posttoday

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดแห่งสังฆราชา

27 กุมภาพันธ์ 2560

ไม่เพียงเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ถึง 3 พระองค์

โดย...วันพรรษา อภิรัฐนานนท์ ภาพ เสกสรร โรจนเมธากุล

ไม่เพียงเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ถึง 3 พระองค์ หากวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามยังได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ให้ทรงสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติตามโบราณราชประเพณี ถือเป็นวัดประจำรัชกาล ความยิ่งใหญ่ยังหมายรวมถึงลักษณะผสมระหว่างสถาปัตยกรรมไทยและยุโรปที่โดดเด่นเป็นเอก หนึ่งในสิ่งก่อสร้างที่ทรงบันดาลใจจากการเสด็จประพาสยุโรป

ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นที่ตั้งของสุสานหลวง ต้นแบบของประเพณีการสร้างสถูปบรรจุพระอัฐิและพระอังคารของพระบรมวงศานุวงศ์ มีการจำหลักหินอ่อนตามแบบศิลปะตะวันตกที่จารึกประวัติผู้วายชนม์ขึ้นครั้งแรกที่นี่ หนึ่งในนั้นได้รับการยกย่องว่าไพเราะที่สุด ฉันท์และโคลงจารึกอนุสาวรีย์ที่แต่งดีที่สุดในกลอนไทย เช่นนี้แล้วก็สมควรหรือไม่ ที่เราชาวไทยจะได้ไปสักการะ
สักครั้งหนึ่งในชีวิต

วัดราชบพิธฯ เป็นพระอารามหลวงชั้นเอก ฝ่ายธรรมยุต ตั้งอยู่ที่เขตพระนคร สร้างขึ้นในปี 2412 โดยนำเอาสถาปัตยกรรมแบบไทยและยุโรปสร้างประยุกต์เข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน ใช้ระยะเวลาในการสร้างทั้งสิ้นยาวนานถึง 20 ปีเศษ วัดแบ่งพื้นที่เป็น 3 ส่วน คือ เขตพุทธาวาส เขตสังฆาวาส และเขตสุสานหลวง

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดแห่งสังฆราชา

 

เขตพุทธาวาส

ฐานไพทีปูด้วยหินอ่อน ประกอบด้วย พระอุโบสถ พระเจดีย์ พระวิหาร วิหารมุข วิหารคด และศาลาราย ล้อมรอบด้วยกำแพงแก้วประดับกระเบื้องเคลือบลายเบญจรงค์ สูง 1 เมตร กระเบื้องเคลือบนี้เป็นฝีมือการออกแบบของพระอาจารย์แดง ช่างพระภิกษุที่มีชื่อเสียงมากในสมัยนั้น สำหรับพระอุโบสถ รูปทรงภายนอกเป็นแบบสถาปัตยกรรมไทยประเพณี หากภายในเป็นแบบศิลปะทางตะวันตก ฝีพระหัตถ์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นทิวากรวงศ์ประวัติ ผนังด้านนอกประดับกระเบื้องสีและมุก เป็นลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ 5 ดวง ของ 5 สกุล ซึ่งถือเป็นเครื่องมุขชุดใหญ่ชุดสุดท้ายที่ทำขึ้นในสมัยรัตนโกสินทร์

พระประธานหล่อขึ้นปลายสมัยรัชกาลที่ 4 ประดิษฐานอยู่บนฐานชุกชีหินอ่อนที่สั่งนำเข้ามาจากอิตาลี พระนาม “พระพุทธอังคีรส” หมายถึง มีรัศมีซ่านออกจากพระวรกาย กะไหล่ด้วยทองเนื้อแปดหนัก 180 บาท ภายในพระอุโบสถโปรดให้มีการออกแบบและการให้สีสันคล้ายพระที่นั่งองค์หนึ่งในพระราชวังแวร์ซายส์ ประเทศฝรั่งเศส ทั้งในส่วนของเพดาน เสา และลวดลายที่ผนัง  ฝีพระหัตถ์ของ ม.จ.ประวิช ชุมสาย

เขตสังฆาวาส

เป็นที่ตั้งของหอระฆัง หอกลอง ตำหนักพระอรุณ และพระที่นั่งสีตลาภิรมย์ หอระฆังเป็นอาคาร 2 ชั้น ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ชั้นบนเป็นซุ้มโปร่ง ย่อมุมไม้สิบสอง ยอดทรงพระเกี้ยว ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบลายเบญจรงค์ ส่วนหอกลองมีลักษณะเหมือนหอระฆัง ตำหนักพระอรุณและพระที่นั่งสีตลาภิรมย์เดิมอยู่ในพระบรมมหาราชวัง รัชกาลที่ 5 โปรดให้รื้อและนำมาสร้างใหม่เพื่อเป็นที่ประทับของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอรุณนิภาคุณากร เจ้าอาวาสองค์แรก ตำหนักพระอรุณสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 และเคยใช้เป็นที่พระราชสมภพของรัชกาลที่ 5

