posttoday

พ.อ.ปิ่น คนต้นแบบ และแรงบันดาลใจ

16 ตุลาคม 2559

เสียงกังสดาลที่ พล.อ.วิชิต ยาทิพย์ ประธานในพิธี บรรจงตี 9 ครั้ง เพื่อเป็นสัญลักษณ์การเปิดงาน 100 ปี

โดย...สมาน สุดโต

เสียงกังสดาลที่ พล.อ.วิชิต ยาทิพย์ ประธานในพิธี บรรจงตี 9 ครั้ง เพื่อเป็นสัญลักษณ์การเปิดงาน 100 ปี ชาตกาล พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์ อดีตอธิบดีกรมการศาสนา บนชั้น 2 อุโบสถศาลาวัดสัมพันธวงศ์ เมื่อเช้าวันที่ 11 ต.ค. 2559 นั้น ดังกังวานสะท้านอยู่ในใจทุกคนที่ร่วมพิธี เพราะปูชนียบุคคล เช่น พ.อ.ปิ่น ไม่ได้ดังแล้วดับ หากแต่ยังมีคลื่นเสียงอมตะอยู่ในหัวใจของบุคคลที่ใกล้ชิด จึงเป็นที่มาของงานในวัดที่ พ.อ.ปิ่น เคยได้รับการบ่มเพาะด้านการศึกษา เมื่อแรกเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ  ตั้งแต่ พ.ศ. 2477

คุณความดีและความสามารถของ พ.อ.ปิ่น อดีตอธิบดีกรมการศาสนา (พ.ศ. 2506-2515)  ยังเป็นแรงบันดาลให้ พล.อ.วิชิต ในฐานะประธานชมรมอนุศาสนาจารย์ไทย ที่จะกระตุ้นให้บรรดาอนุศาสนาจารย์กองทัพบก นำปฏิปทาและวิธีการของ พ.อ.ปิ่น ไปเป็นแบบอย่างในการเผยแผ่หลักธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ต่อไป

สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร ป.ธ.9) กล่าวว่า ขณะที่เป็นพระมหาปิ่น วิริยากโร นั้น ท่านช่วยรับภาระงานในวัดอย่างแข็งขัน ชอบการศึกษาค้นคว้าทั้งทางโลกและทางธรรม มีความชำนาญด้านการเผยแผ่ ได้รับยกย่องว่าเป็นนักเทศน์ที่สามารถประยุกต์เรื่องทางโลก ทางธรรมมาสอนให้เท่าทันกับโลกสมัยใหม่ นำเกียรติคุณ ปัญญา ความรู้ความสามารถที่ได้รับจากวัดสัมพันธวงศ์ไปสู่สาธารณะ จนเป็นที่พูดกันติดปากมาถึงทุกวันนี้ว่า วัดสัมพันธวงศ์ เป็นวัดแห่งนักปราชญ์

ความที่ใกล้ชิดกับวัด จึงเป็นผู้สร้างเกียรติประวัติให้แก่วัดสัมพันธวงศ์ ที่มีอธิบดีกรมการศาสนาเป็นไวยาวัจกร ประจำวัดคนแรก และ ร.อ.อดุลย์ รัตตานนท์ ผู้เป็นศิษย์วัดนี้ เจริญรอยตาม พ.อ.ปิ่น ผู้เป็นอาจารย์ โดยรับราชการมีความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่ ได้เป็นอธิบดีกรมการศาสนา ในกาลต่อมา (พ.ศ. 2531) ไม่ใช่แต่เท่านั้น ร.อ.อดุลย์ ยังดำรงตำแหน่งไวยาวัจกรของวัดสัมพันธวงศ์อีกตำแหน่งหนึ่ง ถึงทุกวันนี้ จึงถือว่าวัดสัมพันธวงศ์มีไวยาวัจกรที่สืบต่อกันมาจากอาจารย์และลูกศิษย์เป็นวัดแรก (ของไทย)

พ.อ.ปิ่น เกิดวันที่ 11 ต.ค. 2459 ที่ จ.อุบลราชธานี ถึงแก่กรรมวันที่ 4 เม.ย. 2515 สิริอายุ 55 ปี 5 เดือน 24 วัน

พระพรหมเมธี ปฏิบัติหน้าที่เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ กล่าวในเรื่องปฏิปทากุศลกถา ว่า พ.อ.ปิ่น มีความสามารถในการพูด ใครฟังก็จับใจในคำอุปมาอุปไมย จึงจัดหมวดหมู่การพูด พร้อมทั้งคำจำกัดความไว้ 7 หัวข้อด้วยกัน ตั้งแต่การบรรยาย ปาฐกถา เทศนา ปราศรัย กล่าวสุนทรพจน์ อภิปราย และการสอน รวมทั้งแนะวิธีปรุงคำพูดแบบ 4 ส. คือ สันทัสสนะ ให้แจ่มแจ้งชัดเจน สมาทปนะ ให้อยากทำตาม สมุตเตชนะ ให้กล้าหาญ และสัมปหังสนะ ให้ร่าเริงแจ่มใส โดย พ.อ.ปิ่น บอกว่า ใครปรุงคำพูดได้ครบ 4 ส. การพูดของคนนั้นจะได้รับความนิยมจากมหาชนอย่างกว้างขวาง

