posttoday

วัดญาณเวศก์ ประวัติศาสตร์ใหม่ของสงฆ์ไทย

27 พฤศจิกายน 2559

วัดญาณเวศกวัน วัดราษฎร์เล็กๆ อยู่ใกล้พุทธมณฑล ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม

โดย...สมาน สุดโต

วัดญาณเวศกวัน วัดราษฎร์เล็กๆ อยู่ใกล้พุทธมณฑล ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม จะกลาย เป็นประวัติศาสตร์ใหม่ของคณะสงฆ์ไทย หลังจากตั้งมาได้ 27 ปี เมื่อเจ้าอาวาสที่อยู่แต่เริ่มแรก จะได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรณบัฏ กลายเป็นสมเด็จพระราชาคณะรูปที่ 2 ที่อยู่นอกพระนคร (รูปแรกคือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (พุก) วัดศาลาปูน พระนครศรีอยุธยา ที่รัชกาลที่ 5 สถาปนา)

ตามที่เคยเขียนไปเมื่อวันอาทิตย์ ว่า เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2532 พระสงฆ์ 3 รูป ได้แก่ พระเทพเวที (ป.อ. ปยุตฺโต) พระครูปลัดอินศร และหลวงลุงฉาย ปญฺญาปทีโป จากวัดพระพิเรนทร์ วรจักร ได้เข้ามาจำพรรษาในปีแรกนั้น ต่อมาวัดนี้ได้รับการพัฒนามาโดยลำดับ ส่วนพระเทพเวที คือ พระพรหมคุณาภรณ์ พระครูปลัดอินศร คือพระมงคลธีรคณ ส่วนหลวงลุงฉาย ปญฺญาปทีโป มรณภาพ

ส่วนสภาพของวัดนั้น ขอนำข้อความจาก : นายแบบแอบรักเธอ ที่โพสต์ใน Pantip.com เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2552 ที่พาไปชมวัดญาณเวศกวัน มาให้อ่าน นายแบบแอบรักเธอ บอกว่าไปสัมผัสบรรยากาศร่มรื่น อากาศใสๆ อยู่ใกล้ๆ พุทธมณฑลหากใครอยากหาที่สงบๆ ไปพักผ่อนในวันว่าง อ่านหนังสือธรรมะ ทำบุญ นั่งสมาธิ ก็เหมาะทีเดียวครับ

วัดญาณเวศก์ ประวัติศาสตร์ใหม่ของสงฆ์ไทย

 

ว่าแล้วก็ไปชม REVIEW โดยบอกว่าวัดญาณเวศกวัน ดูข้างนอกอาจจะไม่รู้ว่าเป็นวัด เพราะบรรยากาศไม่เหมือนวัดทั่วไปรั้วของวัดปลูกไม้เลื้อยปกคลุม บริเวณวัดเต็มไปด้วยต้นไม้เยอะมากจนจะเป็นป่า อุโบสถสีขาวสะอาดตา มีสระน้ำและหอสมุดด้วย

เรื่องนำอาหารมาถวายพระ ผู้ที่โพสต์กระทู้ บอกว่า นำอาหารมาถวายได้ตั้งแต่เช้า พระวัดญาณเวศกวันออกบิณฑบาตเป็น 3 สาย บิณฑบาตเสร็จราวเจ็ดโมงเช้า จากนั้นฉันเช้าตอนเจ็ดโมงครึ่ง และฉันเพลตอนสิบเอ็ดโมงครับ ช่วงนี้เราสามารถนำภัตตาหารต่างๆ มาถวายได้ รวมถึงสังฆทานต่างๆ จะมีตัวแทนพระสงฆ์ผลัดเปลี่ยนมาประจำที่ศาลา กล่าวคำถวาย อาราธนาศีลเสร็จแล้ว ท่านก็จะยกธรรมะมาพูดคุย ในหัวข้อที่สมควรแก่โอกาสด้วยครับ

