัด สถานีวิทยุร้อยละ 90 จัดแสดงพระธรรมเทศนา นี่คือความแตกต่างที่เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญสังเกตเห็น

พร้อมกันนั้นได้ฝากถึงผู้จัดโครงการธรรมยาตรา 5 ประเทศในเดือน พ.ค. ที่จะถึงนี้ว่าให้คำนึงว่าในความเหมือนย่อมมีความแตกต่าง ต้องคำนึงถึง และศึกษาให้ดี ทั้งในประเทศ สปป.ลาว กัมพูชา และเมียนมา และขอให้คำนึงด้วยที่ไทยคุยว่าเป็นศูนย์กลางต่างๆ รวมทั้งพระพุทธศาสนานั้น อย่าลืมว่าประเทศอื่นๆ ก็มีอะไรที่ดีเหมือนกัน และให้ความหวังว่าโครงการธรรมยาตรา หากทำได้จะเป็นความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่

สุภชัย วีระภุชงค์ ก็กล่าวว่า โครงการนี้จะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน โดยนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเป็นตัวเชื่อม เพราะลึกๆ แล้วความรู้สึกของคนในประเทศเพื่อนบ้าน ยังไม่ค่อยประทับใจไทยเท่าไร แม้ว่าจะมีศาสนาและวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน จึงหวังว่าพระพุทธศาสนาจะช่วยให้ทุกฝ่ายเข้าใจกันดียิ่งขึ้น แม้ว่าในความเหมือน ย่อมมีความแตกต่างก็ตาม