posttoday

หยุด พรบ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา

19 มีนาคม 2560

เผยร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ. ... ที่มหาเถรสมาคม (มส.) ต้องสั่งหยุด

โดย...ส.คนจริง

เผยร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ. ... ที่มหาเถรสมาคม (มส.) ต้องสั่งหยุด โดยตั้งกรรมการมหาเถรสมาคม ศึกษาใหม่ เพราะถ้าส่งเรื่องให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา เกรงว่าจะถูกยัดไส้ ทำให้เกิดความเสียหายแก่พระศาสนาและพระสงฆ์มากยิ่งขึ้น เพราะแค่ผ่านสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และสำนักงานกฤษฎีกา ก็แก้ไข จากร่างเดิม ทั้งเพิ่มใหม่ และตัดทิ้ง (เช่น กองทุนอุปถัมภ์ เป็นต้น) เกือบไม่เหลือร่างเดิม เมื่อพระอ่านแล้ว พบว่าร่างนี้แทนที่จะอุปถัมภ์และคุ้มครอง กลายเป็นอย่างอื่น หรือให้ฆราวาสมาคุมพระมากขึ้น

สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ยกร่าง พ.ร.บ.นี้ในช่วงรัฐประหาร พ.ศ. 2549 แต่ไม่ได้ตราเป็นกฎหมาย ผู้ที่เกี่ยวอ้างสารพัด ในที่สุดก็ส่งเรื่องให้กฤษฎีกาไปพิจารณาและตรวจความถูกต้องใช้เวลานานหลายปี รัฐบาลเปลี่ยนจากทหารมาเป็นพลเรือน แล้วกลับไปที่ทหารอีก เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจในวันที่ 22 พ.ค. 2557 หลังจากนั้นอีกหลายเดือนร่าง พ.ร.บ.นี้ก็มาจ๊ะเอ๋
กับ คสช.และครั้งนี้ทำท่าจะสำเร็จ เพราะเป็นร่าง พ.ร.บ. 1 ใน 25 ฉบับ ที่รัฐบาล คสช.ต้องการให้เกิด ตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร.0503/ว.377 ลงวันที่ 3 พ.ย. 2559 ถึงสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และอีกฉบับเป็นหนังสือด่วนที่สุดที่ นร.0503/ว.384 ลงวันที่ 9 พ.ย. 2559 ถึงสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แจ้งว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ประชุมปรึกษาเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2559 ลงมติให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการเสนอร่างกฎหมายเข้าสู่กระบวนการนิติบัญญัติ หรือให้มีผลบังคับใช้ภายในเดือน ธ.ค. 2559 เพิ่มเติมอีก 25 ฉบับ ซึ่งรวมร่าง พ.ร.บ.อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พศ. ... โดยมอบให้ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (สุวพันธ์ุ ตันยุวรรธนะ) ประสานกับคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป ก็เรียกว่าจ่อบันได สนช.เพื่อจะพิจารณาออกมาเป็นกฎหมายอยู่แล้ว

แต่เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2560 พศ.ได้นำเสนอ มส.เพื่อพิจารณา ที่ประชุมพิจารณาแล้ว ขอให้งดไว้ก่อน โดยให้กรรมการมส. 3 รูป คือ พระพรหมบัณฑิต พระพรหมมุนี และพระพรหมโมลี ไปศึกษาดูให้รอบคอบ
เสียก่อน

สรุปว่า มส.ดึงเรื่อง เพราะลำพังที่ผ่านมือสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และสำนักกฤษฎีกา ก็แก้ไขและตัดทิ้ง จนจำไม่ได้ เช่น ให้รับข้อสังเกตของสำนักเลขาธิการ ครม.ไปประกอบการพิจารณาในประเด็นบทกำหนดโทษทางอาญาสำหรับพระภิกษุสามเณรที่กระทำล่วงละเมิดพระธรรมวินัยให้สอดคล้องกับกฎหมายอาญา บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันของบุคคลในสังคมไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วเสนอ สนช.ต่อไป

หรือการตัดคำนิยามที่เป็นหัวใจออกเช่น คำว่า คุ้มครอง ศาสนธรรมศาสนศึกษา สำนักเรียน พระวินยาธิการ กระทำให้เกิดความเสียหายทางพระพุทธศาสนาและรัฐมนตรี โดยบอกว่าปรับปรุงในเนื้อหาชัดเจนแล้ว นอกจากนั้น ได้ตัดการจัดตั้งกองทุนและคุ้มครองพระพุทธศาสนา และแนะให้ พศ. ดำเนินการตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 27 ธ.ค. 2554 เรื่องการตั้งทุนหมุนเวียนของหน่วยงานรัฐ ซึ่งให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่ประสงค์จะตั้งทุนหมุนเวียนต้องเสนอเรื่องกรรมการกลั่นกรองจัดตั้งทุนหมุนเวียนพิจารณาด้วย และแจ้งผลไปที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป เท่านั้นยังไม่พอ ยังไปแก้ที่บอกให้ผู้แทน มส.จากพระภิกษุไปเป็นจากพระภิกษุหรือคฤหัสถ์ได้(ผู้แทน มส.มีคฤหัสถ์ด้วยหรือ) นอกเหนือจากที่กำหนดให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งกรรมการผู้แทนองค์กรทางพระพุทธศาสนา สรุปว่าประเด็นต่างๆ เหล่านี้ ทำให้ มส.หวาดระแวงว่า กรรมาธิการของ สนช.อาจยัดไส้อะไรเพิ่มเติมไปอีก จนทำให้เจตนารมณ์ของร่าง พ.ร.บ.เปลี่ยนจากการอุปถัมภ์คุ้มครอง ไปเป็นไม่อุปถัมภ์ ยังควบคุมอีกต่างหาก (เศร้า)