อาหารที่นำมาถวาย ก็จะถูกส่งเข้าครัว จัดมาวางบนโต๊ะเรียงรายพระท่านก็จะทยอยมาที่หอฉัน ถือบาตรรูปละใบ เข้าแถวตักอาหารที่วางเรียงรายลงในบาตร แล้วไปฉันในสถานที่ที่จัดไว้โดยจะฉันพร้อมกันครับ ทุกวันก่อนฉันเพล พระท่านจะจัดเวร หยิบยกหัวข้อธรรมมาอธิบายให้เราได้ฟัง เท่าที่เคยฟังมาก็มี เรื่องฆราวาสธรรม 4 อปริหานิยธรรม การทำทาน การทำบุญในรูปแบบต่างๆ หมุนเวียนกันไป

วัดญาณเวศก์ ประวัติศาสตร์ใหม่ของสงฆ์ไทย พระพรหมคุณาภรณ์ท่ามกลางพระสงฆ์ในอุโบสถวัดญาณเวศกวัน

 

จากนั้นพระท่านจึงสวดบทกรวดน้ำ ให้พร บทพิจารณาอาหาร แล้วจึงฉันครับ ส่วนอาหารที่เหลือ ซึ่งก็เหลือเยอะพอสมควร โดยเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ ก็จะสละให้ญาติโยมที่มาทำบุญในวันนั้นได้ทานกัน อาทิตย์ที่แล้วเห็นคุณป้าท่านหนึ่งพูดว่า ดีจัง มาทำบุญเสร็จแล้ว มีบุฟเฟ่ต์ให้ทานด้วย ผมก็แอบยิ้มอยู่ในใจ อิ่มบุญแล้วก็อิ่มท้องด้วยครับ

ทานข้าวเสร็จแล้ว ก็อาจจะอยากเข้าห้องน้ำใช่ไหมครับ ไปดูห้องน้ำวัดญาณเวศกวันกันดีกว่า เห็นแล้วห้องน้ำตามปั๊มอาจจะอายได้ จากข้อสังเกตของผม วัดนี้มีข้อแตกต่างจากวันอื่นๆ บริเวณใกล้เคียงหลายอย่างอยู่เหมือนกันครับ

สิ่งที่วัดนี้มี แต่วัดอื่นๆ ในบริเวณใกล้เคียงไม่มี

วัดญาณเวศก์ ประวัติศาสตร์ใหม่ของสงฆ์ไทย พระพรหมคุณาภรณ์

 

1.หอสมุด เป็นหอสมุดของธรรมสภาครับ รวบรวมหนังสือธรรมะมากมายให้ได้อ่าน แต่ยังไม่มีบริการยืมหนังสือนะครับ (ห้องสมุดมีชื่อว่า ญาณเวศก์ธรรมสมุจย์ มี 3 ชั้น)

2.อุโบสถ 2 ชั้น สีขาวสะอาดตา ชั้นบนใช้ประกอบพิธี ส่วนด้านล่างกว้างขวาง ใช้เป็นที่ประชุม จัดกิจกรรมต่างๆ ครับ

3.ต้นไม้ เยอะมากครับ ร่มรื่นจริงๆ

4.การบรรยายธรรม มาฟังสดๆ ได้จากพระ หมุนเวียนกันไปในแต่ละวัน หรือรับ CD MP3 ธรรมะ กลับไปฟังที่บ้านก็ได้ครับ ไม่ต้องเสียสตางค์แต่อย่างใด