เขตสุสานหลวง

ตั้งอยู่ติดกำแพงวัดด้านตะวันตก มีพระบรมราชโองการพระราชทานกัปปิยภูมิอุปจาร อันหมายถึงบริเวณรอบๆ เพื่อสร้างเป็นอนุสรณ์สถานตามพระราชประสงค์ ภายในมีอนุสาวรีย์ต่างๆ เป็นรูปพระเจดีย์ รูปปรางค์ อาคารแบบไทย แบบขอม แบบกอธิก สร้างขึ้นเพื่อบรรจุพระสรีรางคารของพระบรมราชเทวี
พระราชเทวี เจ้าจอมมารดา และพระราชโอรส พระราชธิดา เป็นต้น

มีการสันนิษฐานว่า น่าจะได้ทรงนำคติการบรรจุอัฐิของถูปารหบุคคลตามนัยแห่งพระพุทธศาสนา ผสานเข้ากับการสร้างสุสานหลวงอย่างนานาอารยประเทศ โดยเฉพาะในทวีปยุโรป ซึ่งจะมีลักษณะทางศิลปกรรมงดงาม สร้างด้วยศิลา จำพวกหินอ่อนสลักเสลาตามศิลปะแบบตะวันตก พร้อมจารึกประวัติผู้วายชนม์และคำอาลัยอันไพเราะ

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดแห่งสังฆราชา

 

สุสานหลวง วัดราชบพิธฯ มีลักษณะสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมเลียนอย่างอนุสาวรีย์ที่บรรจุพระศพของเจ้านายยุโรป จะต่างกันก็แต่ว่า สิ่งบรรจุในสุสานหลวงของไทยคือ อัฐิ หรือ อังคาร มิใช่ศพ โดย 4 องค์แรกถือเป็นอนุสาวรีย์สำคัญ สถูปทรงลังกาบุโมเสกทอง 4 องค์ ประดิษฐานเรียงระนาบเป็นแนวประธาน พระราชทานพระบรมราชูทิศแก่พระบรมราชเทวีและพระราชเทวี ประกอบด้วย สุนันทานุสาวรีย์ รังษีวัฒนา เสาวภาประดิษฐาน และสุขุมาลนฤมิตร์ ด้วยทรงยกย่องว่า พระมเหสีทั้ง 4 พระองค์ ล้วนเป็น “ลูกหลวง” พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วยกันทั้งสิ้น

การบรรจุพระอัฐิ ณ สุสานหลวง มีขึ้นคราวแรก เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2448 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระอัฐิของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ ผู้สิ้นพระชนม์พร้อมกันโดยอุปัทวเหตุเรือพระประเทียบล่ม มาบรรจุไว้ ณ สุนันทานุสาวรีย์เป็นปฐม โดยอนุสาวรีย์ทุกองค์ล้วนงดงามและมีความหมายลึกซึ้ง รวมทั้งเป็นที่เคารพบูชา เช่น ในวิหารน้อย เป็นที่บรรจุพระอังคารของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตร
อุดมศักดิ์

ณ วัดราชบพิธฯ ขอเชิญเยี่ยมชมความงาม และเสพสุนทรีย์แห่งศิลปะจารึกบนอนุสาวรีย์ เชื่อว่าจะสัมผัสได้ถึงความยิ่งใหญ่ของวัดและสุสานหลวงแห่งสำคัญ ที่ได้ชื่อว่าทรงคุณค่าและมีความงดงามทางศิลปะที่สุดแห่งหนึ่งแห่งรัตนโกสินทร์สมัย

ที่ประทับ 3 สมเด็จพระสังฆราชา

วัดราชบพิธฯ เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชถึงปัจจุบัน 3 พระองค์ คือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 11 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราชเจ้า สกลมหาสังฆปริณายก สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 18 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2560 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธฯ เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 และเป็นองค์ที่ 3 ของวัดราชบพิธฯ

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดแห่งสังฆราชา

 

