posttoday

สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร)

19 กุมภาพันธ์ 2560

ภายหลังพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ) วัดพระเชตุพนฯวันที่ 22 มิ.ย. 2517

โดย...ส.คนจริง

ภายหลังพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระสังฆราช (ปุ่น ปุณฺณสิริ) วัดพระเชตุพนฯวันที่ 22 มิ.ย. 2517 ก็มีพระบรมราชโองการฯ สถาปนาสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(วาสน์ วาสโน ป.ธ.4) วัดราชบพิธ เป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 18 ขณะที่ดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราช 14 ปี ทรงปฏิบัติหน้าที่และมีผลงานทั้งด้านการเผยแพร่อบรมสั่งสอนมากมาย รวมทั้งสร้างความสัมพันธ์กับศาสนาอื่นๆ ด้วย พร้อมทั้งเสด็จเยือนประเทศต่างๆ ที่ทูลนิมนต์ เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น ศรีลังกา มาเลเซียและฮ่องกง เมื่อวันที่ 5-16 มี.ค. 2522 รัฐบาลอินเดียนิมนต์เยือนอินเดียอย่างเป็นทางการ และมหาวิทยาลัย BHU ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตด้านอักษรศาสตร์แก่สมเด็จพระสังฆราชด้วย

อย่างไรก็ตาม เมื่อพระองค์ทรงประชวร ซึ่งแพทย์วินิจฉัยว่า จำต้องหยุดปฏิบัติงานสักระยะหนึ่ง แต่พระองค์มิได้มีพระบัญชาแต่งตั้งพระเถระที่เป็นสมเด็จพระราชาคณะรูปใดให้ทำหน้าที่สังฆราช จึงเป็นหน้าที่มหาเถรสมาคมต้องรับมาพิจารณา

เมื่อกรรมการมหาเถรสมาคม พิจารณาแล้วเห็นว่า สมเด็จพระสังฆราชยังทรงพระชนม์อยู่ จึงมอบพระเกียรติถวายให้มีพระบัญชาตั้งสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินฺธโร ป.ธ.9) วัดสามพระยา เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช (ว่าเพื่อรักษาน้ำใจกัน)

เมื่อเป็นดังนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งทำหน้าที่สนองงาน จึงประกาศนามสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น) เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มีผลวันที่ 15 ก.ค. 2531 แต่มาออกประกาศวันที่ 4 ส.ค. 2531 ก็ไม่ทราบว่าดึงไว้นานทำไม

ผู้ที่ลงนามประกาศ ได้แก่ พล.อ.มานะ รัตนโกเศศ รมช.ว่าการ ปฏิบัติราชการแทน รมว.ศึกษาธิการ

หลายคนวิจารณ์ว่าที่ดึงเรื่องอยู่นาน เพราะกระทรวงอยากให้แต่งตั้งสมเด็จอีกองค์หนึ่ง เป็นคนอีสานเหมือนกันเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และความคิดนี้เป็นจริง เมื่อสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์) สิ้นพระชนม์ที่โรงพยาบาลศิริราช ในวันที่ 27 ส.ค. 2531

เมื่อสมเด็จพระสังฆราชสิ้นพระชนม์ พระบัญชาแต่งตั้งผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ที่ประกาศวันที่ 4 ส.ค. 2531 จึงสิ้นสุดลง กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศตั้งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสโภ) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ผู้ที่อาวุโสโดยพรรษา ให้เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช วันที่ 31 ส.ค. 2531 มีผลย้อนหลังวันที่ 28 ส.ค. 2531

สรุปว่า สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ป.ธ.9) วัดสามพระยา เป็นอีกองค์หนึ่งที่ได้เป็นแค่ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ในเวลาอันสั้นตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค.-27 ส.ค. 2531 และไม่ได้มีโอกาสเป็นครั้งที่ 2 หรือ 3 เหมือนสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์) วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน ทั้งๆ ที่สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น) มีบทบาทปกป้องพระมหานิกายตลอดมา ตั้งแต่เป็นพระราชาคณะชั้นต้นๆ โดยตั้งสำนักอบรมครู วัดสามพระยา เป็นตัวขับเคลื่อน โดยมี จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี สนับสนุน และยังเป็นผู้มีบทบาทในการสึกพระพิมลธรรม (อาจ อาสภเถระ) เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2503 ในตอนนั้นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น) มีสมณศักดิ์เป็นพระธรรมคุณาภรณ์ ตำแหน่งเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร จึงเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของพระพิมลธรรม (อาจ) ที่ถูกกล่าวหาตั้งแต่เสพเมถุนทางทวารกับพลฯ สมัคร ชื่อว่า ช. นามสกุล ว.กร (ย่อๆ) เป็นคอมมิวนิสต์ และความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ในที่สุดพระธรรมคุณาภรณ์ก็เปลื้องผ้าสังฆาฏิพระพิมลธรรม ออก (เป็นพิธีสึกของพระ) โดยที่พระพิมลธรรมตั้งปณิธานแน่วแน่ว่าไม่สึก จึงนุ่งขาวห่มขาวอยู่ในสันติบาล 5 ปี ต่อสู้คดีจนศาลทหารยกฟ้อง คณะสงฆ์มหานิกายที่รักความเป็นธรรมประชุมรับรองความเป็นภิกษุพระอาจ อาสภเถระ ที่พระอุโบสถวัดมหาธาตุ รัฐบาลคืนสมณศักดิ์ที่พระพิมลธรรมให้เมื่อ พ.ศ. 2518 ท่านจึงเจริญในสมณศักดิ์ จนถึงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ (พ.ศ. 2528) นั่งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม คู่กับสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น) ที่จับท่านสึก เมื่อ พ.ศ. 2503 จนกระทั่งตายจากกัน (สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ) มรณภาพ วันที่ 8 ธ.ค. 2532) สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น) มรณภาพวันที่ 16 ก.พ. 2539)