posttoday

เบญจภาคี ยอดขุนพล

23 ตุลาคม 2559

เปิดสนามวันนี้ชมพระเบญจภาคีเนื้อโลหะตระกูลพระกรุกันครับ ในอดีตเช่าหากันแพงมากและหายาก

โดย...อาจารย์ชวินทร์ [email protected]

เปิดสนามวันนี้ชมพระเบญจภาคีเนื้อโลหะตระกูลพระกรุกันครับ ในอดีตเช่าหากันแพงมากและหายาก จึงทำให้นักสะสมรุ่นใหม่ไม่เห็นองค์จริงกันเท่าไร ตลาดพระกรุก็ตกลงมาเรื่อยๆ ทั้งที่ศิลปะและพุทธคุณสุดยอด ขอบคุณ คุณพรชัย วินวินพระเครื่อง ที่นำพระมาให้ชมครับ

องค์ที่หนึ่ง พระพุทธชินราช ใบเสมา เนื้อชินเงิน เป็นหนึ่งในชุดเบญจภาคี พระเนื้อชินยอดนิยม พบจากกรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ จ.พิษณุโลก องค์พระเหมือนพระพุทธชินราช ที่เป็นพระประธาน และมีแบบคล้ายใบเสมา ตามรอบอุโบสถวัด จึงมีชื่อเรียกว่า พระพุทธชินราช ใบเสมา มี 3 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง และพิมพ์เล็ก แต่ละพิมพ์สามารถแบ่งได้เป็นพิมพ์ใหญ่ ฐานสูง พิมพ์ใหญ่ ฐานเตี้ย พิมพ์กลาง ฐานสูง พิมพ์กลาง ฐานเตี้ย และพิมพ์เล็ก ฐานสูง การแบ่งแยกเป็น “ฐานสูง” นั้นสังเกตจากองค์พระมีส่วนเกินใต้ฐาน ทำให้ฐานขององค์พระดูสูงขึ้น ผิวเนื้อขององค์พระจะออกสีนวลดำๆ มีคราบปรอทให้เห็นประปราย อาจพบรอยระเบิดจากภายในออกสู่ภายนอก พระพุทธชินราช ใบเสมา แตกกรุออกมาเมื่อประมาณปี 2440 ในสมัยรัชกาลที่ 5

เบญจภาคี ยอดขุนพล

 

องค์ที่สอง ชมพระร่วงหลังลายผ้า กรุวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ เมืองลพบุรี ได้รับการจัดเป็นหนึ่งในชุดพระเบญจภาคี พระกรุเนื้อโลหะ ปัจจุบันหาชมได้ยาก แตกกรุออกมาครั้งแรกประมาณปี 2430 ที่พระปรางค์องค์ใหญ่ในวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ต่อมาแตกกรุอีก 2 ครั้ง คือ ปี 2455 และปี 2458 ในบริเวณใกล้เคียงกัน ด้านพุทธคุณครบเครื่องทั้งด้านเมตตา อำนาจ แคล้วคลาด จะมีเพียง 2 เนื้อ คือ เนื้อชินเงินและตะกั่วสนิมแดง พุทธลักษณะองค์พระประธานประทับยืน แสดงปางประทานพร ศิลปะเขมร ยุคบายน แบ่งแยกพิมพ์ได้ 2 พิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ ซึ่งเรียกว่าพิมพ์นิยม และพิมพ์เล็ก ส่วนพิมพ์ด้านหลังเป็นหลังลายผ้า องค์ที่นำมาให้ชมเป็นพิมพ์ใหญ่เนื้อตะกั่วสนิมแดง

องค์ที่สาม ชม พระเทริดขนนก กรุวัดเสมาสามชั้น สนิมแดง มีอายุกว่า 700 ปี ขุดพบที่วัดเสมาสามชั้น ซึ่งเดิมเป็นวัดร้าง แตกกรุออกมา 2 ครั้ง ครั้งแรกในราวปี 2473 ครั้งที่ 2 เกิดจากนักเรียนและภารโรง โรงเรียนการช่างชายเพชรบุรี ทำความสะอาดพื้นที่ด้านหลังโรงเรียน ซึ่งติดกับวัดร้าง (วัดเสมาสามชั้น) โดยจุดไฟเผาพงหญ้าแห้ง ซึ่งสุมกองเป็นเนิน ไฟได้ลุกลามไปถึงเนินดินใกล้ แล้วไฟก็ดับไปเฉยๆ ทั้งที่บนเนินดินมีหญ้าแห้งที่เป็นเชื้อไฟได้อย่างดี เลยคิดกันว่าใต้ดินคงมีของดี จึงช่วยกันขุดพบเศษอิฐเก่าและอิฐโบราณขนาดใหญ่ปูเรียงไว้ ต่อมาชาวบ้านคนหนึ่งทราบข่าวจากเพื่อนภารโรง จึงมาขุดได้พบพระเนื้อชินสนิมแดง ประมาณ 200 องค์ เป็นพระศิลปะลพบุรี มี 2 พิมพ์ คือ มีองค์พระประทับนั่งในซุ้มเรือนแก้ว เรียกว่า พระยอดขุนพล และอีกพิมพ์หนึ่ง องค์พระตัดปีกชิด เรียกกันว่า พระเทริดขนนก

เบญจภาคี ยอดขุนพล

 

องค์ที่สี่ ชมพระหูยาน ลพบุรี ถ้าพูดถึงพระพิมพ์นั่งของเมืองลพบุรีแล้ว ต้องยกให้พระหูยาน ถ้าเป็นพระพิมพ์ยืนก็ต้องพระร่วงหลังลายผ้า พระหูยานต้นกำเนิดอยู่ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ แตกกรุออกมาครั้งแรกเมื่อประมาณปี 2450 ซึ่งเราเรียกว่า “พระกรุเก่า” พระที่แตกออกมาครั้งแรกนั้นจะมีผิวสีดำมีปรอทขาวจับอยู่ตามซอกขององค์พระ เล็กน้อย เมื่อผ่านการใช้ผิวปรอทก็จะหายไป ต่อมาก็มีแตกออกมาบ้างแต่ก็ไม่มากจนกระทั่งปี 2508 ก็มีแตกกรุออกมาอีกเป็นจำนวนมาก ที่บริเวณเจดีย์องค์เล็กหน้าองค์พระปรางค์ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ซึ่งเรียกกันว่า “กรุใหม่”
องค์ที่นำมาให้ชมเป็นพิมพ์ใหญ่ กรุเก่า เป็นพระดูง่าย ของคุณชรัฐ ตามไท

จากกันด้วยข้อคิดจากขงจื๊อ “เมื่อประตูบานหนึ่งเปิด อีกบานหนึ่งก็ย่อมจะปิด บ่อยครั้งที่เรามัวแต่จ้องประตูบานที่เปิดอยู่ จนไม่ทันเห็นว่ามีอีกบานปิดอยู่”

เบญจภาคี ยอดขุนพล