พ.อ.ปิ่น คนต้นแบบ และแรงบันดาลใจ คณะผู้เสวนามุมสว่าง ทางสงบ ครบ 100 ปี พ.อ.ปิ่น มุทุกันต์ (จากขวา) ร.อ.อดุลย์พระราชญาณกวี พ.อ.นเรศร์ จิตรักษ์ และจันทิมา มุทุกันต์ เชยสงวน

 

ส่วนบุตรสาว จันทิมา มุทุกันต์ เชยสงวน อดีตรองอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ได้กล่าวว่า พ.อ.ปิ่น ในฐานะบิดา ได้อบรมธรรมะให้ซึมซับตลอด เช่นเมื่อเป็นวัยรุ่นก็ให้พิมพ์บทความทางธรรมทุกวัน พร้อมทั้งให้รางวัล 200 บาท จึงไม่ได้ไปเที่ยวเหมือนวัยรุ่นทั่วไป เมื่อนึกถึงว่าบิดาเป็นกำลังสำคัญคนหนึ่งในการขับเคลื่อนศีลธรรมและจริยธรรมเข้าสู่สังคมไทยด้วยพลังความคิดและผลงานเป็นอเนกประการ จึงคิดมาตั้งแต่ปี 2556 เพื่อจัดงาน 100 ปี ชาตกาลของท่าน โดยได้ปรึกษากับผู้ที่เกี่ยวข้องมาตลอด แต่มาสรุปเป็นรูปธรรมเมื่อได้พบกับ ร.อ.อดุลย์ อดีตอธิบดีกรมการศาสนา ที่พามาพบพระพรหมเมธี ผู้ปฏิบัติหน้าที่เจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2559 จึงได้งานเป็นรูปธรรมดังที่เห็น

ขณะที่พระราชญาณกวี (สุวิทย์) วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ซึ่งแสดงพระธรรมเทศนา และเขียนรำลึกในหนังสือ 100 ปี ชาตกาล พ.อ.ปิ่น ในชื่อบทความ วชิรบงกช ว่า

ชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เป็นสามเณรอายุ 15 ปี เช่น งานของพลตรีหลวงวิจิตรวาทการ สุชีพ ปุญญานุภาพ แสง จันทร์งาม (ธรรมโฆษ) วิศิน อินทสระ อ่านทุกเล่มทุกเรื่องที่มีในตู้หนังสือหลวงปู่ วันหนึ่งได้อ่านหนังสือของ พ.อ.ปิ่น ปรากฏว่าอ่านแล้วติดงอมแงม เหมือนอ่านกำลังภายใน ทั้งๆ ที่เป็นหนังสือธรรมะ เพราะอ่านง่าย อ่านสนุก มีหลักในการขบคิดธรรมะที่แยบยล โดยเฉพาะการอุปมาอุปไมย ยกตัวอย่างประกอบให้คนคล้อยตาม จากนั้นมาก็ติดตามอ่านงานของท่านทุกเล่มทุกเรื่อง จนถึงเรื่องสุดท้ายที่ท่านเขียนคือ ความรัก ปรากฏว่าเกิดแรงบันดาลใจอย่างมหัศจรรย์ขึ้นต่อข้าพเจ้า เหมือนคนหลงทางพบแผนที่ ข้าพเจ้าจึงเริ่มฝึกเขียน ฝึกพูด มุ่งทำงานเผยแผ่ ออกบรรยายธรรมะตั้งแต่เป็นสามเณร เกิดความรู้สึกว่า งานเผยแผ่นี่แหละคือทางรอดของพระพุทธศาสนา ข้าพเจ้าจึงได้อธิษฐานจิตอุทิศตน ทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

พระราชญาณกวี กล่าวอีกว่า สิ่งที่เป็นคุณลักษณะพิเศษของ พ.อ.ปิ่น คือ เป็นคนคิดก้าวหน้าในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เกิดการฝึกอบรมพระธรรมทูตไปต่างประเทศ จึงได้เห็นว่ากระแสความนิยมพระพุทธศาสนาของคนตะวันตก ได้เห็นพระสงฆ์ไทยเดินทางไปสร้างวัดทั่วโลก ได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นทิศตะวันตก แปลว่า มีคนไทยที่ไหน ก็มีวัดเกิดขึ้นที่นั่น ข้าพเจ้าเชื่อว่าโลกที่กำลังตึงเครียดทางความเชื่อจนมองไม่เห็นสันติภาพ จะได้พึ่งบุญบารมีคำสอนในพระพุทธศาสนา เสียงระเบิดยิ่งดัง เสียงระฆังพุทธะยิ่งกังวาน

จากประมวลความสามารถและคุณธรรมอื่นๆ ข้าพเจ้าถือว่า ท่านเป็นเพชรเม็ดงามของชาวอุบลราชธานี จึงขอมอบรางวัลเกียรติยศทางความคิดแก่ท่านในโอกาสครบ 100 ปี ว่า “วชิรบงกช-ดอกบัวเพชร” เพื่อจะได้เป็นแบบอย่าง เป็นแรงบันดาลใจของภิกษุสามเณร อุบาสก อนุศาสนาจารย์ และองค์กรเผยแผ่พระพุทธศาสนา สืบไป