posttoday

ภูฏาน ประเทศเล็กๆ ที่มีความสุข

06 พฤศจิกายน 2559

พระศรีธวัชเมธี (ชนะ ป.ธ.9) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบุรณะ (วัดเลียบ) เคยเดินทางไปกับคณะมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

โดย...ส.คนจริง

พระศรีธวัชเมธี (ชนะ ป.ธ.9) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบุรณะ (วัดเลียบ) เคยเดินทางไปกับคณะมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) เพื่อร่วมประชุม เรื่อง ความสุขมวลรวมประชาชาติ (GNH) ที่ประเทศภูฏาน เมื่อปีที่แล้วแต่ยังประทับใจ บอกว่า การที่ประชาชนของประเทศนี้มีความสุข จนกระทั่งองค์การสหประชาชาติประกาศยกย่อง เพราะพระมหากษัตริย์ กับประชาชนทำงานร่วมกัน ประชาชนเชื่อผู้นำ เมื่อพระมหากษัตริย์ต้องการให้ประชาชนทำอะไร รักษาอะไร เขาก็ยินดีปฏิบัติและร่วมมือ ตัวอย่างเช่น การดูแลรักษาป่าไม้ และวัฒนธรรมที่มีพระพุทธศาสนาเป็นแกนหลัก เป็นต้น

นอกจากนั้น ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนี้มีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย รู้จักแบ่งเวลาเหมือนประชาชนชาวเมียนมา คือ ใช้เวลาไปวัดกี่เปอร์เซ็นต์ อยู่กับครอบครัวกี่เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะวันหยุด ต้องหยุดอยู่กับครอบครัวจริงๆ

การที่ประเทศนี้ใช้ความสุขมวลรวมประชาชนเป็นตัวชี้วัดความเจริญนั้น พระศรีธวัชเมธี กล่าวว่า เท่าที่ทราบสถาบันวางแผนพัฒนาประเทศ หรือ Think Tank ของประเทศนี้เคร่งครัดกับแผนสร้าง GNH อย่างจริงจัง โดยอ้างพระพุทธดำรัสมาเป็นบรรทัดฐานว่า พระพุทธองค์ตรัสเรื่องนี้ว่าอย่างไร ก็นำมาประยุกต์ใช้และปฏิบัติ

ตอนหนึ่งของบทความ เรื่อง Happiness is Real เขียนโดย Eric Weiner ในหนังสือ Bhutan 2009 ที่ไปสัมภาษณ์เจ้าของโรงแรมในภูฏานถึงความหมายของ GNH เขาได้คำตอบมาสั้นๆ ว่า การรู้จักข้อจำกัดของตนเอง และรู้จักพอ

GNH ถูกชี้นำว่าเป็นนโยบายการพัฒนาโดยพระมหากษัตริย์องค์ที่ 4 แห่งภูฏาน พระราชาธิบดี จิกมี ซิงจี วังชุก เมื่อปี 2515 (ค.ศ. 1972) เมื่อพระองค์ทรงประกาศว่าความสุขมวลรวมประชาชาติสำคัญกว่าผลผลิตมวลรวมของชาติ

เดือน ก.ค. 2554 องค์การสหประชาชาติ ผ่านมติ 65/309 เอกฉันท์ ให้บรรจุคำว่า “Happiness” ในวาระการพัฒนาของโลก

ข้อมูลจากบริษัทนำเที่ยวแห่งหนึ่ง ระบุว่า GNH มีหลักการสำคัญ 4 ประการ หรือเสาหลักแห่งความสุขทั้งสี่ (Four Pillars of Happiness) คือ

• ประการที่ 1 การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมและยั่งยืน (Sustainable Economic Development)

• ประการที่ 2 การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ (Conservation of Environment) การพัฒนาใดๆ จะต้องไม่ทำลายความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ

• ประการที่ 3 การส่งเสริมและสงวนรักษาวัฒนธรรมประเพณี (Preservation and Promotion of Culture) รัฐบาลก็จะส่งเสริมและให้ชาวภูฏานยึดถือและปฏิบัติตามแบบแผนดั้งเดิมที่เคยทำกันมา เช่น วัฒนธรรมการแต่งกาย การสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ความเชื่อและการประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

• ประการที่ 4 การส่งเสริมการพัฒนาธรรมาภิบาล (Good Governance) คือ เน้นให้ชาวภูฏานดำรงชีวิตบนพื้นฐานที่จะช่วยพัฒนาสังคมทั้งระบบให้มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพโดยยึดถือหลัก 6 ประการ เช่น ความซื่อสัตย์ สุจริต ความมีคุณธรรม จริยธรรม เป็นต้น

นี่คือคำตอบว่า ประเทศเล็กๆ หรือภูฏาน ในหุบเขาหิมาลัย กลายเป็นประเทศที่ประชาชนมีความสุขที่สุดในโลก