บทกวีเอกแห่งสุสานหลวง

สุสานหลวง หามีความสำคัญแต่เพียงเป็นที่บรรจุพระอัฐิและพระอังคารของเจ้านายเท่านั้น หากยังเป็นภูมิสถานที่ก่อให้เกิดบทกวีชิ้นเอกที่ไพเราะจับใจ นั่นคือถ้อยกวีที่พรรณนาความอาลัยรักของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีต่อพระราชธิดาแฝดพระองค์น้อย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประไพพรรณพิลาศ ผู้ด่วนเสด็จสิ้นพระชนม์ไปเสียแต่พระชนมายุ 1 พรรษาเศษ คำประพันธ์เป็นภุชงคประยาตฉันท์และโคลงสี่สุภาพ จารึกบนแผ่นหินอ่อน ผนึกบนเสาอนุสาวรีย์ศิลปะกอธิก “สรีรนิธาน” ดำเนินความว่า

“อนุสาวรีย์นี้ บิดามีฤดีถวิล

สฤษฎ์ไว้จะไว้จิน ตนานุสร์คนึงถึง

ประไพพรรณพิลาศเลิศ ทวีเกิดทวีพึง

กมลพ่อแลพรากจึง ทวีทุกข์ทวีศัลย์

อุบัติมีจะมาดับ ก็รับรู้ฤแผกผัน

วิธีธาตุผสมกัน ก็จำแจกกระจายสลาย

กระนั้นรู้ก็ยังหวัง จะให้ยั้ง บ ด่วนดาย

อำนาจสาตรแลแรงกาย ประจนได้ก็ดูเอา

โอะโอ้ผู้จะอาจก่อ ชะลอเลื่อนนครเขา

แลขุดสร้างสมุทเอา ประเทศถ่อมก็ทำสม

บ สามารถจะปกปัก ธิดารักประคองชม

ฉลาดเล่ห์แลคำคม ฤ คำอ่อน บ วอนไหว

ฉนี้แล้ธิดาดวง สมรล่วงนิคาไลย

จะเหลือแต่เสน่ห์ใน อุราพ่อ บ แผกผัน

จะฦกรักฉลักโศก สถิตยไว้คนึงวัน

ธิดาจากบิดาจรัล ประจักษ์ไว้ประจำใจ

อุบัติแม่ก็มีมา ณ ราตรีกำหนดใน

พฤหัศสุกกะปักษไตร ดิถีสาวะนามี

สหัศโทสดาเสศ จตาฬีสเจดปี

รกาสัปตศกศรี สวัศดิสู่ประสูตรสมัย

ประไพพรรณพิลาศลับ ชีวาดับประลาศไป

ณ วันพุฒดิถีไทย คะรบสัตตะแรมปักษ

ณ เดือนกรรติกาพรรยะ จออัฐศักะ

ราชหนึ่งกะกึ่งพัก ณ โลกย์นี้แลลี้กษัย”

วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม วัดแห่งสังฆราชา

 

ผลงานประวัติศาสตร์ชิ้นนี้ ผู้ประพันธ์คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นพิชิตปรีชากร พระราชอนุชาในรัชกาลที่ 5 ทรงพระนิพนธ์ทูลเกล้าฯ ถวายพระเชษฐา ผู้ทรงพระโทมนัสยิ่งจากการสูญเสีย โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ผู้เป็นพระอนุชา ทรงลงความเห็นเกี่ยวกับพระนิพนธ์อาลัยพระเจ้าลูกเธอแฝดพระองค์น้อยสำนวนนี้ความว่า

“ฉันท์และโคลงจารึกอนุสาวรีย์นี้ ใครได้อ่านมีความเห็นเป็นอันเดียวกันว่า แต่งดีที่สุดในกลอนไทย ไม่ว่ากวีคนใดที่ปรากฏมาแต่ก่อนแต่งดีกว่านี้ได้ มีคำกระซิบกล่าวกันว่า ในเวลานั้น กรมหลวงพิชิตฯ ทรงแต่งดีอย่างนี้ อาจจะร้อนพระทัยในภายหน้า เมื่อโปรดฯ ให้แต่งสำหรับจารึกอื่น ซึ่งสำคัญยิ่งขึ้นไป กรมหลวงพิชิตฯ จะไม่สามารถทรงแต่งได้ดีถึงอนุสาวรีย์นี้ คำกล่าวนี้ทราบถึงกรมหลวงพิชิตฯ ครั้นภายหลังมาก็เป็นจริงอย่างเขาว่า เคยตรัสแก่ข้าพเจ้าว่า ‘มันจริงของเขาเสียแล้วนะน้องเอ๋ย’...”