posttoday

ประทับใจอักษรสาสน์ ของกษัตริย์จิกมี

23 ตุลาคม 2559

ผู้นำทั่วโลกแสดงความไว้อาลัยในการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อย่างสุดซึ้ง

โดย...ส.คนจริง

ผู้นำทั่วโลกแสดงความไว้อาลัยในการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อย่างสุดซึ้ง แต่ที่ผู้เขียนอ่านแล้วซาบซึ้งอย่างยิ่งเป็นพระอักษรแสดงความไว้อาลัยที่สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งภูฏาน ที่เสด็จฯ มาถวายบังคมและทรงวางพวงมาลาพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 2559 ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

ในฐานะพสกนิกรชาวไทยที่เป็นชาวพุทธรู้สึกว่า พระอักษรสั้นๆ แต่ลึกซึ้งแบบชาวพุทธที่เข้าใจตรงกันว่า เป้าหมายสูงสุดของชาวพุทธนั้นคือพระนิพพาน พระอักษรถวายความไว้อาลัย จึงว่าเสด็จฯ สู่พระนิพพาน และ (ถ้า) มีพระราชสมภพใหม่ ขอให้เป็นธรรมราชา สมแล้วที่ราชอาณาจักรภูฏานประกาศว่า เป็นประเทศที่มีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ

ความในพระอักษรแสดงความอาลัยดังนี้ (ผู้เขียนแปลอย่างไม่เป็นทางการ)วันที่ 16 ต.ค. 2559 กรุงเทพฯ ประเทศไทย ถวายบังคมพระมหากษัตริย์ที่หาผู้เปรียบเทียบได้ยาก ผู้ทรงวิสัยทัศน์ พระมหากษัตริย์ที่ทรงเป็นรัตนเลอค่ายิ่ง พระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งเสด็จสู่พระนิพพาน ข้าพระพุทธเจ้า ขอถวายความเคารพอย่างสูงสุด และภาวนาจากหัวใจ ขอให้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงอุบัติเสมอในฐานะพระธรรมราชา เพื่ออวยประโยชน์แด่สรรพสัตว์ทั้งมวล

ผู้เขียนขอขยายความคำว่า เสด็จสู่พระนิพพาน เป็นคำที่แสดงถึงการเข้าถึงคำสอนพระพุทธองค์ และเป้าหมายสูงสุดแห่งพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง คือ พระนิพพาน

นอกจากนั้น ยังเชื่อเรื่องชาติหน้า ตามหลักความเชื่อชาวพุทธว่า มีอดีต ปัจจุบัน และอนาคต (ชาติหน้า) พระอักษรจึงกล่าวถึง (ถ้า) เกิด ขอให้เป็นพระธรรมราชาเพื่อยังประโยชน์สุขแก่สรรพสัตว์

ในความเชื่อตามวัชรยาน ธรรมราชา ไม่น่าจะแปลอย่างอื่น นอกจากพระโพธิสัตว์

เราชาวไทยสำนึกในพระมหา กรุณาธิคุณเสมอว่าพระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตลอด 70 ปี นอกจากทรงเป็นพลังแผ่นดินแล้ว ไม่มีใครปฏิเสธว่าพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่ และโครงการเพื่อแผ่นดินนับพันโครงการ ทรงทำเพื่อช่วยเหลือพสกนิกรให้หลุดพ้นจากความทุกข์ นั่นคือปฏิปทาแห่งพระโพธิสัตว์โดยแท้ ที่มีปณิธานช่วยเหลือสรรพสัตว์ก่อน

ผู้เขียนสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ  สมเด็จพระราชาธิบดี จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก แห่งภูฏาน ที่ถวายความไว้อาลัยแบบที่ชาวพุทธทั้งหลายจะพึงมีต่อกัน

ภูมิหลังของประเทศภูฏาน ตามที่ผู้เขียนเคยไปเห็นด้วยตาตนเองเมื่อปี 2550 นั้น เป็นประเทศเล็กๆ ตั้งอยู่ในเทือกเขาหิมาลัย ที่มีประเพณีวัฒนธรรมของตนเอง ไม่ยอมรับอิทธิพลของประเทศข้างเคียงที่ใหญ่ๆ ไม่ว่าอินเดียและจีน จึงไม่ต้องพูดถึงวัฒนธรรมแบบตะวันตกไม่สามารถทะลุทะลวงเทือกเขาแห่งความจงรักภักดีในชาติได้ จึงเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนเรียบง่าย

ตั้งแต่การเรียนการศึกษา และอาคารที่ก่อสร้างมีรูปแบบเฉพาะตัว เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ เพราะวงกบกรอบประตูหน้าต่างจะเหมือนกันทุกแห่ง

ภูฏานเป็นเพียงประเทศเดียวในโลกที่ยอมรับนับถือพระพุทธศาสนามหายานแบบตันตระ หรือวัชรยานเป็นศาสนาประจำชาติ