5.กิจกรรมนั่งสมาธิ กรรมฐาน ใครสนใจมาได้ครับ มีทุกวันเสาร์-อาทิตย์

พอเห็นภาพแล้วใช่ไหม

ส่วนความเป็นมาของวัดนั้นคุณหญิงกระจ่างศรี รักตะกนิษฐ์ ได้เขียนเล่าการเกิดของวัดญาณเวศกวัน โอกาสที่วัดญาณเวศกวันได้รับพระราชทานผ้าพระกฐินซึ่งจะได้ทอด ในวันที่ 31 ต.ค. 2547 ว่า เขียนจากความทรงจำ แต่ก็จำอะไรไม้ได้มากแล้ว เป็นการออกตัวของคุณหญิงในวัย 90 ปี (พ.ศ. 2547 และอายุ 101 ปี ใน พ.ศ. 2558) พร้อมกับเล่าว่า วัดญาณเวศกวันเป็นวัดราษฎร์ขนาดเล็ก เพิ่งจะได้รับอนุญาตให้ก่อตั้งเป็นทางการเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2537 มีเนื้อที่ในขณะนั้น 11 ไร่เศษ ปัจจุบันมีประมาณ 22 ไร่ ตั้งอยู่ ณ ต.บางกระทึก อ.สามพราน จ.นครปฐม มีพระเดชพระคุณพระพรหมคุณาภรณ์ เป็นเจ้าอาวาส มีพระสงฆ์จำนวนไม่แน่นอน ขณะนี้ (พ.ศ. 2547) มี 21 รูป เป็นพระนวกะเป็นส่วนใหญ่ เหตุเพราะยังอยู่ในพรรษา ถ้าเป็นเวลานอกพรรษา ก็จะมีพระประจำเพียงจำนวนน้อย ประมาณ 11-12 รูป เท่านั้น

คุณหญิงได้โยงให้เห็นการเกิดของวัดว่าเกี่ยวโยงกับวัดพระพิเรนทร์ที่อยู่ถนนวรจักร ที่บรรยากาศภายในวัดเต็มไปด้วยมลภาวะที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพของผู้พำนักที่มีโรคภูมิแพ้ เช่น พระพรหมคุณาภรณ์ โดยเฉพาะกุฏิที่พำนักของท่านติดกับช่างทำทองที่อยู่นอกกำแพงวัด แต่เวลาทำทองตอนกลางคืน พ่นมลพิษออกมา ตรงหน้าต่างที่ท่านนั่งทำงานพอดี ทำให้ท่าน ทำงานก็ไม่ได้ จำวัดก็ไม่ได้ ต้องลุกหนีออกจากห้อง มาเดินที่ระเบียงข้างหน้า เพียงแต่ให้กลิ่นไอเบาบางลงบ้างเท่านั้น การเป็นอยู่อย่างนี้มาตลอดเวลานับสิบๆ ปี พวกเราญาติโยมได้ทราบพากันวิตก พยายามหาที่พำนักข้างนอกเพื่อขอให้ท่านย้ายออกไป แต่ก็หาที่เหมาะไม่ได้สักที

ขอรวบรัดตัดความว่า มีผู้หาและเสนอที่ต่างๆ ให้ แต่ก็ไม่เป็นสัปปายะ จนกระทั่งมีผู้เสนอให้พัก ณ ศาลากลางสระน้ำ ที่ ต.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี เห็นว่าพอจะใช้ได้ เพราะในขณะนั้นมีพระสงฆ์ในคณะของท่านเพียง 2 รูปเท่านั้น คือ พระครูปลัดปิฎกวัฒน์ (ปัจจุบันคือพระมงคลธีรคุณ) ศิษย์ของท่านและพระครูสังฆรักษ์ (ฉาย) ซึ่งรักเคารพท่านมาก ติดตามมาจากวัดพระพิเรนทร์ ไปอยู่ที่นั่น เมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2529

ผู้เป็นเจ้าของศาลาดังกล่าว คือ คุณบุญเจิด หลิมสุนทร และภรรยา เอาใจใส่ดูแลการเป็นอยู่ของท่านอย่างดีที่สุด ท่านและคณะพักอยู่ที่นี่นานถึง 3 พรรษา ในระหว่างนี้ญาติโยมก็ยังมิได้หยุดที่จะเสาะหาที่ถาวร จนถึงปี 2531 จึงได้สถานที่ที่ตั้งวัดในปัจจุบัน

ใน พ.ศ. 2559 วัดญาณเวศกวัน มีพื้นที่ร่มรื่นเพิ่มขึ้น เป็นวัดที่ผู้แสวงหาปัญญา และความสงบขอเข้ามาอุปสมบทกันมาก จาก 3 รูป ที่มาบุกเบิกในระยะแรก ก็กลายเป็นที่อยู่ของสงฆ์ 32 รูป ในปัจจุบัน ส่วนที่จองคิวขอบวชอีกจนวน 200 กว่ารายชื่อ แต่ต้องคัดกรอง เพื่อให้สะดวกกับกุฏิที่ว่าง นี่คือวัดที่เป็นประวัติศาสตร์ใหม่ของคณะสงฆ์ไทย